สัญญาณเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว คลังจับตา โอมิครอน ฉุด

30 ธ.ค. 2564 740 0

         สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กระทรวงการคลัง รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพ.ย.2564 พบสัญญาณเศรษฐกิจหลายตัว ชี้ว่าเศรษฐกิจปรับตัว ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะ จากการบริโภคภาคเอกชนและ การท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกยังคงขยายตัวได้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด

          วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงรายละเอียดเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในด้านต่างๆ เดือนพ.ย.2564 

          การบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณ รถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ใน เดือนพ.ย.2564 กลับมาขยายตัวจาก ช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 20.2% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 28.1% 

         สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่หดตัวในอัตราชะลอลงจาก ช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -6.5% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ที่ 10.1% และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 44.9 จากระดับ 43.9 ในเดือนต.ค.2564 โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นประชาชนและภาคธุรกิจมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกัน กับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่ขยายตัว จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 15.7% อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรที่แท้จริงลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -6.8%

          การลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือ เครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนใน เดือนพ.ย.2564 ขยายตัวในอัตราชะลอลง จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 7.8% และ การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -10.8%

          สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนพ.ย.2564 ลดลง จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -4.9% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผล ทางฤดูกาลที่ 1.7%

          ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ 4.1% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบ กับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 5.5%

          การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว ต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์ ในเดือนพ.ย.2564 อยู่ที่ 23,647.9 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือน ที่ 9 ที่ 24.7% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัว 18.9%

          เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนพ.ย. 2564 ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -0.4% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล 7.0% จากการเพิ่มขึ้น ของผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และสินค้าประมง ขณะที่ ผลผลิตข้าวเปลือกลดลงเล็กน้อย

          สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 85.4 จากระดับ 82.1 ในเดือนตุลาคม 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้น รวมถึง ภาคการผลิตขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง

          ส่วนบริการการท่องเที่ยว ในเดือนพ.ย.2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวมจำนวน 91,255 คน โดยส่วนใหญ่ เป็นนักท่องเที่ยวจากเยอรมนี สหรัฐ สหราชอาณาจักร รัสเซีย และฝรั่งเศส

          สำหรับจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนพ.ย.2564 มีจำนวน 11.3 ล้านคน หรือคิดเป็นการหดตัวในอัตราชะลอลง จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -30.9% แต่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 122.3%

          เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย.2564 อยู่ที่ 2.71% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.29% ส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนต.ค. 2564 คิดเป็นสัดส่วน 58.8% ต่อจีดีพี

          สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยง จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพ.ย.2564 อยู่ในระดับสูงที่ 243.0 พันล้านดอลลาร์

          ดัชนีเชื่อมั่นทุกภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น

          ด้านดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนธ.ค.2564 นั้น จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัด ทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนดังกล่าว ปรับตัว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเกือบทุกภูมิภาค สะท้อนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคตทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ

          โดยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ปรับเพิ่มจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 76.7 ภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 72.1 ภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 72.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 69.6 ภาคกลางอยู่ที่ 67.9 ภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 67.2 ส่วนกทม.และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 55.1

          สำหรับเศรษฐกิจภูมิภาคนั้น ปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออก และภาคกลาง จากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ทยอยฟื้นตัว รวมทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่น ภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย