CMCภาพอสังหาครึ่งหลังสดใสรอโอน70%-ผุดโครงการใหม่
CMC ส่งสัญญาณอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีหลังสดใส จ่อรับทรัพย์โครงการ The Cuvee Tiwanon และ Bangkok Horizon lite @ Phetkasem 48 แย้มมียอดรอโอนแล้ว60-70% ปักธงรายได้ปีนี้ 2.4 พันล้านบาท เร่งดันงบพลิกบวก จากไตรมาสแรกขาดทุน 1.72 ล้านบาท
นพ.วิเชียร แพทยานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ CMC เปิดเผยว่า บริษัทประเมินทิศทางอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีหลังปี 2563 จะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะผู้บริโภคต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยบริษัทเตรียมเปิดโครงการใหม่ครึ่งปีหลังอีก 2 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการขนาดไม่ใหญ่ และเน้นพัฒนาโครงการในทำเลที่บริษัทเชี่ยวชาญ
ขณะที่ในปีนี้บริษัทมีโครงการพร้อมกับรู้คือโครงการ The Cuvee Tiwanonและ Bangkok Horizon lite @ Phetkasem 48 ซึ่งมียอดขายรอโอนแล้ว 60-70% โดยบริษัทมีต้นทุนในการขายในระดับดี คาดจะช่วยเสริมมาร์จิ้นของบริษัทให้อยู่ในเป้าหมายได้
ที่ดินรอพัฒนาเพียบ
ส่วนโครงการขนาดใหญ่บริษัทเลื่อนเปิดโครงการออกไปจนกว่าสถานการณ์ภายในประเทศจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยจะทบทวน และประชุมแผนทุกไตรมาส นอกจากนี้บริษัทมีแผนจะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบเพิ่มขึ้น จากเดิมเน้นพัฒนาโครงการแนวสูง หรืออาคารชุดเป็นหลักกว่า 90% เนื่องจากบริษัทมีที่ดินรอพัฒนาหลายแปลง
“ทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีหลัง คาดดีกว่าครึ่งปีแรก ภาพรวมผู้บริโภคต้องการที่อยู่อาศัยก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น เราเองยังเดินหน้าที่จะเปิดโครงการใหม่อีก 2 โครงการ เพื่อทำรายได้ให้เป็นไปตามเป้า” นพ.วิเชียรกล่าว
ส่วนกลยุทธ์ต่อจากนี้ บริษัทจะดำเนินการทางการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก และได้ผลตอบรับดี แต่ยังไม่ส่งผลในแง่รายได้มากนัก เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว สำหรับแผนการรับรู้รายได้ปีนี้บริษัทปรับเป้ารายได้ลดลงเหลือ 2.4 พันล้านบาท จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 2.7 พันล้านบาท อนึ่ง 3 เดือนแรกบริษัทมีรายได้แล้ว 274.94 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทย่อยภายใต้ บริษัท ไทยสยามนคร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จะพยายามรับงานก่อสร้างที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ทั้งรัฐวิสาหกิจและงานราชการเพื่อให้รายได้ครอบคลุมและเป็นไปตามเป้าหมาย และจะพยายามผลักดันผลประกอบการให้กลับมาเป็นบวก แม้ในไตรมาส 1/2563 บริษัทจะมีผลขาดทุน 1.72 ล้านบาท
คุมต้นทุนค่าใช้จ่าย
ขณะเดียวกันในแง่ขององค์กร บริษัทจะควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด โดยการลดการใช้สื่อที่ไม่จำเป็นออกไป และคุมค่าใช้จ่ายที่เกินจำเป็น นอกจากนี้บริษัทได้เจรจากับผู้รับเหมา เพื่อให้ได้ราคาและประโยชน์ที่เหมาะสมทั้ง 2 ฝ่าย ประกอบกับบริษัทจะบริหารเงินสดในมือ เพื่อให้มีสภาพคล่องต่อการดำเนินธุรกิจ สำหรับสิ้นปี 2563 บริษัทมีกระแสเงินสดในมืออยู่ราว 62 ล้านบาท
นพ.วิเชียร กล่าวก่อนหน้านี้ว่า บริษัทประเมินผลกระทบดังกล่าวในระยะสั้นจะกระทบไปถึงไตรมาส 3/2563 ระยะกลางคือประมาณ 2 ปี และระยะยาวอาจจะกระทบถึง 3-5 ปี บริษัทจึงมีแผนปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ โดยจะเน้นระบายสต๊อกสินค้า ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าพร้อมโอนอยู่ที่ 2 พันล้านบาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์ทันหุ้น