เคาะตั๋วรถไฟสีแดงแสนถูก 12-42 บ.

27 มี.ค. 2564 508 0

          นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังทดสอบเดินรถเสมือนจริงโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ว่า จะมีการทดสอบ 3 เดือน และจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามานั่งฟรีได้ในเดือน ก.ค. โดยจะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานเปิด ก่อนที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เก็บค่าโดยสารในเดือน พ.ย. โดยค่าโดยสารจะเริ่มต้นเฉลี่ยช่วงละ 12-42 บาท/คน/เที่ยว และหากผู้โดยสารจะเดินทางข้ามช่วงจะไม่มีค่าแรกเข้าที่ 12 บาท คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการถึง 80,000 คน/วัน ซึ่งภายหลังเปิดให้บริการจะมีการประเมินการให้บริการทุกๆเดือน

          อย่างไรก็ตาม ค่าโดยสารดังกล่าวจะควบคุมให้อยู่ที่ 12-42 บาท ในระยะ 1 ปีแรก ที่เปิดให้บริการ หลังจากนั้นเมื่อ รฟท.มีการเปิดพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ทั้งภายในอาคารผู้โดยสารกว่า 51,465 ตร.ม. คิดเป็น 17.3% ของพื้นที่ทั้งหมดที่ 298,200 ตร.ม. และเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน PPP เพื่อตั้งโรงไฟฟ้า ที่บริเวณพื้นที่บางซื่อ ทาง รฟท.จะนำรายได้จากส่วนของเชิงพาณิชย์มาอุดหนุนค่าโดยสารเพื่อให้เก็บค่าโดยสารถูกลง

          “ค่าโดยสารที่ รฟท.จัดเก็บ 12-42 บาทนั้น คิดจากอัตราเฉลี่ยที่ 1.01 บาท/กม. และการจัดเก็บค่าโดยสารจะเป็นค่าโดยสารในแต่ละช่วง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน, ช่วงบางซื่อ-รังสิต ไม่ได้เป็นค่าโดยสารรวมที่วิ่งให้บริการจากตลิ่งชัน-รังสิต อย่างไรก็ตาม เฉลี่ยแล้วเมื่อใช้บริการจริงค่าโดยสารก็สูงถึง 42 บาท เช่น บางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเฉลี่ยอยู่ที่ 12-27 บาท บางซื่อ-รังสิต และหากผู้โดยสารที่เดินทางบ่อยสามารถซื้อเป็นบัตรรายเดือน แบ่งเป็น 20 เที่ยว 700 บาท หรือเฉลี่ย 35 บาท/เที่ยว, บัตรนักเรียน แบ่งเป็น บัตรเด็กที่อายุไม่เกิน 14 ปี และมีความสูงไม่เกิน 91-120 ซม. ลด 50% จากปกติ, บัตรผู้สูงอายุ ได้รับส่วนลด 50%”

          นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า ส่วนการลดเที่ยววิ่งรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ยืนยันว่าในเดือน พ.ย.เป็นต้นไป จะยุติให้บริการขบวนรถไฟสายยาวที่จะเข้าหัวลำโพงทุกขบวนจากเดิมมี 118 ขบวน/วัน จะเหลือเฉพาะรถไฟสายชานเมืองเพียง 22 ขบวน/วันเท่านั้น ส่วนนโยบายการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สถานีกลางบางซื่อ นอกจากพัฒนาพื้นที่ในอาคารสถานีกลางบางซื่อแล้ว รฟท.ยังมีแผนที่จะนำพื้นที่ 2,000 ไร่บริเวณรอบสถานีกลางจำนวน 9 แปลง มาพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ โดย รฟท.จะประกาศเชิญชวนพัฒนาในพื้นที่ 5 แปลงก่อน คือ แปลง A E G D B ส่วนอีก 4 แปลงที่เหลือ คือ แปลง C เป็นที่ตั้งของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.), แปลง F ปัจจุบันเป็นโรงซ่อมรถจักร บางซื่อ, แปลง I ปัจจุบันเป็นโรงซ่อมรถไฟฟ้า และแปลง H เป็นโรงซ่อมรถโดยสาร

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย