แนะอสังหาฯประคองตัวสู้วิกฤต

04 เม.ย. 2563 1,045 0

          เจรจาเจ้าหนี้ปรับแผนจ่ายเงินกู้-ดบ.

          คาดทั้งปียอดโอนทั่วประเทศวูบ17%

          แนะผู้ประกอบการอสังหาฯประคองตัว เจรจาหนี้ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เผยไตรมาสแรกมีคอนโดเปิดใหม่แค่ 16 โครงการไม่ถึง 6 พันยูนิตต่ำสุดรอบ 8 ปี ด้านศูนย์ข้อมูลคาดปีนี้ทั่วประเทศโอนกรรมสิทธิ์ได้กว่า 3 แสนยูนิตต่ำสุดรอบ 5 ปี

          นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการกลุ่มกานดา พร็อพเพอร์ตี้ และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยถึงสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ว่า เชื่อว่าหลายฝ่ายได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะหยุดลงเมื่อไหร่ ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยในส่วนของกานดานั้นได้มีการดาวน์ไซต์โครงการลง และก่อสร้าง ตอกเข็มตามจำนวนที่มีการจองหรือขายได้ ขณะเดียวกันก็ลดการใช้เอาต์ซอร์ตลง โดยเน้นให้พนักงานทำงานได้หลากหลายขึ้นเพื่อประคองตัวและตั้งเป้าจะไม่ปลดพนักงาน เพราะการสร้างคนเป็นเรื่องสำคัญกว่าจะสร้างได้ต้องใช้เวลา นอกจากนี้ บริษัทได้มีการไปเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อปรับหนี้หรือยืดหนี้ออกไป หรือมีการจ่ายดอกเบี้ยหยุดจ่ายเงินต้นหรือจ่ายเงินต้นและไม่จ่ายดอกเบี้ย หรือบางโครงการชะลอการจ่ายออกไปจ่ายทีเดียวเมื่อมีการโอน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินเป็นอย่างดี ดังนั้นหากผู้ประกอบการรายใดสนใจก็สามารถดำเนินการเรื่องเหล่านี้ได้

          “หากเหตุการณ์ยืดเยื้อเชื่อว่ารอบนี้จะหนักกว่าปี 2540 แต่รัฐบาลมีทุนสำรองค่อนข้างมากสามารถนำมาจัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ส่วนไตรมาสแรกปีนี้ยอดขายยังพอไปได้โดยในส่วนของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 20% เนื่องจากมีการเปิดตัวโครงการใหม่แต่ยอดโอนลดลง 20% เช่นกัน ส่วนทั้งตลาดขณะนี้ยังไม่เห็นตัวเลข แต่ที่แน่ๆ คือซัพพลายที่อยู่อาศัยยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก บางแห่งอาจโอเวอร์ซัพพลาย” นายอิสระกล่าว

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า คาดว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปีนี้จะอยู่ ที่ประมาณ 312,000-333,000 ยูนิต ลดลง 11.1 -16.7% และมูลค่าลดลงประมาณ 726,000-755,000 ล้านบาท ลดลง 13.8 -17.1% ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อนหน้า และเชื่อว่าจากแนวทางเชิงนโยบายของรัฐบาลที่จะใช้ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นมาโดยเร็วในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถสร้างงานได้จำนวนมากแล้ว ทำให้เชื่อว่ารัฐบาลจะออกมาตรการใหม่ๆ มา กระตุ้นเศรษฐกิจออกมาหลังจากการแพร่ระบาดในภาวะวิกฤตผ่านไป

          นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า คอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ไตรมาส 1 ปี พ.ศ.2563 พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ชะลอการเปิดขายโครงการใหม่ เน้นนำโครงการเก่าที่สร้างแล้วเสร็จเหลือขายมาลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดโอนกรรมสิทธิ์และเพื่อการรับรู้รายได้ และบางรายมีการลดราคามากกว่า 30% เพื่อระบายสต๊อกคงค้างในตลาด และการที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจึงเห็นว่าผู้ประกอบการควรยืดเวลาการโอนออกไป 3-6 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลุกค้าและป้องกันไม่ให้เกิดการทิ้งดาวน์ ส่วนโครงการที่เปิดขายใหม่ในไตรมาสแรกปีนี้มี 16 โครงการ 5,880 ยูนิต มูลค่า 19,540 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 8 ปี หรือ 32 ไตรมาสนับจากปี 2554 และอัตราขายเฉลี่ยที่ 31% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี หรือ 40 ไตรมาส

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย