หุ้นกลุ่มอสังหาฯตีปีก รับคงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2 ปี
กลุ่มอสังหาฯ คึกคัก ครม.เคาะคงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีก 2 ปี วงในมองช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่มี Land Bank ค่อนข้างมาก และทำให้ผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 และหลังที่ 3 ไม่ต้องมีภาระภาษีเพิ่ม กระตุ้นยอดขายต่อเนื่องถึงปีหน้า
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการคงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราเดิม ตามบทเฉพาะกาล ม.94 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปีภาษี 2565 และอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …
โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.การประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันที่ 0.01-0.1%
2.ที่อยู่อาศัย อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.02-0.1% ได้แก่ 2.1) ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันที่ 0.03-0.1% 2.2) สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันที่ 0.02-0.1 และ 2.3% ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกเหนือจาก 2.1 และ 2.2 อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.02-0.1%
3.การใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากข้อ 1 และข้อ 2 อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.3-0.7%
4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.3-0.7%
ทั้งนี้ การคงอัตราภาษีแบบเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 2563 และ 2564 ไปอีกระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับผู้เสียภาษี และเพื่อให้ผู้เสียภาษีได้มีระยะเวลาในการปรับตัวสำหรับการชำระภาษีในอัตราที่แท้จริง
ด้านนายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า การประกาศคงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในครั้งนี้จะส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่มี Land Bank ค่อนข้างมาก และทำให้ผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 และหลังที่ 3 ไม่ต้องมีภาระภาษีเพิ่ม
นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นยอดขายในปีหน้าให้ดีขึ้นกว่าปีนี้ จากปัจจัยบวกที่มีเข้ามาค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามต้องรอดูผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโอมิครอน หากรุนแรงก็อาจจะทำให้ยอดขายถูกกระทบ แต่ถ้าไม่มีล็อกดาวน์น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อการเติบโตของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น