เวิลด์แบงก์หั่นจีดีพีไทย เหลือ 2.9% รับอานิสงส์สงครามรัสเซีย

30 มิ.ย. 2565 545 0

          เวิลด์แบงก์ หั่นจีดีพีไทยปีนี้แตะ 2.9% จาก 3.9% รับผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กดดันเศรษฐกิจไทยจากราคาน้ำมัน-สินค้าพุ่ง ขณะที่เงินเฟ้อปีนี้เพิ่มสูงกว่า 5.2% อย่างไรก็ตาม ยังได้อานิสงส์เปิดประเทศรับต่างชาติเที่ยวไทย 6 ล้านคน

          นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ออกรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับใหม่ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 2.9% ซึ่งปรับลดลง 1% จากคาดเดิมเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ที่ 3.9% โดยไทยได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพลังงานสูงและราคาสินค้าแพง กดดันเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นมาก และยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนไม่ฟื้นตัวจากการปิดเมือง รวมทั้งความเสี่ยงจากโควิดที่อาจกลับมาระบาดได้อีกครั้ง ส่วนปัจจัยสนับสนุนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับเข้ามาได้ 6 ล้านคนในปีนี้

          ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งกระทบต่อไทย มองว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปีจะได้รับแรงกระตุ้น และกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดโควิดในไตรมาสที่ 4/2565 จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลง และการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคนในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคนในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน หรือ 60% ของระดับก่อนการระบาดภายในปี 2567 จึงคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.3% ในปี 2566 และขยายตัว 3.9% ในปี 2567

          ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 5.2% ในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 14 ปี ตลอดปี 2565 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.3% การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัว 4.1% ในปี 2565 ชะลอตัวลงจากผลของปี 2564 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 18.8% สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์โลกที่ลดลง และปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยืดเยื้อ

          นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า สงครามในยูเครนอาจทำให้ปัญหาความยากจนในประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้น จากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น โดยราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้น 10% จะทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 1.4% และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 10% จะทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 0.2% ดังนั้นนโยบายการคลังจะช่วยคนที่ได้รับผลกระทบได้แบบเฉพาะเจาะจง เช่น คนจน คนสูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง จะต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมมากขึ้น คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องคำนึงถึงการทำนโยบายที่ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นควรทยอยขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป

          นายไฆเม ฟรีอัส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า เวิลด์แบงก์ สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย ซึ่งการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถเพิ่มผลผลิตและการจ้างงาน โดยจะทำให้จีดีพี เพิ่มขึ้น 1.2%  และช่วยให้เกิดการจ้างงาน 160,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2573 หรือคิดเป็น 0.3% ของการจ้างงานทั้งหมด รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 5% ภายในปี 2573

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย