รถไฟรางคู่ บูมเศรษฐกิจล้านนา ตะวันออก อสังหาฯ-ก่อสร้าง รอสยายปีก
ทันทีที่โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ หรือ รถไฟทางคู่สายประวัติศาสตร์ล้านนาตะวันออก เดินหน้าหลังจากพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) มีผลบังคับใช้ เมื่อช่วงปลายเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา ส่งผลเศรษฐกิจในพ้นที่ขยับทุกมิติ ขณะภาคอสังหารมทรัพย์นั้น พบว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างน่าจับตามอง
โดยนายบุญชู กมุทมาโนชญ์ ประธานสมาพันธ์ SME ไทยภาคเหนือ เผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า ข่าวความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สาย ระยะทางความยาว 323.1 กิโลเมตร มูลค่า 72,920 ล้านบาท ส่งผลชาวบ้าน และผู้ประกอบทั้งในพื้นที่ และนักธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจทางราง ต่างลงพื้นที่เข้ามาจัดหาที่ดินรองรับ ทำให้ ‘ที่ดิน’ หน้าสถานีรถไฟ มีราคาพุ่งถึง 10 เท่าตัว ขณะบ้านจัดสรร พบ โครงการนอร์ดิค ทาวน์ พะเยา เตรียมเปิดขาย ประเดิม 120 ยูนิต ย่าน สถานีพะเยา
นอกจากนี้ ยังพบมีประชาชนที่ถูกเวนคืนที่ดิน เริ่มตระเวนหาซื้อที่ดิน, บ้าน, อาคาร, ร้านค้า - พาณิชย์จำนวนมาก ทำให้ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ได้รับอานิสงส์ไปด้วย เช่นเดียวกับธุรกิจซื้อขายที่ดิน นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ขยับแรงขึ้นอย่างชัดเจน
นายบุญชู กล่าวต่อว่า ในการประชุมหารือร่วมกัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), บริษัทที่ปรึกษาด้านการเวนคืน อสังหาริมทรัพย์ และสิ่งปลูกสร้าง, ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง, แพร่, พะเยา และเชียงราย เห็นร่วมกันว่า โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางนี้ จะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นจำนวนมาก ทั้งระยะก่อนสร้าง และหลังโครงการเสร็จสิ้น เพราะเป็นการสร้างใหม่ทั้งระบบ นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาร่วม ซึ่งเมื่อรัฐอัดฉีดงบประมาณการลงทุนดังกล่าว ตามหลักเศรษฐศาสตร์ จะมีการไหลเวียนของเม็ดเงินต่อเนื่องถึง 3 เท่า
การสร้างทางรถไฟสายนี้ คนในพื้นที่รอคอยมานับ 61 ปี คาดจะเพิ่มพูนความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ และมั่นใจว่าแรงกระเพื่อมนี้จะส่งผลให้ GDP ในท้องถิ่นปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน ส่งผลการเติบโตในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านอสังหาฯ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้เสนอให้ทาง รฟท.เจรจากับบริษัทผู้รับสัมปทานทั้ง 3 บริษัท (3 สัญญา : สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัยงาว , สัญญาที่ 2 งาว-เชียงราย และ สัญญาที่ 3 เชียงราย-เชียงของ) โดยขอให้บริษัทเหล่านั้น ช่วยจัดซื้อ-หาวัสดุ, อุปกรณ์ สำหรับการก่อสร้าง จากผู้ประกอบการในท้องถิ่นเป็นหลัก ยกเว้นแต่เป็นอุปกรณ์พิเศษ ที่ต้องจัดหาจากแหล่งสำคัญโดยตรง รวมถึงขอให้เอกชนผู้ประมูลสัญญา เรียกใช้แรงงานภายในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย เพื่อเป็นการรองรับการกลับถิ่นฐานของประชาชน ให้เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ เช่นเดียวกับ กลุ่มแรงงานพิเศษ และการก่อสร้างอาคารต่างๆ เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุง ก็ขอให้ปลูกสร้างในพื้นที่ทั้งหมด หวังเป็นแรงกระทุ้งทั้งทางตรงและทางอ้อม
ขณะนายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกร ระดับ 10 การรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากประสบการณ์สร้างทางรถไฟที่ผ่านมา พบเศรษฐกิจในพื้นที่จะมีการเติบโตในทุกมิติ เริ่มตั้งแต่ พรฎ.บังคับใช้ จนกระทั่งเสร็จสิ้นโครงการ และเมื่อโครงการรถไฟสายนี้ให้บริการประชาชน เศรษฐกิจ จะเติบโตแบบก้าวกระโดด บางพื้นที่ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อาจรองรับไม่ทัน ส่วนประเด็นด้านแรงงานที่จังหวัดร้องขอนั้น ในขั้นพื้นฐานมักมีการ ใช้แรงงานท้องถิ่นทั้งสิ้น เช่นเดียวกับ การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ มี TOR ข้อหนึ่ง ว่าต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ในประเทศไทย 60% ส่วนการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง เครื่องจักรกล จะเกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่เช่นเดียวกัน แต่จะพิจารณาจากความเหมาะสมของที่ตั้งร่วมด้วย
จากความเคลื่อนไหวข้างต้น ‘ฐานเศรษฐกิจ’ เจาะพื้นที่เฉพาะจังหวัด เชียงราย ซึ่งมีเส้นทางรถไฟ ระยะทาง 139.40 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้า - การลงทุนชายแดนนั้น พบผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ จาก กทม. ยังคงให้ความสนใจไปปักหมุดโครงการแนวราบจัดสรร รับอานิสงค์ต่อเนื่อง
โดยบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) อยู่ระหว่างเปิดขายโครงการ โกลเด้น วิลเลจ เชียงราย ราคาเริ่มประมาณ 3.6 ล้านบาท บนพื้นที่ 18 ไร่ บนถนนพหลโยธิน ใกล้สนามบิน เชียงราย แม่ฟ้าหลวง รวมถึง โครงการโกลเด้น ทาวน์ เชียงราย-บิ๊กซีแยกสนามบิน เจาะตลาดทาวน์โฮมอีก 1 โครงการ
ขณะไตรมาสแรกที่ผ่านมา บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) เพิ่งเปิดตัวโครงการใหม่แห่งแรก บ้านเดี่ยว ‘โครงการ อภิทาวน์ เชียงราย’ ราคา 4-10 ล้านบาท มูลค่า 900 ล้านบาท บนที่ดิน 43 ไร่ ตั้งอยู่บนทำเลท่าสาย ใกล้ถนนพหลโยธิน สายหลักที่เชื่อมภาคเหนือจนถึงกรุงเทพฯ ใกล้กับถนนเวียงบูรพา และเส้นรถไฟรางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ มอเตอร์เวย์เชียงใหม่ - เชียงราย พบยอดขายพรีเซล ณ ช่วงเปิดตัว (มี.ค.) กำลังซื้อตอบรับดี ขณะ ณ สิ้นมิ.ย. พบโครงการนี้ปิดการขายไปแล้วรวม 10% หรือราว 90 ล้านบาท สะท้อนถึงศักยภาพของพื้นที่ และ ดีมานด์ความต้องการในหัวเมืองใหญ่ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง จากการลงทุนใหญ่ สร้างโอกาสการเติบโตของราคาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย ที่จะพุ่งสูงขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีโครงการแนวราบของ บมจ. ศุภาลัย เปิดขายถึง 3 โครงการ ศุภาลัย การ์เด้นวิลล์ นางแล-เชียงราย ,ศุภาลัย พาร์ควิลล์ แม่กรณ์-เชียงราย และ ศุภาลัย เบลล่า แม่กรณ์-เชียงราย อีกด้วย
เส้นทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัยเชียงราย-เชียงของ นับเป็นการสร้างคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง นอกจากช่วยสนับสนุนการขนส่งสินค้าไปยังชายแดนจีนตอนใต้, เปิดระบบการขนส่ง เดินทางใหม่ให้ผู้โดยสาร กระตุ้นการท่องเที่ยว เส้นทางดังกล่าว ยังวิ่งข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมสร้างการเติบโตของพื้นที่ในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ ธุรกิจใหม่ และความเปลี่ยนแปลงในด้านอสังหาฯ อย่างไม่รู้จบ.
เส้นทางสายล้านนาตะวันออกจะสร้างการเติบโตของพื้นที่ในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ ธุรกิจใหม่ และอสังหาฯ อย่างไม่รู้จบ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ