ศักดิ์สยาม เบรกย้ายรถไฟไปสถานีบางซื่อ เข้าหัวลำโพงเหมือนเดิมยื้ออีก30วันสรุปใหม่

21 ธ.ค. 2564 475 0

         “ศักดิ์สยาม” ยอมถอยเบรกย้ายรถไฟไป “บางซื่อ” คงเดินรถเข้าหัวลำโพงตามปกติทุกขบวน สั่ง รฟท.เช็กลิสต์ ผลกระทบทุกด้าน ใน 30 วัน ทั้งประชาชนการขนส่ง และจราจร ด้านผู้ว่าฯ รฟท.เตรียมแถลงรายละเอียดพรุ่งนี้ (21 ธ.ค.) ขณะที่สายสีแดงผู้โดยสารเฉลียกว่า 1 หมื่นคน/วัน สั่งเร่งทำฟีดเดอร์เข้าสถานีรังสิตเพิ่มความสะดวก

          วันที่ 20 ธ.ค. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ครั้งที่ 8/2564 เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานการให้บริการหลังการเปิดบริการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) อย่างเป็นทางการ และการดำเนินการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายนิรุฒ มณีพันธ์  ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นายพิเชษฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

          นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ณ ตึกปฏิบัติการวิทยุโทรทัศน์ บมจ.อสมท โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ร่วมชี้แจงโดยได้นำเสนอเหตุผลความจำเป็นในการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ และการเปลี่ยนผ่านการเป็นสถานีหลักในการเชื่อมต่อระบบรางของประเทศจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังสถานีกลางบางซื่อ และการพัฒนาสถานีหัวลำโพงในอนาคตซึ่ง รฟท. จะได้นำข้อเสนอจากภาคประชาชนจากการรับฟังความคิดเห็นเพื่อไปปรับปรุงการดำเนินการให้มีความเหมาะสมต่อไป

          นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้มีข้อสั่งการให้รฟท. ดำเนินการจัดทำเช็กลิสต์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องร่วมให้คำแนะนำ เพื่อตรวจสอบผลกระทบกับประชาชน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อของประชาชนและการขนส่งสินค้า การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและความปลอดภัยในการเดินรถ โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยการดำเนินการทุกขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามผลการศึกษา ข้อกฎหมาย มติครม. ที่เกี่ยวข้องก่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการจัดทำแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องต่อไป

          โดยในระหว่างการดำเนินการดังกล่าว ให้รฟท. ยังคงรูปแบบการเดินรถไฟทุกขบวนเข้าสู่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ทั้งขบวนรถเชิงพาณิชย์และเชิงสังคมตามเดิม รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้ใช้บริการทราบต่อไป

          รายงานข่าวจาก รฟท.เปิดเผยว่า ข้อสรุปในการประชุมครั้งนี้ ทำให้ในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 นี้ รฟท.ยังคงเดินรถไฟทุกขบวนในปัจจุบัน เข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตามปกติ โดยมีรถไฟทางไกล รถไฟเชิงสังคมจำนวน 118 ขบวน ทั้งนี้ เนื่องจากใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ซึ่งจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนการเดินรถจากหัวลำโพงไปสถานีกลางบางซื่อ โดยจะมีเวลาในศึกษาข้อมูลรอบด้านให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จากนั้นมาพิจารณาปรับปรุงต่อไป

          สายสีแดงผู้โดยสารเฉลี่ย กว่า1 หมื่นคน/วัน สั่งเร่งทำฟีดเดอร์เชื่อมสถานีรังสิต

          นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 พบว่า ปัจจุบันมียอดผู้โดยสารโดยเฉลี่ยวันละ 10,267 คน ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนพฤศจิกายน มีผู้โดยสารรวม 265,038 คน เพิ่มขึ้น 31.96% จากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ รฟท. ได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาลักลอบตัดสายอาณัติสัญญาณในระบบรถไฟฟ้าเช่น การเฝ้าระวังจากระบบเตือนที่ศูนย์ควบคุมจัดให้มีการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น และในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้บริการของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรองรับการให้บริการรถไฟทางไกลของ รฟท. ในอนาคต

          ส่วนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรังสิต หรือระบบFeeder นั้นกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ประชุมคณะทำงานเพื่อจัดให้มีระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมต่อรถไฟสายสีแดงที่สถานีรังสิต เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 โดยที่ประชุมรับทราบวัตถุประสงค์ โครงการและกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการ เกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูล แนวทางการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น และมีการลงพื้นที่สำรวจด้านกายภาพของเส้นทาง เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564

          สำหรับค่าโดยสาร เมื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ใน 3 ปีแรก (2565-2568) จะมีค่าแรกเข้า12 บาท และอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง 1.5 บาทต่อกิโลเมตร กำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดในการเดินทางหนึ่งเที่ยว ไม่เกิน 42 บาท เมื่อถึงปีที่เอกชนดำเนินการให้เสนอใช้อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ รฟท. ได้ประชาสัมพันธ์ตารางอัตราค่าโดยสาร (Fare Table) ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าแล้ว โดยสามารถชำระค่าโดยสารได้ทั้งเหรียญโดยสาร (Token) และบัตรโดยสารทั้งบัตรเติมเงินสำหรับการเดินทางแบบเที่ยวเดียวและบัตรโดยสารแบบรายเดือน

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย