พิมพ์เขียวผังน้ำทั่วประเทศ อสังหาขานรับรื้อที่ดินน้ำท่วม

05 ต.ค. 2565 430 0

          ผังเมืองถึงจุดเปลี่ยน ภัยธรรมชาติรุนแรงเกินคาด กรมโยธาฯ - มหาดไทยเร่งปรับผังรวมทั่วประเทศ 878 อำเภอ ลงลึกแก้น้ำท่วมระยะยาว “เพิ่มผังน้ำ” จัดโซนใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ เริ่มที่เชียงใหม่ เชียงราย สุรินทร์ อุดรฯ ขอนแก่น สิงห์บุรี ราชบุรี ภูเก็ต เบตง ปัตตานี และ 3 จังหวัด EEC ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี รอประกาศใช้ผังรุ่นใหม่ เตรียมเสนอครม.ภายในปี 2566 ไทม์ไลน์ช้า-เร็ว ขึ้นอยู่กับรัฐบาลหลังประยุทธ์กลับมา นายกอสังหาฯระยองบอกไอเดียดี

          แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมกำลังปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 จะเน้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นหลัก เนื่องจากภัยพิบัติจากธรรมชาติรุนแรงเกินคาด ผังใหม่ที่ปรับจะมีการเพิ่ม ผังน้ำเข้าไป เพื่อเพิ่มระดับการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว รวมทั้งสิ้น 878 อำเภอทั่วประเทศ

          “ผังน้ำจะเป็นการจัดโซนพื้นที่รองรับและแนวป้องกันแบบเอ็กซ์ตรีม ซึ่งกรมจะทยอยทำปีละ 40 ผัง จะแล้วเสร็จหมดในปี 2573”

          โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละจังหวัด เช่น ภาคเหนือเน้นที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน ภาคอีสานจะมีสุรินทร์ อุดรธานี ภาคกลางจะมีสิงห์บุรี ราชบุรี ภาคใต้มีภูเก็ต เบตง ปัตตานี และ 3 จังหวัดในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

          ผังเมืองรุ่นใหม่เหล่านี้ได้เริ่ม สตาร์ตแล้วในปีนี้ คาดว่าจะเสร็จเร็ว เพราะเป็นโครงการเร่งด่วน คาดว่ากรมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในปี 2566 ส่วนไทม์ไลน์จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กลับเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง

          “ตอนนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่กำลังติดประกาศรายละเอียดและสาระสำคัญของผังใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ติดประกาศ”

          จัดสรร-คนซื้อบ้านต้องระวัง

          แหล่งข่าวกล่าวเสริมว่า ข้อดีของการเพิ่มผังน้ำในผังเมืองใหม่ทั่วประเทศจะช่วยให้พื้นที่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมซ้ำซาก เป็นแนวตั้งรับและป้องกันปัญหาในอนาคต จึงทำให้กรมต้องจัดวางพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม เปรียบแล้วเหมือนการขยายคูคลอง ลำน้ำลุ่มน้ำต่าง ๆ ให้กว้างขึ้น เพื่อให้เป็นทางน้ำไหล ไร้สิ่งกีดขวาง

          “แต่จะไม่ใช่การขุดคลองหรือขุดแม่น้ำใหญ่ยักษ์เท่าเจ้าพระยา กรมจะทำทุก ๆ จุด เหมือนการขยายถนนแบบกรมทางหลวงชนบท”

          ดังนั้น ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะต้องศึกษาในเรื่องนี้ สำหรับการวางแผนด้านการพัฒนาจัดสรรที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างโครงการใหม่ ๆ รวมถึงประชาชนผู้ที่คิดจะซื้อบ้านต้องตรวจสอบจุดที่ตั้งด้วยว่า บ้านสร้างใหม่อยู่ในพื้นที่ผังน้ำหรือไม่

          กฎกระทรวง “ผังน้ำ”

          นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมต้องนำแผนงานโครงการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่วางไว้ใน งบประมาณปี 2566 มาทบทวน และปรับแผนกันใหม่ในการจัดทำงบประมาณปี 2567 เนื่องจากปีนี้หลายจังหวัดประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก เนื่องจากปริมาณฝนตกลงมามากกว่าปกติ บางพื้นที่ 200 มิลลิเมตร/วัน แม้โอกาสเกิดฝนตกมากอย่างนี้จะเกิดครั้งหนึ่งในรอบหลาย ๆ ปี รวมถึงต้องบูรณาการทำงานร่วมกันกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมชลประทาน โดยเฉพาะสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ซึ่งมีบทบาทหลักในการพิจารณาโครงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งหมด

          ปกติกรมโยธาฯจะได้งบประมาณในการป้องกันน้ำท่วมชุมชนเฉลี่ยปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท นำไปใช้ได้ 19-20 ชุมชน รวม 19-20 จังหวัด บางจังหวัดเป็นโครงการขนาดใหญ่ แบ่งเป็นเฟส ๆ ให้งบประมาณกระจายออกไป ตอนนี้อยู่ระหว่างจัดทำงบประมาณปี 2567 จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2565 หรือเดือนมกราคม 2566 ซึ่งกรมต้อง หารือกับ สนทช.พื้นที่ไหนต้องปรับแผน

          “ปกติกรมรับผิดชอบป้องกันน้ำท่วมในชุมชนเมืองไม่ให้ท่วมขัง โดยใช้งบฯสร้างพนังกั้นน้ำ ทำเขื่อนป้องกันตลิ่ง ส่วนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รอบนอกเมืองเป็นหน้าที่ของ สนทช.และกรมชลประทาน”

          นอกจากนี้ ทางกรมโยธาธิการอยู่ระหว่างการจัดทำ “กฎกระทรวง” เรื่องผังน้ำหรือผังระบายน้ำจังหวัด ซึ่งกำหนดไว้ ใน พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 ว่า “จะต้องมีผังน้ำ หรือผังระบายน้ำจังหวัด” หมายความว่า ถ้าน้ำท่วมเข้ามาในที่ชุมชนจะมีแก้มลิงตรงไหน จะมีการปรับปรุงทางระบายน้ำตรงไหน หากน้ำท่วมในที่ชุมชนจะมีการป้องกันอย่างไร กำลังทำร่างผังเมืองกันอยู่ครอบคลุมทุก 800 กว่าอำเภอทั่วประเทศไทย โดยผังระบายน้ำเป็นผังที่เพิ่มขึ้นมาจากกฎหมาย พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 ฉบับเดิม ซึ่งเมื่อก่อนในผังเมืองจะมีผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และผังการคมนาคมขนส่ง แต่ปัจจุบันมีเพิ่มผังเรื่องการระบายน้ำ ผังพื้นที่เสี่ยงภัย ตรงไหนเป็นพื้นที่น้ำท่วมขังต้องออกกฎหมาย เพื่อให้ระบายน้ำออก

          “เราต้องดูในเชิงวิชาการ ถ้าจำเป็นต้องดำเนินการ เพราะทุกวันนี้หลายจังหวัดเมืองขยายออกไป การไปปลูกสิ่งก่อสร้างเป็นการกีดขวางทางระบายน้ำ ทำให้การระบายน้ำลดลง ทำให้น้ำท่วมขังได้ การทำผังระบายน้ำเป็นการแก้ปัญหาเรื่องทางกายภาพ ทางด้านผังเมือง ซึ่งได้มองมิติการแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงจะกำหนดห้ามถมดิน เพื่อไม่ให้น้ำท่วมเมือง เรามองในภาพใหญ่ อันนี้ เป็นความยากของงานผังเมืองที่จะให้ทุกฝ่ายยอมรับ เพราะมีการลิดรอนสิทธิ ว่าไปกำหนดพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่แก้มลิง ตรงนี้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ทำให้เจ้าของที่ดิน ไปใช้ถมที่ดินของตัวเองทำโรงงานไม่ได้ เรามองมิติทางด้านวิชาการ ทางกายภาพของพื้นที่เป็นหลัก หรือจะถมดินสร้างบ้าน ต้องยกระดับบ้านให้มีใต้ถุนสูง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังตรงบริเวณนั้น ซึ่งตรงนี้มีการกำหนดไว้ในผังเมือง”

          ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำผังเมืองมีอยู่ 8 ขั้นตอน เช่น เรื่องการสำรวจพื้นที่ทางกายภาพ การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังรวมจังหวัด การติดประกาศ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเปิดรับฟังความ คิดเห็นของประชาชน มีการรับคำร้องต่าง ๆ ว่ามีการคัดค้านอย่างไร แล้วจึงนำมาทำเป็นผังเมืองของชุมชน ของจังหวัดนั้น ตอนนี้อยู่ในกระบวนการกำลังสำรวจพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะแล้วเสร็จทั้งกระบวนการออกมาเป็นกฎกระทรวงประมาณ 2 ปี

          นายกอสังหาฯระยองชี้ไอเดียดี

          นายเปรมสรณ์ ศรีวิบูลย์ชัย นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์จังหวัดระยอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กฎระเบียบการแก้ไขน้ำท่วมในกรณีการสร้างคอนโดฯ โรงแรม หมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่ลุ่มต่ำ ให้ยกระดับพื้นที่อาคารสูงขึ้นเพื่อให้น้ำไหลผ่านได้ มองว่าเป็นไอเดีย ที่ดี อาจจะต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะช่วยแก้ไขเรื่องน้ำท่วมได้จริงหรือไม่ ในความเป็นจริงต้องออกกฎหมายเพิ่มการระบายน้ำ

          แนะวาระแห่งชาติน้ำท่วม

          นายอิสระ บุญยัง ประธานกรรมการกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จุดประสงค์ผังเมืองบังคับการก่อสร้างอาคารต้องไม่ขวางทางน้ำไหล และ ต้องให้น้ำระบายผ่านได้นั้น เพื่อต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ประเด็นนี้ มีข้อเสนอแนะว่า เห็นด้วยหากผังเมืองจะควบคุมและป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว

          อย่างไรก็ตาม กฎหมายผังเมืองเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวเดียว ในภาพใหญ่มีประเด็นที่ต้องทำร่วมกัน ทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน หากศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่าไทยเป็นสังคมกสิกรรมในอดีตกาล การเลือกที่ตั้งเมืองจึงเน้นที่ราบลุ่มต่ำ เพราะน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

          การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งเริ่มต้นใช้ตั้งแต่ปี 2504 รัฐหันมาลงทุนสร้างอินฟราสตรักเจอร์ประเภทถนน ทางรถไฟ และสนามบินเป็นหลัก ผลลัพธ์คือเมกะโปรเจ็กต์รัฐโดยหน่วยงานรัฐกลายเป็นต้นเหตุสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำไหล

          “ตัวอย่างชัดเจนที่สุดและเป็นกรณีศึกษาในวงการผังเมือง คือ สนามบินสุวรรณภูมิ 2 หมื่นไร่ สร้างขวางทางน้ำไหลที่จะระบายลงอ่าวไทย เวลาหน้าน้ำท่วมต้องหาทางระบายอ้อมออกคลองด้านข้าง”

          ดังนั้น ข้อเสนอหากต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน คือ

          1.จะต้องควบคุมกำกับดูแลการลงทุนโครงการรัฐโดยหน่วยงานรัฐ ต้องออกแบบและก่อสร้างอย่างไรไม่ให้ขวางทางน้ำไหล

          2.เสนอให้ยกระดับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะคง ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายผังเมืองเพียงอย่างเดียว

          เหตุผลเพราะกฎหมายผังเมืองจะเป็นแม่บทในการพัฒนาเมือง สิ่งปลูกสร้างใหม่ ๆ จำเป็นต้องระมัดระวังให้มากขึ้น

          3.ผังเมืองขวางทางน้ำไหลคือผังเมือง สีเขียวลาย หากจะควบคุมใช้กับ ทั่วประเทศก็ควรจำกัดการควบคุมสำหรับผังเมืองสีเขียวลายเท่านั้น ไม่ควรควบคุมโดยบังคับใช้กับสีผังเมืองทุกประเภท เช่น ที่อยู่อาศัยมีสีผังเมืองสีเหลือง สีส้ม สีน้ำตาล ควบคุมการก่อสร้าง หนาแน่นน้อยไปหามาก, สีแดงพื้นที่พาณิชยกรรม, สีม่วงพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นต้น

          เหตุผลสำคัญเพราะหากไม่ใช่พื้นที่โซนน้ำหลาก แต่ไปควบคุมเป็นพื้นที่เทียบเท่าสีเขียวลาย ถือเป็นการควบคุมเกินจำเป็น เพราะจะทำให้เจ้าของที่ดินมีภาระในการปฏิบัติตามผังเมือง หรือมีต้นทุนในการก่อสร้างอาคารสูงเกินจำเป็น ไปจนถึงบางกรณีอาจจะไม่สามารถก่อสร้างได้เลย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงข้อเสนอคือรัฐควรเวนคืนที่ดินเอกชนไปเลย

          “เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ถ้าจะบังคับทั่วประเทศ ขอท้วงติงไว้ก่อนว่าการบังคับโครงการก่อสร้างห้ามขวางทางน้ำไหล ส่วนราชการต้องทำก่อน โดยเฉพาะ สาธารณูปโภคของรัฐ การตัดถนน วางรางรถไฟไม่ให้ขวางทางเดินของน้ำ และถ้าขวางทางเดินของน้ำต้องมีจุดให้น้ำลอด จุดที่เป็นคอขวด เพราะราชการเป็นคนทำสาธารณูปโภคหลัก ๆ ของประเทศ ส่วนประชาชนเป็นเรื่องที่ ตามมา” นายอิสระกล่าว

          สร้างบ้านอิง กม.คุมอาคาร

          ด้าน นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ธุรกิจก่อสร้างบ้านบนที่ดินส่วนบุคคล เปิดเผยเพิ่มเติม กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในภาพกว้าง ๆ หากมีการบังคับผังเมืองไม่ให้สร้างอาคารขวางทางน้ำไหลทั่วประเทศ คาดว่าน่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน สิ่งที่เป็นห่วงคือกฎหมายผังเมืองต้องไม่บังคับเกินจำเป็น เพราะไม่ใช่ทุกพื้นที่จะมีปัญหาน้ำท่วมเหมือนกันหมด

          “บ้านเดี่ยวหรือบ้านสร้างเอง เป็นการสร้างทีละหลังบนที่ดินตัวเอง ต้องบอกว่าตอนนี้กฎหมายผังเมืองยังไม่เคยมีข้อกำหนดให้ปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ขวางทางน้ำไหล ในหลักการผมเห็นด้วยถ้าหากรัฐมีการกำหนดแนวทางให้ปฏิบัติที่ชัดเจน แต่ต้องคำนึงผลกระทบไม่ไปสร้างภาระให้คนมีที่ดินในมือ แต่ไม่สามารถปลูกบ้านได้ ภาครัฐจะมีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร”

          นายวรวุฒิกล่าวว่า ขั้นตอนธุรกิจรับสร้างบ้าน ตามปกติจะดูให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎหมายก่อสร้างเป็นหลัก เช่น ที่ดินโซนนี้ผังเมืองสีอะไร ปลูกสร้างบ้านได้กี่ชั้น การถมดินต้องทำอย่างไร กรณีอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากจะมีการออกแบบป้องกันไม่ให้น้ำท่วมภายนอกรั้วบ้านเข้ามาในบ้าน และออกแบบให้ใช้ชีวิตสะดวกสบายมากที่สุด

          “ข้อเท็จจริงการรับสร้างบ้านบนผังเมืองฟลัดเวย์มีไม่เยอะอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะสร้างบนทำเลเมืองชั้นใน หากผังเมืองมีข้อบังคับใหม่ ๆ บริษัทรับสร้างบ้านต้องตรวจสอบมากขึ้น อาจมีผลทำให้บ้านสร้างเองหดหายในโซนสีเขียวลายพอสมควร ขอเวลาศึกษาข้อมูลจริงจังก่อน”

          นวัตกรรม “บ้านหนีน้ำ”

          สำหรับหลักปฏิบัติพื้นฐานของการสร้างบ้านเอง

          1.การถมดินต้องคำนึงระดับน้ำท่วมสูงสุดในอดีตเป็นตัวตั้ง แล้วถมดินสูงกว่า 30-40 ซม.

          2.บ้านป้องกันน้ำท่วมจะมีดีไซน์เป็นบ้านหนีน้ำ ระดับถมดินเมื่อถมสูงขึ้นเพื่อยกบ้านสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสร้างบ้านเพิ่มเป็นเงาตามตัว ทั้งโครงสร้างเสา-คาน-ตอม่อที่ต้องยกสูงขึ้น มีกำแพงกันดินไหล ฯลฯ

          3.ปลั๊กไฟเคยติดตั้งสูงจากพื้น 30 ซม. อาจขยับสูงขึ้นเป็น 50 ซม. และมีการแยกตู้ไฟอยู่ชั้น 1-ชั้น 2 หากน้ำท่วมถึงชั้น 1 ก็ยังสามารถใช้ไฟบนชั้น 2 ได้ เป็นต้น

          “การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารอย่างเคร่งครัด เป็นการก่อสร้างที่ทำได้เฉพาะในเขตรั้วบ้าน แต่ภาพรวมของพื้นที่เราทำอะไรไม่ได้ ถ้ามีน้ำท่วมน้ำขัง ก็ต้องท่วมขังอยู่ภายนอกรั้ว เราทำ ได้แค่ในเขตรั้วบ้านของเรา”

          จำกัดโซนผังน้ำสีเขียวลาย

          นายวรวุฒิประเมินผลกระทบกรณีผังเมืองเพิ่มข้อบังคับไม่ให้ก่อสร้างขวางทางน้ำไหลว่า ถ้ากฎหมายบังคับใช้ทุกจังหวัด วิธีการปรับตัวของธุรกิจรับสร้างบ้านก็ต้องทำเหมือนกับการสร้างบ้านในกรุงเทพฯ เช่น โซนห้ามก่อสร้างมีข้อยกเว้นอะไรบ้างหรือไม่ เนื่องจากข้อเท็จจริงแบบบ้านในจังหวัดโซนน้ำท่วมบ่อยจะยกใต้ถุนสูง ชั้นล่างเป็นโถงโล่ง ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย

          ในแง่ต้นทุนการสร้างบ้านโซนน้ำไม่ท่วม กับโซนน้ำท่วม คาดว่ามีต้นทุนสูงขึ้น ไม่เกิน 5% เพราะต้องออกแบบและสร้างเป็นบ้านหนีน้ำ ต้องยกบ้านสูงขึ้น ยกใต้ถุนให้น้ำลอดได้ โครงสร้างและการใช้สอยวัสดุต้องปรับดีไซน์เพิ่มขึ้น แต่ถ้าไปขวางทางน้ำจนถึงขั้นห้ามก่อสร้างเลย การทำงานก็ยากขึ้น เจ้าของที่ดินต้องรับสภาพไป

          ข้อกังวลคือผังน้ำหลากคือสีเขียวลาย แต่ผังเมืองใหม่หากบังคับใช้กับทุกสีทุกประเภทจะกลายเป็นผลกระทบวงกว้าง เท่ากับเพิ่มคอสต์การก่อสร้างให้กับประชาชนที่จะปลูกสร้างบ้าน ในขณะที่สถานการณ์โควิดและสงครามมีผลกระทบต่อกำลังซื้อและค่าครองชีพของประชาชนหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ราคาวัสดุก็ยังมีความผันผวน ดังนั้น การจะบังคับใช้กฎหมายผังเมืองเพิ่มเติมรัฐจะต้องไม่สร้างภาระเกินจำเป็น

          เคล็ดลับแก้น้ำรอระบาย

          นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom) บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือ LPN กล่าวว่า กรุงเทพฯปริมณฑลเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง มีปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล

          ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีส่วนร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วมขังและรอระบาย เริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบโครงการทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม โดยคำนึงถึงการใช้น้ำที่ใช้ประโยชน์ในโครงการ การจัดการน้ำเสีย และน้ำฝน ก่อนระบายไปสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ

          ในทางกฎหมายควบคุมอาคารมีข้อปฏิบัติพื้นฐานเกี่ยวกับการระบายน้ำฝนโดยเฉพาะ เพื่อให้ปริมาณน้ำฝนที่ปล่อยออกจากโครงการมีปริมาณที่เหมาะสม ไม่สร้างผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียง หรือระบบระบายน้ำสาธารณะ

          จากการศึกษาของทีมวิจัย LPN Wisdom พบว่า น้ำฝนมีเส้นทางการไหลหลัก ๆ 2 เส้นทาง คือ ตกบนพื้นดิน หรือพื้นที่สีเขียว น้ำฝนสามารถไหลซึมลงไปสู่ชั้นดินได้ แต่น้ำฝนที่ตกบนพื้นที่ดาดแข็งหรือพื้นที่ไม่สามารถไหลซึมได้ เช่น พื้นถนน ดาดฟ้า คอนกรีต น้ำฝนจะไหลลงสู่ระบบระบายน้ำในโครงการก่อนออกไปท่อระบายน้ำสาธารณะ

          ดังนั้น มีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ

          1.ลงทุนพื้นที่สีเขียวในโครงการ ยิ่งเยอะยิ่งดี สามารถออกแบบตามเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียว เช่น มาตรฐาน LEED กำหนดต้องมีพื้นที่ open space มากกว่า 30% ของพื้นที่โครงการ โดยพื้นที่เปิดโล่งจะต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 25%

          2.พื้นถนนและทางเท้า ใช้วัสดุ ปูพื้นผิวที่น้ำซึมผ่านได้ ซึ่งปัจจุบันมี นวัตกรรมวัสดุปูพื้นผิวถนน หรือพื้นที่ดาดแข็งให้มีลักษณะเป็นรูพรุน และมีคุณสมบัติให้น้ำซึมผ่านได้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ที่สามารถดูดซับน้ำลงสู่ชั้นดิน ลดปริมาณน้ำในระบบระบายน้ำได้

          3.ออกแบบพื้นที่สีเขียวในโครงการอย่างยั่งยืนที่เรียกว่า โครงสร้างพื้นฐาน สีเขียว (green infrastructure)

          “เทคโนโลยีการออกแบบและนวัตกรรมใหม่ ๆ ของวัสดุก่อสร้าง เป็นตัวช่วยทำให้ลดปริมาณน้ำท่วมขังและรอระบายในโครงการ และในพื้นที่สาธารณะโดยรอบโครงการ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังและรอระบายหน้าฝน ขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย” นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย