โลกที่ไม่เหมือนเดิมหลังโควิด และ 8 เทรนด์ใหญ่ไทยพร้อมรับหรือยัง

22 พ.ย. 2564 511 0

       นักเศรษฐศาสตร์จาก TDRI เตือนไทยเตรียมพร้อมรับมือ 8 เทรนด์ใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการลงทุนหรือยัง ปีนี้เริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแล้วนำโดยสหรัฐและจีน แต่เศรษฐกิจไทยคาดต้องรออีกสองปีก่อน GDP จะกลับมาขยายตัวที่ระดับก่อนเกิดโควิด

        ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวใน งาน SET in the City  2021 เทรนด์ชีวิต เทรนด์ลงทุน เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.) ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจ การลงทุน ความท้าทาย ในปี 2022” ว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้วในปีนี้ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และจีน เห็นได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่เติบโตราว 6% จากปกติเติบโตราว 2% ขณะที่จีนเติบโตต่อเนื่อง 8%
       อย่างไรก็ตามมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง โดยโอกาสคือความสามารถในการส่งออกสินค้าได้มากขึ้น และการลงทุนจากต่างชาติที่จะเข้ามามากขึ้นด้วย แต่ความเสี่ยงก็คือเรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาน้ำมัน หรือราคาวัตถุดิบต่างๆ  ซึ่งมองว่า ราคาดังกล่าวจะไม่กลับลงมาสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว รวมถึงค่าระวางเรือ ที่อยู่ในระดับสูง จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์
      ขณะเดียวกัน ยังต้องจับตาดูเรื่องของค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ย หลังเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัว ทำให้สหรัฐ จะเริ่มดำเนินการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงกลางปีหน้า (2565) ซึ่งจะส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น และหลังจากนั้น สหรัฐก็จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 โดยมีประมาณการณ์ว่า สหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ขณะเดียวกันทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็คงจะดูว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้มากแค่ไหน และน่าจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 เช่นเดียวกัน
       เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลให้เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง โดยคาดการณ์ค่าเงินบาทในปีหน้า (2565) จะแข็งค่าขึ้นไม่มาก อยู่ที่ 32.00 บาท/ดอลลาร์ และเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาคค่าเงินบาทจะอ่อนค่าที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออก แต่การนำเข้าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำมันในปี 2565 จะอยู่ที่ 72 ดอลลาร์/บาร์เรล อ่อนตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีนี้ที่อยู่ระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล
 คาด GDP ไทยเด้งกลับสู่ระดับก่อนโควิดในปี 66
สำหรับเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดยมองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) จะสามารถกลับไปสู่ระดับก่อนช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ในปี 2566 หรือคาดเติบโต 3.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เติบโต 2.3% โดยจะมาจากการส่งออกที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้คาดว่าการส่งออกจะเติบโตราว 15% และปี 2565 คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เช่นกัน ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในประเทศยังคงฟื้นตัวได้ช้า จากการที่โควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ แต่คาดว่าการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ในปี 2566
ส่วนภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวหลักยังมาจากต่างประเทศ และการเดินทางไปมายังไม่ค่อยมีความสะดวก รวมถึงนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุด ประมาณ 30% ของไทย ก็ยังไม่กลับมาจนถึงปลายปีหน้า จากนโยบายควบคุมอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ของจีน ทำให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวราว 39 ล้านคน หรือคิดเป็น 12% ของ GDP ได้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป แต่การท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นตัวได้ก่อน คาดว่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ในปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 การดำเนินาตรการการคลังของภาครัฐในปีหน้า (2565) น่าจะยังคงเน้นการเยียวยาและกระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านการให้เงิน ไม่ว่าจะเป็น คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, การให้เงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น ส่วนการสนับสนุนวงเงินให้กับหมู่บ้าน ชุมชน หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก SME ยังมีน้อย
โลกที่ไม่เหมือนเดิม และ 8 เทรนด์ใหญ่ที่จะส่งผลกระทบ

ดร.กิริฎา กล่าวว่า หลังจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 แน่นอนว่าโลกคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ซึ่งภาพใหญ่ที่จะเข้ามากระทบต่อธุรกิจและการลงทุน ประกอบด้วย

1.

สงครามเทคโนโลยีและสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐและจีน

ยังคงดำเนินต่อไป และอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากจะมีการกีดกันเทคโนโลยีของจีนค่อนข้างมาก ห้ามธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐในการผลิตชิ้นส่วนสำหรับ Semiconductor ขายชิ้นส่วนให้โรงงานผลิตสินค้าในจีน ส่งผลให้ซัพพลายขาดตลาด เป็นต้น

2.

เทคโนโลยีที่กำลังมาในอีก 10 ปีข้างหน้า

ได้แก่ AI, QUANTUM COMPUTING, Regenerative Medicine, Autonomous CARS, Blockchain, Cyber Security, VR, Lithium Battery, Drones, Conductive polymers ซึ่งจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ จีนเป็นผู้นำอยู่ ทำให้สหรัฐน่าจะยังไม่หยุดที่จะยับยั้งการขยายตัวของเทคโนโลยีจีน โดยไทยถือเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี อาจจะต้องซื้อเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศ และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มีผลดีจากการที่ทั้งสองประเทศยักษ์ใหญ่ทำสงครามเทคโนโลยีกัน ทำให้บริษัทต่างๆ ที่อยู่ในจีน กำลังจะย้ายออกจากจีนเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงเศรษฐกิจจีนก็จะเติบโตช้าลงด้วย จากนโยบายที่อยากจะให้บริษัทต่างๆ ของจีนเติบโตไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่ๆ อย่างเดียว และการขาดแคลนพลังงานด้วย ทำให้หลายๆ บริษัท หลายๆ โรงงานในจีนต้องปิดโรงงาน ส่งผลให้มีซัพพลายออกมาน้อยลง จึงมีการกระจายความเสี่ยงออกจากประเทศจีนมากขึ้น หรือย้ายมายังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม และไทยเอง ที่จะได้รับอานิงสงส์เป็นอันดับสอง โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนของประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่เข้ามาในธุรกิจยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น 

3

.Digitalization จะเร่งขึ้น

ทั้ง Online Commerce/service, From-home Economy, Telemedicine

4.

Digital Asset ได้รับการยอมรับมากขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว

เช่น การระดมทุนในรูปดิจิทัล, สกุลเงินดิจิทัล เป็นต้น

5.

De-Carbonization จะเปลี่ยนรูปแบบการผลิต

ซึ่งในโลกอนาคต โดยเฉพาะโลกตะวันตกต้องการที่จะให้โลกมีการปล่อยคาร์บอนลดลง จากความต้องการสินค้าชีวภาพในโลกเพิ่มขึ้น

6.

เทรนด์ของ ESG

(กรอบการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ Environmental, Social, and Governance) ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น 

7.

สัดส่วนของประชากรสูงวัยในโลกเพิ่มขึ้น

โดยไทยเองก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยในปี 65 อย่างเต็มรูปแบบ หรือมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 20% ของประชากรของประเทศ และยังมีอีกหลายประเทศในโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้เป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะปรับสินค้าและบริการของไทยให้เข้ากับเทรนด์ดังกล่าว ขณะที่ภาครัฐเองก็น่าจะเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการในสภาวะที่จะมีแรงงานน้อยลง

8.

ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หลังวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และจะตามมาด้วยความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย