สัมภาษณ์พิเศษ: คณิศ เร่งดึงลงทุนปี64ปลุกความเชื่อมั่น อีอีซี
นครินทร์ ศรีเลิศ
การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี) ในปี 2563 มีมูลค่าลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งในปี 2564 ภาครัฐพยายามเร่งผลักดันการลงทุน เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมา สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดรับฟังความเห็นนักธุรกิจไทยและ ต่างชาติเพื่อกำหนดแนวทางกระตุ้นการลงทุน
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2564 จะเป็นปีที่ สกพอ.ให้ความสำคัญกับการดึงดูด นักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายและ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในอีอีซีถือเป็นการทำงานต่อเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีการ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเครื่องมือที่ สกพอ.จะใช้เป็น เครื่องมือในการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 คือ การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษจากอัตราก้าวหน้าที่สูงสุด 35% ให้เหลือในอัตรา ไม่เกิน 17% ของเงินได้พึงประเมินซึ่งเครื่องมือนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เคยอนุมัติไว้แล้วแต่ ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการใช้มาตรการนี้เป็นเครื่องมือ ในการจูงใจ รวมทั้งจะมีการต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่หมดอายุในปลายปี 2564
มาตรการจูงใจดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือ สำคัญช่วยสนับสนุนการเติบโตของการลงทุน และพัฒนาเทคโนโลยีในอีอีซี ซึ่งปี 2563 ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับ การเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ในอีอีซีลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน และ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี 5G เริ่ม เพิ่มการลงทุนต่อเนื่องได้แก่ ธุรกิจการแพทย์ (Medical Hub) ธุรกิจโลจิสติกส์ รวมทั้งธุรกิจ ที่เกี่ยวกับออร์โตเมชั่นและอากาศยาน ซึ่งการลงทุนนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ถึงครึ่งปี 2564 “การดึงดูดการลงทุนเข้ามาอีอีซีจะต้อง ใช้หลายเครื่องมือ โดยปีที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับ ทูตไทยในต่างประเทศในการชักจูงการลงทุนบริษัทที่เป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรมที่เราต้องการมาลงทุนในไทย โดยในปีนี้ต้องทำงานต่อเนื่องและพยายามใช้ทุกเครื่องมือที่มีอยู่หนึ่งในนั้น คือ ภาษีบุคคลธรรมดาที่จะใช้เพดานภาษี 17% เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจูงใจให้เกิดการลงทุนและให้ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงาน”
ส่วนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีมีความคืบหน้าตามแผนที่วางไว้ โดยโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมืองและอู่ตะเภา ในไตรมาสที่ 1-2 ปีนี้ จะเริ่มส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนในช่วงลาดกระบัง-สนามบินอู่ตะเภา เพื่อเริ่มก่อสร้าง ทางรถไฟและสถานี โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลา อีกระยะเพื่อรื้อย้ายสิ่งกีดขวางและ จ่ายเงินชดเชยค่าเวนคืนที่ดิน
ในขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ แม้จะยังส่งมอบ ที่ดินและรื้อย้ายสาธารณูปโภคไม่ได้ทั้งหมด แต่ในปีนี้จะเห็นการดำเนินงานของรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ที่มีประสิทธิภาพและการบริการที่รวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากเอกชนที่ชนะการประมูลในโครงการนี้จะเริ่มเข้ามา บริหารงาน และมีการเพิ่มขบวนรถเข้ามา ให้บริการมากขึ้นทำให้ความถี่ในการให้บริการประชาชนทำได้ดีขึ้นโดยสามารถให้บริการ ผู้โดยสารได้สูงสุด 600,000 คนต่อวัน
นอกจากนี้ ในปี 2564 จะเป็นการลงทุน เพื่อเตรียมความพร้อมให้สถานีรถไฟมักกะสัน เป็นสถานีหลักของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งสถานีมักกะสันมีความพร้อมเป็น สถานีหลักของรถไฟความเร็วสูง โดยปัญหา ทางเข้าสถานีที่คนเดินทางเข้าสู่สถานีได้ยากกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบสร้างทางเดินเข้าสู่ สถานีโดยการขุดทางลอดใต้ดินให้มีทางเข้าออก ได้ถึง 6 ทางเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้า-ออก สถานีของประชาชน สำหรับรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยาย จากสนามบินอู่ตะเภาไป จ.จันทบุรี และ จ.ตราด กำลังอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากในการทำ รถไฟความเร็วสูงจะต้องเป็นการเชื่อมเมืองขนาดใหญ่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมาก 2 เมืองเข้าด้วยกัน “ความสำคัญที่จะต้องติดตามต่อจากนี้ ก็คือในประเด็นที่จะให้รถไฟความเร็วสูงและ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและ เมืองการบินภาคตะวันออกต้องเสร็จและ เปิดบริการได้ในเวลาใกล้เคียงกันหรือพร้อมกัน จึงจะเกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเต็มที่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2568 โดยได้ตั้งคณะทำงาน ให้ทั้ง 2 โครงการนี้ทำงานร่วมกันต่อเนื่อง ซึ่งต้องมองไปข้างหน้าเพราะโครงการนี้แล้วเสร็จ ช่วงโควิด-19 ควบคุมได้แล้ว”
สำหรับการขอจัดสรรงบประมาณของ อีอีซีในปี 2565 ยังใช้วิธีการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นจุดเด่นในการทำงานของ สำนักงานฯอีอีซีที่นอกจากงบประมาณปกติที่ได้รับการจัดสรรปีละ 400-500 ล้านบาท โดย สกพอ.ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นในการ บูรณาการงบประมาณร่วมกับหน่วยงานอื่นได้ปีละ 20,0000-25,000 ล้านบาท
นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทำไปมากแล้วในช่วงที่ผ่านมาจะเน้นการ พัฒนาเมือง การเพิ่มศักยภาพคนในพื้นที่และ การลงทุนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและสังคม ในอีอีซีให้น่าอยู่ ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คงไม่ได้เน้นการก่อสร้างถนนมากนัก แต่จะเน้น การทำระบบรางที่ทำเป็นระบบย่อยๆ เพื่อเชื่อมโยง กับตัวโครงสร้างรถไฟความเร็วสูงที่เป็น ระบบหลักซึ่งการเชื่อมระบบย่อยเข้ามา สู่ระบบรางหลักในพื้นที่จะทำให้การเดินทาง ของประชาชนทำได้ง่ายและสะดวก มากขึ้นด้วย
“การดึงดูดการลงทุนเข้ามาอีอีซีจะต้องใช้หลายเครื่องมือ” คณิศ แสงสุพรรณ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ