เศรษฐา รับข้อเสนอกระตุ้นศก.ผู้ประกอบการอสังหาฯ สั่งตั้งคณะทำงานพิจารณา
เศรษฐา รับข้อเสนอกระตุ้น ศก.ผู้ประกอบการอสังหาฯ สั่งตั้งคณะทำงานพิจารณา
เมื่อวันที่ 10 มกราคม นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (10 ม.ค.) ทาง 7 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย คณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร, สมาคมอาคารชุดไทย, สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย, สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์, สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้เข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อยื่นข้อเสนอกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอและให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ร่วมกันต่อไป
“สถานการณ์ตลาดอสังหาฯชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ประกอบกับมีวิกฤตโควิด ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ปัจจุบันยังไมฟื้นตัวเต็มที่ อีกทั้งค่าครองชีพ ต้นทุนสินค้า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง การพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินมีความเข้มงวด ส่งผลต่อกำลังซื้อในตลาดขณะนี้ โดยเฉพาะการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริง ไม่ใช่การเก็งกำไร ทั้ง 7 สมาคมจึงยื่นข้อเสนอให้นายกฯช่วยพิจารณา เพื่อเป็นการช่วยฟื้นฟูตลาดอสังหาฯและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย” นายอิสระกล่าว
นายอิสระกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอมีทั้งหมด 8 ข้อ ประกอบด้วย
1.การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 1% และค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ซึ่งมีการต่ออายุไปแล้วถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยขอให้ปรับหลักเกณฑ์มูลค่าการซื้อที่อยู่อาศัย จากราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 5 ล้านบาทหรือให้สิทธิการลดหย่อน 3 ล้านบาทแรก เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้มีกำลังซื้อที่สูงกว่า 3 ล้านบาท และให้มาตรการดังกล่าวใช้ได้กับบ้านสร้างใหม่ บ้านมือสอง และบ้านปลูกสร้างเอง
2.ขอสนับสนุนให้มีการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง ในอัตราลดหย่อนล้านละ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ลดภาะของผู้ที่ต้องการปลูกบ้านบนที่ดินของตนเองและกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาคส่วนที่เชื่อมโยงกับธุรกิจรับสร้างบ้าน อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้รับสร้างบ้านจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้นอีกด้วย
3.สนับสนุนการมีบ้านหลังแรกของผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง โดยพิจารณาดอกเบี้ยอัตราพิเศษหรือซอฟต์โลน 3% เป็นเวลา 5 ปีแรก จากสถาบันการเงินของรัฐ, ยกเว้นค่าโอนและจำจำนองบ้านหลักแรกราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท, สนับสนุนเงินดาวน์ผู้ซื้อบ้านหลักแรกจำนวน 100,000 บาท, ขอให้บีโอไอทบทวนเกณฑ์ใหม่ในการส่งเสริมผู้ประกอบการพัฒนาบ้านและคอนโดมิเนียมในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และเป็นเกณฑ์เดียวกันทั้งประเทศ
4.ขอให้ช่วยประสานกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง แก้ประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่องกำหนดนโยบายการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและพาณิชยกรรม โดยขอให้ลดขนาดที่ดินของโครงการจัดสรรให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ขนาดครอบครัว ราคาที่ดิน ค่าก่อสร้าง ให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้วยการลดขนาดบ้านเดี่ยวจากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 50 ตารางวา เป็นไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา บ้านแฝดจากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา เป็นไม่ต่ำกว่า 28 ตารางวา และทาวน์เฮาส์ จาก เนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 16 ตารางวา เป็นไม่ต่ำกว่า 14 ตารางวา
นายอิสระกล่าวว่า 5.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น ขอให้ลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 50% เป็นระยะเวลา 1 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว, แก้ไขอัตราที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จของโครงการที่ยังไม่ได้ขาย และการบริการสาธารณะในโครงการจัดสรร เช่น สโมสร สระว่ายน้ำ คลับเฮาส์ จากกำหนดให้เป็นประเภทอื่นๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย เป็นต้น
6.พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องการถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ขยายระยะเวลาการเช่าจาก 30 ปี เป็น 60 ปีโดยกำหนดการเช่าให้เป็นทรัพย์สิทธิ, ทบทวนหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ที่เกี่ยวกับการที่ชาวต่างชาติสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้, ให้วีซ่าระยะยาวต่างชาติ 10 ปี ที่ซื้อที่อยู่อาศัย 10 ล้านบาทขึ้นไปและมิดเทอมวีซ่า 5 ปี ที่ซื้อที่อยู่อาศัย 5 ล้านบาทขึ้นไป
7.ให้ช่วยประสานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยกเลิกมาตรการ LTV ในปี 2567-2568 เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ และ
8.ขอให้ทบทวนความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในกระบวนการขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของกลุ่มธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม โดยขอให้ผู้ประกอบการที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน สามารถยื่นและดำเนินการจนครบขั้นตอนในการได้รับอนุมัติอีไอเอ ในระหว่างที่ยังไม่ได้โอนที่ดินได้ เพราะกระบวนการอนุมัติมีความซับซ้อน ผูกพันกับหลายภาคส่วน ทำให้มีความเสี่ยงสูงมากในการทำธุรกิจ หากไม่ผ่านอีไอเอ จนทำให้ผู้ประกอบการเสียหายมากจนถึงขั้นล้มละลาย เพราะรับโอนที่ดินที่ราคาสูงมากมาแล้วแต่ไม่สามารถพัฒนาโครงการได้
ที่มา: มติชนออนไลน์