อสังหาฯ ตื่นตัวรับมือมลพิษ - PM2.5

14 มี.ค. 2566 210 0

 

          

          อสังหาริมทรัพย์

          สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 สูงในพื้นที่กทม.ปริมณฑลนั้น เกิดขึ้นมาหลายปีต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวตั้งแต่เดือน ธ.ค.-เม.ย. ของทุกปี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน เนื่องจากมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมามีกำลังอ่อนลง ทำให้เกิดลมอ่อนๆ ที่จะพัดฝุ่นละอองจากการเผา ต้นและใบพืชการเกษตรในที่โล่ง เช่น ต้นข้าวโพด อ้อย มลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นละอองจากงานก่อสร้าง และฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 สะสมเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้จะอยู่แต่บ้าน ไม่ออกไปไหน

          ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญปัญหามลภาวะทางอากาศที่รุนแรงมากขึ้นทุกปี  โดยเฉพาะในเมืองหลวงและพื้นที่หัวเมืองภาคเหนือ ซึ่งได้รับผลกระทบสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการมีความพยายามศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถึงแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติก็ตาม แต่ปัญหาก็ไม่ได้บรรเทาลง จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการหาแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

          ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศล้วนแล้วเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การภาวนาให้ฝนตก การรอให้ลมเปลี่ยนทิศ การฉีดน้ำขึ้นไปในอากาศ การรณรงค์ให้ประชาชนมีความตระหนักรู้และป้องกันตนเองโดยการใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการแก้ไขปัญหาควรแก้ที่ต้นเหตุ โดยต้นเหตุสำคัญของฝุ่น PM2.5 ในเมืองใหญ่นั้น มาจากการใช้รถยนต์ (การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์สันดาปภายใน) การลักลอบเผาขยะ การเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งส่งผลให้คุณภาพอากาศ

          แนะ 3 นวัตกรรมป้องกันฝุ่น PM 2.5 ในบ้าน

          นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ทวีความรุนแรงขึ้น และกลายเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน โดยจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมมีนาคม และเบาบางลงในช่วงเดือนเมษายน ของปี จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีการเจ็บป่วยที่สูงกว่าคนในวัยอื่นซึ่งเกิดจากการได้รับสัมผัสมลพิษทางอากาศมาเป็นเวลานาน ทำให้ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการพัฒนานวัตกรรมเพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 เพื่อนำมาใช้ในการ แก้ไขปัญหาฝุ่นโดยเฉพาะภายในที่อยู่อาศัย โดยสามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงอาคารและที่อยู่อาศัยเดิม และสำหรับการก่อสร้างและการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่

          “นวัตกรรมเพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 ภายในอาคารและที่อยู่อาศัยกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ถึงแม้ต้นทุนในการพัฒนาจะสูงขึ้น แต่จากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของสภาพอากาศที่ปลอดฝุ่นภายใน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทุกคนต้องให้ความสำคัญ” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

          จากแนวโน้มดังกล่าว “ลุมพินี วิสดอมฯ” ได้ศึกษา 3 นวัตกรรมเป็นทางเลือกที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 และเพิ่มคุณภาพอากาศที่ดีภายในที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย

          สร้างพื้นที่สีเขียวภายในที่อยู่อาศัย (Passive Design)

          ปัญหาฝุน PM2.5 เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลก เป็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรม การใช้เครื่องยนต์ในระบบฟอสซิล จึงเกิดนวัตกรรมการขจัดมลภาวะและ PM 2.5 เกิดขึ้นทั่วโลก นวัตกรรมที่น่าสนใจและสามารถนำมาปรับใช้ภายในที่อยู่อาศัยในประเทศไทยได้ในแบบที่เป็น Passive Design คือ London City Trees หรือ แผงกรองมลพิษด้วยต้นมอสจากอังกฤษ เทียบเท่าต้นไม้ 275 ต้น ระบบนี้เป็นการนำมอสสายพันธุ์ต่างๆ มาบรรจุอยู่ในหอคอยทรงสูง ซึ่งมอสจะผลิตออกซิเจนและช่วยดักจับฝุ่นละอองในอากาศได้เป็นอย่างดี ผลการศึกษา London City Trees พบว่ามีคุณสมบัติช่วยเก็บความชื้นและมีคุณสมบัติเทียบเท่าต้นไม้กว่า 275 ต้น โดยใน City Trees มีระบบจัดการน้ำที่มีศักยภาพทำให้สามารถทนได้ในทุกสภาพอากาศ และยังทำหน้าที่เก็บข้อมูลสภาพอากาศโดยรอบเพื่อนำไปวิเคราะห์และแก้ปัญหาสภาพอากาศได้อีกด้วย ปัจจุบัน London City Trees ตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟใต้ดิน Leytonstone ถนน High Road และถนน Crownfield ในกรุงลอนดอน

ประเทศอังกฤษ ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถมาปรับใช้ในประเทศไทยได้ และสามารถปรับมาใช้ในที่พักอาศัยได้โดยการปลูกต้นไม้ในพื้นที่อยู่อาศัยเพื่อให้ช่วยในการดักจับฝุ่นละอองในอากาศ

          จากรายงานเรื่อง Interior Landscape Plants for Indoor Air Pollution Abatement เป็นการศึกษาค้นคว้าขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือองค์การนาซา (NASA) ร่วมกับ Associated Landscape Contractors of America (ALCA) ได้ค้นพบว่า ไม้ประดับธรรมดาที่ปลูกในบ้านหรือที่ใช้ตกแต่งห้อง ต่างๆ ก็มีประสิทธิภาพในการดูดซับและกำจัดสารพิษที่ปนเปือนอยู่ในอากาศ เช่น สารฟอร์มาลดีไฮด์ ไตรคลอโรเอทิลีน เบนซิน และสารมลพิษอื่น ๆ ได้ และราคาไม่แพง เช่น เดหลี พลูด่าง กล้วยไม้ เยอบีร่า ว่านหางจระเข้ ลิ้นมังกร เป็นต้น

          นวัตกรรมวัสดุดักจับและฟอกอากาศ (AIR ION)

          ปัจจุบันผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างหลายๆ ค่ายมีการนำนวัตกรรมดักจับฝุ่นและฟอกอากาศ เข้าไปใส่ในวัสดุก่อสร้างเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน เช่น การพัฒนานวัตกรรมกระเบื้องฟอกอากาศ (AIR ION)  ที่สามารถดักจับฝุ่นละอองขนาดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าฝุ่นจิ๋ว ตัวการสำคัญสามารถดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้ถึง 89% พร้อมเพิ่มมวลอากาศสดชื่นภายในบ้านได้ตลอด 24 ชั่วโมง

          กระเบื้องฟอกอากาศ คือ นวัตกรรมกระเบื้อง ที่ผสมจากแร่ธาตุธรรมชาติ Tourmaline บนผิวหน้ากระเบื้อง ปล่อยประจุไอออนลบในระดับ 3,000 ions/cm3 เพื่อเข้าดักจับฝุ่น โดยฝุ่นลดลงไปถึง 89% ภายในระยะเวลา 30 นาที โดยกระเบื้องดังกล่าว สามารถติดตั้งโดยปูได้ทั้งพื้นและกรุผนัง  แต่ถ้าให้ดีที่สุดควรติดตั้งบริเวณผนังเพื่อการดักจับฝุ่นที่ลอยในอากาศ ซึ่งอยู่ในระยะการหายใจของมนุษย์ และเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการช่วยดักจับฝุ่น ควรติดตั้งประมาณ 40% ของพื้นที่ภายในห้อง ซึ่งเทียบเท่ากับ ผนัง 2 ด้าน หรือ พื้น+ผนัง 1 ด้าน จะช่วยลดฝุ่นภายในบ้านได้เยอะ แถมยังสามารถใช้งานได้ตลอดการติดตั้ง โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ยิ่งใครที่อยู่คอนโดฯ ก็ยังช่วยประหยัดพื้นที่มากขึ้น ไม่ต้องติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ หรือเครื่องกรองอากาศให้เปลืองพื้นที่อีกด้วย

          นวัตกรรมการฟอกอากาศ และระบบแรงดันบวก(Positive Air Pressure)

          การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศัย และการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยโดยการนำระบบแรงดันบวก(Positive Air Pressure) เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง และ PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปัจจุบันเครื่องปรับอากาศหลายยี่ห้อมีการติดตั้งระบบฟอกอากาศเข้าไปในระบบปรับอากาศด้วย ทำให้ง่ายต่อการใช้งาน

          นอกจากเครื่องฟอกอากาศแล้ว ปัจจุบันได้มีการนำนวัตกรรมแรงดันบวก หรือ Positive Air Pressure เข้ามาติดตั้งในที่อยู่อาศัยทุกประเภท โดยหลักการของระบบดังกล่าวคือ ติดตั้งพัดลมอัดอากาศที่มี Filter กรองฝุ่นและเชื้อโรค โดยเจาะผนังอาคารเป็นช่องนำอากาศเข้า นอกจากกรองฝุ่นและเชื้อโรคแล้ว ยังเป็นการเติมก๊าซออกซิเจน (O2) เข้ามาภายในบ้านด้วย ฝุ่นและเชื้อโรคต่างๆรวมถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ก็จะถูกผลักผ่านการรั่วซึมตามรอยต่อประตูหน้าต่างนั่นเอง

          จากการตรวจสอบของ “ลุมพินี วิสดอมฯ” ตามรายงานของ Xiaomi ระบุว่าการติดตั้งระบบ Positive Air Pressure สำหรับห้องขนาด 50 ตารางเมตร อยู่ที่ประมาณ 9,500 บาท และอยู่ที่ 11,000 บาท สำหรับพื้นที่ขนาด 80 ตารางเมตร

          จากการศึกษาของ “ลุมพินี วิสดอม”  พบว่าการปรับสภาพที่อยู่อาศัยเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยที่ปลอดจากฝุ่น PM 2.5 มีตั้งแต่ค่าใช้จ่ายหลักร้อย ไปจนถึงหลักหมื่นต้นๆ ขึ้นอยู่กับการเลือกและขนาดของห้อง ถ้าเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นผลจาก PM 2.5 แล้ว การลงทุนเพื่อปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยให้ปลอดจากฝุ่น PM 2.5 ไม่แพงและคุ้มค่าสำหรับการลงทุนทั้งเพื่อการปรับปรุงที่อยู่อาศัย หรืออาคารที่ใช้งานเดิม และไม่ทำให้ต้นทุนในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสูงขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับคุณค่าด้านสุขอนามัยที่ส่งมอบให้กับลูกค้า

          “ผมเชื่อว่าต่อไปการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่มาพร้อมนวัตกรรมลดฝุ่น PM 2.5 จะกลายเป็นมาตรฐานสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยทุกประเภท ที่ไม่ใช่อุปกรณ์เสริมอีกต่อไป” นายประพันธ์ศักดิ์

          “อารียา” ชู 6 วิธีลดฝุ่น PM 2.5 ช่วยโลก

          ขณะที่ บริษัท อารียา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด  (มหาชน) หรือ “อารียา” ระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งผลกับสุขภาพ และความเป็นอยู่โดยตรงของคุณ และคนในครอบครัว และคุกคามสุขภาพของผู้บริโภคได้ถึงในบ้าน และเพื่อลดปัญหาและผลกระทบด้านสุขภาพ “อารียา” ขอเสนอ 6 แนวทางในการช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่สามารถทำได้ง่ายๆ จากที่บ้านประกอบด้วย

          1. งดเผาขยะ งดจุดธูป เปลี่ยนมาใช้ธูปไฟฟ้า การเผาขยะจะทำให้เกิดการเผาไหม้ซึ่งจะเป็นการเพิ่มควัน และฝุ่นพิษให้อากาศ นอกจากนี้ควรปรับเปลี่ยนการจุดธูป ซึ่งปกติจะทำให้เกิดฝุ่นจากธูป และควัน มาใช้ธูปและเทียนแบบไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อลดปริมาณควัน และลดอัตราการเกิดอัคคีภัยในช่วงหน้าหนาวที่อากาศแห้งได้ด้วย ซึ่งแนวทางการแก้ไขในเรื่องของการเผาขยะ โดยการหมุนเวียนทรัพยากร (Zero Waste) เพื่อช่วยลดปริมาณขยะและนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดขยะ นำสิ่งของกลับมาใช้ใหม่ ใช้วัสดุทดแทน ซึ่งการกระทำเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาขยะลงได้

          2. ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ

          การป้องกันฝุ่นด้วยการปิดหน้าต่างๆ และประตูบ้านตลอดเวลา อาจลดปริมาณฝุ่นทั่วไปได้ แต่ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีอนุภาคเพียง 2.5 ไมครอน ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กมากจนเครื่องปรับอากาศไม่สามารถดักจับได้ ตัวช่วยในการดักจับฝุ่นด้วยเครื่องฟอกอากาศจึงเป็นทางเลือกที่คนหันมาใช้กันมากขึ้น เครื่องฟอกอากาศที่ขายในท้องตลาดมีหลายแบรนด์ให้เลือก แต่การเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศที่เหมาะสม ควรคำนึงถึงขนาดของพื้นที่ห้องกับขนาดของตัวเครื่องให้เหมาะสมกัน จึงจะมีประสิทธิภาพที่ดี

          3. ปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ

          ปัจจุบันการปลูกต้นไม้ฟอกอากาศเป็นเทรนด์ที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากให้ความสวยงามสบายตาแล้ว ยังทำให้อากาศภายในบ้านสดชื่นด้วย ต้นไม้ที่มีคุณสมบัติในการฟอกอากาศและเป็นที่นิยมสำหรับการนำมาปลูก และวางตามจุดต่างๆ ของบ้าน มีหลากหลายพรรณไม้ ยกตัวอย่างเช่น ต้นยางอินเดีย พลูด่าง เศรษฐีเรือนใน เศรษฐีพันล้าน ลิ้นมังกร เขียวหมื่นปี เดหลี ไทรใบสัก กวักมรกต และยังมีอีกมากมาย ทั้งนี้ต้นไม้แต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติและการดูแลที่แตกต่างกันไป ควรศึกษารายละเอียดก่อนนำมาปลูกด้วย

          4. ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

          สาเหตุของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ร้อยละ 50-60% มาจากการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน สังเกตได้ว่าบริเวณที่มีการจราจรติดขัดมักมีอากาศที่ขมุกขมัว เนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น การเสียดสีของยางกับพื้นถนนทำให้เกิดฝุ่นละออง อีกทั้งรถยนต์ยังปล่อยควันจากท่อไอเสีย หากผู้คนส่วนใหญ่ลดอัตราการใช้รถบนท้องถนน หันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ก็จะช่วยทำให้ปริมาณฝุ่นละอองที่เกิดจากปัญหาเหล่านี้ลดลงตามไปด้วยเช่นกัน

          5. หมั่นเช็กสภาพรถ เพื่อลดควันดำ

          การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่ไม่สมบูรณ์ของทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ จะทำให้เกิดควันดำ และมลพิษทางอากาศ จึงควรหมั่นตรวจเช็กเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพปกติ การใช้งานไม่ควรมีควันดำ หรือปล่อยควันดำขณะขับขี่ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดมลพิษทางอากาศได้อีกช่องทาง

          6. หมั่นทำความสะอาดบ้าน

          การทำความสะอาดบ้าน ปัดกวาดเช็ดถูเฟอร์นิเจอร์ด้วยผ้าชุบน้ำเพื่อป้องกันการกระจายของฝุ่น รวมทั้งการล้างอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องปรับอากาศ พัดลม แผ่นกรองอากาศ มุ้งลวด และเช็ดทุกซอกมุมของบ้าน เพื่อช่วยลดแหล่งสะสมของฝุ่นได้อย่างง่ายๆ

          การคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกในปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้น จะสามารถค่อยๆ แก้ไขได้ด้วยการที่ทุกๆ คนมีความเข้าใจ และปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาได้จากที่บ้าน ถ้าทุกคนร่วมใจกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมกันแล้ว เชื่อว่านอกจากจะลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ยังช่วยลดความเสี่ยงโรคต่างๆ ที่จะเกิดจากฝุ่นพิษเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ก่อนออกจากบ้านควรสวมหน้ากากสำหรับป้องกัน PM 2.5 และไม่ควรกังวลกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มากเกินไป จนเกิดความเครียด หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย