อสังหาครึ่งหลังไปต่อ ORI-SIRIรุกพร็อพเทค
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2566 (1H/66) ที่ผ่านมาสามารถเติบโตต่อเนื่องจากปี 2565 หนุนจากความเชื่อมั่นถึงศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจของกำลังซื้อในประเทศ ประกอบกับมีแรงซื้อจากกลุ่ม Real Demand ต่างชาติที่ต้องการเข้ามาอยู่อาศัย และลงทุนในไทย ล่าสุดพบเศรษฐีชาวเมียนมา, อินเดียที่ต้องการส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาต่อในไทย ซื้อโครงการคอนโดมิเนียมบนทำเลศักยภาพเพิ่มขึ้น ขณะที่นักธุรกิจจีนยังคงนิยมซื้ออสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบบริษัทเพื่อการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ คาดการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 (2H/66) โครงการแนวราบระดับกลาง - บน โดยเฉพาะโครงการระดับลักซ์ชัวรี (Luxury) รวมถึงโครงการคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่อาศัย และโครงการที่มีกำหนดสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ยังมีศักยภาพในการขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม จากภาระอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้กับทั้งผู้ประกอบการที่ต้องการกู้เงินไปลงทุนโครงการ อสังหา ระดับกลาง - ล่าง รวมถึงยอดปฏิเสธคำเสนอขอสินเชื่อเพื่อซื้อโครงการอสังหา ในราคาที่ต่ำกว่า 3 ล้านบาทลงมายังคงเป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
ปรับตัวสู่ “พร็อพเทค”
ประกอบกับปัจจุบันไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปสู่ยุค Internet of Everything (IoE) อย่างสมบูรณ์แบบ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จึงควรปรับตัวเข้าสู่ Prop TEC (Property Technology) หรือการนำ Internet Of Things (loT) มาใช้ในการพัฒนาโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจง (Niche Market) รวมถึงการออกแบบโครงการให้ครอบคลุมทุกการอยู่อาศัย (Inclusive Design) สร้างสมาร์ทซิตี้ที่ยั่งยืน
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังควรศึกษาแนวทางการระดมทุนผ่านเครื่องมือทางการเงินใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ โทเคนดิจิทัล หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งอยู่ภายใต้การกำดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)“บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่สามารถปรับโครงสร้างทางธุรกิจ กระจายพอร์ตโครงการ และการลงทุนได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ให้เป็นประโยชน์ อาทิ ORI- SIRI ซึ่งก็จะเห็นศักยภาพการเติบโตได้อีกมากในอนาคต”
ORI-SIRI เด่น
นายสมนันท์ ผลสมบูรณ์โชค นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายหลายรายเริ่มศึกษาแนวทางการระดมทุน (Finance) หลากหลายช่องทางเพื่อกระจายแหล่งทุน และสามารถบริหารจัดการต้นทุนอัตราดอกเบี้ยจ่ายให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม ที่ผ่านมาหลายบริษัทมีการออกสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อาทิ โครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา, อาคารสำนักงาน, โครงการที่พัฒนาเสร็จแล้วอยู่ระหว่างโอนกรรมสิทธิ์โครงการ และหรืออยู่ระหว่างจำหน่าย จึงแนะนำให้นักลงทุนพิจารณาหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างผลตอบแทนกลับมาได้ตามที่ระบุในสัญญาหรือไม่
“ที่ผ่านมา SIRI กับ ORI ได้ลองระดมทุนด้วยการออกสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีรูปแบบแตกต่างกัน สำหรับ SIRI แนวทางการดำเนินงานคล้ายกับการตั้ง JV โดย SIRI ถือหุ้น 70% มีนักลงทุนรายย่อยถือหุ้น 30% ตลอดระยะเวลาที่ระบุในสัญญา ขณะที่ ORI ดำเนินงานในรูปแบบการรับจ้างบริหารทรัพย์โครงการ นั้นๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนตามที่ระบุในสัญญา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนักลงทุนว่ามีความมั่นใจแค่ไหนว่าทรัพย์ที่นำมาคำประกัน จะมีศักยภาพสร้างผลตอบแทนได้ในอัตราที่ระบุในสัญญาหรือไม่”
ยอดขายโตต่อเนื่อง
สำหรับ SIRI เบื้องต้นคาดการณ์ยอด Presale งวดไตรมาส 2/2566 ที่ 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% QoQ และเพิ่มขึ้น 37%YoY โดยยังคงเติบโตทั้งโครงการแนวราบ และคอนโดมิเนียม ทั้งนี้ SIRI มีแผนเปิดโครงการใหม่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 (2H66) รวมมูลค่า 5.65 หมื่นล้านบาท หนุนยอด Presale ให้แนวโน้มเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนกำลังซื้อระดับกลาง-บนว่ายังเติบโตแข็งแกร่ง จึงคงประมาณการกำไรสุทธิของ SIRI ทั้งปี 2566 ที่ 4.65 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9%YoY คาดยังมี Upside อีกราว 20% และสามารถทำ New High ต่อเนื่องจากปีก่อน จึงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสมที่ 2.20 บาท พร้อมกันนี้แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ORI ราคาเหมาะสมที่ 12.50 บาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์ทันหุ้น