เร่งรถไฟ 3 สนามบิน มี.ค. 65 ส่งมอบพื้นที่เปิดไซต์สร้างเมกะโปรเจ็กต์
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานการประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 รับทราบความก้าวหน้าการส่งมอบพื้นที่ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ส่งมอบ พื้นที่ในช่วงสนามบินสุวรรณภูมิถึง สนามบินอู่ตะเภาให้กับเอกชนคู่สัญญา ระยะทาง 170 กม. เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลการรื้อย้ายทรัพย์สิน ร.ฟ.ท. และการส่งมอบพื้นที่พร้อมส่งมอบโครงการระหว่าง ร.ฟ.ท.กับ บจ.เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) เอกชนคู่สัญญา ส่วนการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ การโยกย้ายผู้บุกรุก และงานรื้อย้ายสาธารณูปโภค หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่กำหนดไว้
“สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ก.ค. 65
ด้านแหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งมอบพื้นที่โครงการในช่วงแรกคือ ช่วงสุวรรณภูมิอู่ตะเภา ระยะทาง 160 กม. คิดเป็นพื้นที่ต้องส่งมอบทั้งหมด 3,513 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา ยังยืนยันที่จะส่งมอบ พื้นที่ให้กับกลุ่ม ซี.พี. ภายในเดือน มี.ค. 2565 โดยความคืบหน้า ณ วันที่ 24 ต.ค. 2564 มีพื้นที่พร้อมส่งมอบให้แล้ว 84.24% หรือประมาณ 2,594 ไร่ 46.4 ตารางวา เหลือการเคลียร์พื้นที่ตาม พ.ร.ฎ.เวนคืนอีก 919 ไร่ 56.6 ตารางวา แบ่งเป็นที่ดินของหน่วยงานเอกชน 840 ไร่ 2 งาน 88.1 ตารางวา และที่ดินของหน่วยงานราชการ 78 ไร่ 1 งาน 68.5 ตารางวา ส่วนมากยังติดปัญหาการรอ ผู้ถูกเวนคืนมารับเงินค่าเวนคืนที่วางทรัพย์ ไว้ที่ ธ.กรุงไทย และที่กรมบังคับคดี ในพื้นที่อีก 108 สัญญา คิดเป็นพื้นที่รวม 66 ไร่ 1 งาน 78.2 ตารางวา
โดยแผนงานเร่งรัดการเคลียร์ประเด็นการวางทรัพย์จะเร่งทำให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. 2565 โดยได้วางทรัพย์ไว้ที่ ธ.กรุงไทย และกรมบังคับคดีในพื้นที่ครบแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 คาดว่า จะทยอยเข้าครอบครองพื้นที่จนครบภายในเดือน ม.ค. 2565 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 9 ก.พ. 2565
ส่วนการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคพบว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีสาธารณูปโภค ที่ต้องรื้อย้ายจำนวน 518 งาน 18 หน่วยงาน โดยยังเหลือเนื้องานที่ยังดำเนินการไม่เสร็จ 107 งาน จาก 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย การประปาส่วนภูมิภาค 20 งาน, การไฟฟ้านครหลวง 2 งาน, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 29 งาน, กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ 9 งาน, บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำ ภาคตะวันออก 1 งาน, สายสื่อสารที่ติดตั้งสายกับเสาไฟฟ้า 25 งาน, เขตลาดกระบัง 1 งาน, เมืองพัทยา 1 งาน, ประชาชนใช้ไฟฟ้า 15 งาน, กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ 2 งาน และการประปานครหลวง 2 งาน ทั้งหมดนี้ คาดว่าจะรื้อย้ายแล้วเสร็จทั้งหมด ในเดือน ก.ค. 2565
ที่เหลือจบปี’66
ส่วนการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อดอนเมือง ระยะทาง 10 กม. ซึ่งโครงการออกแบบเป็นโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ขณะนี้ตามแผนจะส่งมอบพื้นที่ในเดือน มี.ค. 2565 โดยได้ข้อสรุปแล้วว่าจะให้กลุ่ม ซี.พี.ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างร่วมดังกล่าว ใช้เงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่ง งบประมาณจะใช้งบประมาณที่รัฐอุดหนุนจำนวน 117,227 ล้านบาท โดยตอนนี้ทางการจีนได้ออกแบบเบื้องต้นเสร็จแล้ว และจะต้องมีการแก้ไขสัญญาในส่วนของโครงการฝั่งไทย-จีน ด้วยการขอแก้มติ ครม.เดิม เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว จะเป็นขั้นตอนของการร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อลงนามกัน คาดว่าจะสามารถลงนามได้ไม่เกินกลางปี 2565
ขณะที่บางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 12 กม. ยังคงเป้าหมายการส่งหมายพื้นที่ส่วนนี้ในช่วงเดือน ต.ค. 2566 โดยอยู่ระหว่างรอรื้อย้ายสาธารณูปโภค 2 จุดคือ การรื้อย้ายระบบระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองสามเสน ของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และท่อขนส่งน้ำมันของ บจ.ขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT)1
ในส่วนของ กทม.จะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามขั้นตอน คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างเพื่อทำการรื้อย้ายภายในเดือน ม.ค. 2565 หลังจากนั้นจะใช้เวลาดำเนินการรื้อย้ายอีก 11 เดือน จะแล้วเสร็จประมาณเดือน พ.ค. 2566 ขณะที่การรื้อย้ายท่อน้ำมันของ FPT อยู่ระหว่างรอพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) น่าจะได้รับการเห็นชอบในเดือน ม.ค. 2565 โดยทาง FPT ขอให้ทำไปพร้อมกับการก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งบริษัทพร้อมจ่ายค่างานเพิ่มเติมให้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ