อสังหาฯอ่วมพิษโควิดขาดแรงงาน
3สมาคมอสังหาฯ ผนึก สภาหอการค้าไทย หารือ “คลัง” เร่งมาตรการช่วยเหลือ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ชี้วิกฤติโควิดกระทบแรงงานก่อสร้างขาดแคลนหนัก แข่งชิงตัวต่างด้าวดันค่าแรงทะลุ 400 บาทต่อวัน กระอักต้นทุนพุ่ง จับมือ 3 องค์กรอสังหาฯ-สภาหอการค้าไทย หารือ “คลัง” ออกมาตรการช่วยเหลือ เร่งด่วน พร้อมเดินหน้าจัด 2 บิ๊กอีเวนท์ หวังปลุกตลาดโต 5%
นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานก่อสร้างตั้งแต่ปี 2563 หายไป 10% ทำให้จำนวนแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในไทย มีจำนวนลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดการ แย่งชิงตัวแรงงานด้วยการเพิ่มค่าแรงให้กับแรงงานจากปกติวันละ 331 บาท เพิ่มเป็น 400 บาทต่อวัน กระทบต้นทุนในส่วนค่าแรงเพิ่มขึ้นมาก
สำหรับ ต้นทุนค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 20-25% ของต้นทุนดำเนินการ ต้นทุน วัสดุคิดเป็นสัดส่วน 75-80% ฉะนั้น ตราบใดที่ต้นทุนวัสดุยังไม่ขึ้นราคา ผู้ประกอบการยังคงรับมือได้ และยังไม่ปรับราคาค่าก่อสร้างขึ้น
“ภาวะปัจจุบัน กำลังซื้อซบเซามากหากปรับราคาขึ้นจะส่งผลกระทบแน่นอน เพราะคนไม่มีกำลังซื้อพอที่จะสร้างบ้านในราคาที่แพงขึ้น จะเห็นว่าบ้านระดับราคาตั้งแต่ 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของตลาดชะลอการสร้างบ้านออกไป เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์ รายได้ลดลง ขณะที่กลุ่มสร้างบ้านระดับราคา 4-5 ล้านบาท ขึ้นไปยังพอมีกำลังซื้อ ส่วนใหญ่จะเป็น เจ้าของกิจการที่มีเงินออม แต่ก็ต้อง ระมัดระวัง”
ในเบื้องต้นระหว่างที่วัสดุก่อสร้างต่างๆ ยังไม่ปรับราคาขึ้น ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านหรือผู้ประกอบการอสังหาฯ จะต้องบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้นด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานในแต่ละส่วนงานใช้วัสดุสำเร็จรูปเป็นทางเลือกมากขึ้นเพื่อลดการใช้แรงงานคน
นายวรวุฒิ กล่าวว่า เดือน ก.พ.นี้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สภาหอการค้า แห่งประเทศไทย และ 3 สมาคมอสังหาฯ จะเข้าพบ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือถึงมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจอสังหาฯและประชาชน ที่ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง จากที่ผ่านมา กลุ่ม “บ้านสร้างเอง” ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาฯ ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดจากมาตรการของรัฐซึ่งจำกัดเฉพาะบ้านใหม่ และ บ้านมือสองเท่านั้น
“อยากให้รัฐบาลเพิ่มนิยามการดูแลช่วยเหลือให้ครอบคลุมมายังการปลูกสร้างบ้านเองด้วยเพราะเป็นตลาดที่มีความเกี่ยวเนื่องกิจการหลายแขนง มูลค่ามหาศาลถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี กระจายตามภูมิภาคต่างๆ ขณะแนวโน้มการปลูกสร้างบ้านเองของผู้บริโภค มีระดับราคาสูงขึ้น หากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ข้อสรุป หรือ มีการออกมาตรการมาสนับสนุน เชื่อว่าจะเป็นอีกแรงกระตุ้นการตัดสินใจของประชาชนผู้บริโภค”
โดยสมาคมฯ นำเสนอแนวทาง ประกอบด้วย 1.ขอลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และจด จำนอง 0.01% สำหรับมูลค่า 5 ล้านบาทแรก 2.สินเชื่อ (soft loan) สำหรับที่อยู่อาศัย รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่านการดำเนินการของธนาคารรัฐ 3.ยกเลิกมาตรการแอลทีวี และ 4.สานต่อโครงการบ้านดีมีดาวน์
ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัส โควิดรอบสอง เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะควบคุมได้ ประกอบกับเริ่มมีความชัดเจนเรื่องวัคซีนเชื่อว่ากลางปี 2564 สถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลาย โดยสมาคมฯ เตรียมจัดงานแบบออฟไลน์และการตลาดแบบออนไลน์ 2 งานใหญ่ “งานรับสร้างบ้าน Focus 2021” ในเดือน มี.ค. และ “งานรับสร้างบ้าน และวัสดุ Expo 2021” ในเดือน ต.ค. ที่ศูนย์การแสดงสินค้าเมืองทองธานี
พร้อมกันนี้ ได้จัดทำ “มาตรฐานกลางการก่อสร้าง” ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความมั่นใจ ให้ผู้มาใช้บริการของสมาชิก สมาคมฯ รวมทั้งโครงการ “แบบบ้านประหยัดพลังงาน” หรือ “บ้านเบอร์ 5” ซึ่งร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน สำหรับตลาดรวมธุรกิจรับสร้างบ้านปี 2564 คาดการณ์ขยายตัว 5% มีมูลค่า 12,000-12,500 ล้านบาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ