ผ่อนคลายLTVหนุนระบายสต๊อกแสนหน่วย PS-LPN อัดโปรฯแรงชิงกำลังซื้อโค้งท้ายปี
ศูนย์ข้อมูลฯ หนุนมาตรการผ่อนคลาย LTV ช่วยกระตุ้นภาค อสังหาฯ เพิ่มเงินใหม่เข้าสู่ระบบ ศก. คาดช่วยระบายสต๊อกออกไปทั้งปีกว่า 1 แสนหน่วย เม็ดเงินกว่า 5 แสน ลบ. พร้อมตั้งข้อสังเกต หากคลังเสริมมาตรการลดค่าโอนและภาษีที่อยู่อาศัยทุกระดับราคา และครอบคลุมตลาดบ้านมือสองอีกทาง เผยบ้านมือสองมีมูลค่าซื้อขายกว่า 8 แสน ลบ. ด้าน พฤกษาจัดแคมเปญส่งเสริมการตลาดต่อเนื่องถึงสิ้นปี คาดไตรมาส 4 กำลังซื้อไหลกลับเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น 20% “LPN” ชี้สัญญาณบวกตั้งแต่ไตรมาส 4 ต่อเนื่องถึงปี 65 เปิดตัวแคมเปญใหญ่ “มหกรรมคอนโดฯลุมพินี” นำ 17 โครงการพร้อมอยู่ 1,500 ยูนิตลดสูงสุด 50% รับมาตรการธปท.ดันยอดขายทั้งปี 1 หมื่น ลบ. “ศุภาลัย” เผยปิดการขาย Online Booking โครงการคอนโดฯเปิดใหม่
เมื่อ 21 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา แวดวงอสังหาฯ ได้รับข่าวดีจาก ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ในเรื่องที่ธปท.ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV ชั่วคราวมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 64 จนไปถึงสิ้นปี 2565 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินหนึ่ง ที่หลายฝ่ายหวังว่า จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเปราะบาง จากความไม่แน่นอนสูงและฐานะการเงินของบางภาคธุรกิจและครัวเรือน และผลกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อุปสงค์มีความอ่อนแอ
ดังนั้น การผ่อนคลายมาตรการ ธปท.จะช่วยเร่งเพิ่มเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาฯ ซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเข้มแข็งหรือรองรับการก่อหนี้เพิ่มได้ เนื่องจากภาค อสังหาฯ มีความสำคัญและมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง คิดเป็นกว่าร้อยละ 9.8 ของ GDP มีการจ้างงานกว่า 2.8 ล้านคน
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC หรือ ศขอ.) กล่าวว่า หลายท่านสอบถามศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ถึงมาตรการดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาฯในปี 2564 และ 2565 ได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ตอบยากมากที่สุด เพราะการฟื้นตัวของภาคอสังหาฯ ต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายด้าน แต่จะขอให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเป็นประเด็นๆ ดังนี้
1. การผ่อนคลายมาตรการ LTV จะช่วยระบายที่อยู่อาศัยใหม่ในโครงสุดท้ายที่เหลือขายทั้งหมดที่มีประมาณ 283,500 หน่วย โดยช่วยยอดขายในปี 2564 ได้เกินกว่า 100,000 หน่วย เป็นจำนวนเงินประมาณ ไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมที่อยู่อาศัยมือสอง ที่มีอุปทานรอการซื้อ อีกมากกว่า 100,000 หน่วย และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย ที่จะช่วยมีมูลค่าในการผลิตสูงเช่นกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกมาก ดังนั้น มาตรการ LTV นี้ จะเป็นเหมือนเครื่องมือสำหรับฉุดเศรษฐกิจ “ที่ติดหล่ม” ให้ขึ้นมาและให้สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้
2. ข้อสังเกตในเรื่องความไม่สอดคล้องของมาตรการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ว่า มาตรการ LTV เพียงมาตรการเดียว คงไม่สามารถช่วยฉุดลากเศรษฐกิจไทยให้ไปข้างหน้าได้ แต่คงต้องทำควบคู่กับมาตรการทางการคลังในทิศทางเดียวกัน เช่น การลดค่าธรรมเนียมและค่าภาษีให้กับที่อยู่อาศัยทุกระดับราคา กล่าวคือ การผ่อนคลายมาตรการ LTV ทำให้สามารถใช้ได้กับที่อยู่อาศัยการให้สินเชื่อในทุกระดับราคา และรวมถึงที่อยู่อาศัยมือสองด้วย แต่มาตรการด้านการคลังในเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ที่ยังคงจำกัดกับกลุ่มที่ซื้อที่อยู่อาศัยใหม่จากผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่า การกำหนดกลุ่มเป้าหมายนั้นต่างกัน จะทำให้มาตรการที่ออกมาจะมีสัมฤทธิผลต่ำกว่าที่คาดไว้ได้
3. ตลาดที่อยู่อาศัยมือสอง เป็นตลาดที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม เนื่องจากมีการประกาศขายทุกๆ เดือนเฉลี่ยเดือนละ 114,000 หน่วย และ มีมูลค่าประมาณ 800,000 ล้านบาท ซึ่งมีขนาดตลาดที่ใหญ่มาก
4. ความสำเร็จของมาตรการ LTV นี้ มีข้อสังเกตว่า น่าจะส่งผลบวกต่อภาคอสังหาฯในปี 2564 ไม่มากนัก เนื่องจากมาตรการออกมาในช่วง 2 เดือนเศษก่อนสิ้นปี 2564 อาจกล่าวได้ว่า การผ่อนคลายของมาตรการ LTV นี้ออกมาในสถานการณ์ของภาคอสังหาฯที่ค่อนข้างลำบากแล้ว แต่ก็เป็นเงื่อนไขที่ดีที่มีช่วงเวลาในการผ่อนคลายมาตรการ LTV ให้ถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งจะช่วยให้ภาคอสังหาฯ และภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมฟื้นตัวจากปี 2564 ตามที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้คาดการณ์ไว้
พฤกษา ชี้หนุนกำลังซื้อเพิ่มขึ้น 20% พร้อมอัดโปรแรงต่อเนื่องถึงสิ้นปี
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จะช่วยส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่กระตุ้นการจ้างงานผ่านภาคอสังหาฯไปยังห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสำคัญราว 10% ของจีดีพี และยังจะช่วยเสริมกำลังซื้อของลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้ซื้อที่เป็นเรียลดีมานด์ ในระดับราคา 2-5 ล้านบาท ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000-100,000บาท ซึ่งจะสามารถลดภาระความกังวลในเรื่องการจัดเตรียมเงินดาวน์ได้ ซึ่งหลังจากที่ได้เริ่มใช้มาตรการ LTV ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้สัดส่วนลูกค้ากลุ่มนี้ลดลงราว 30%
“โดยการผ่อนคลายมาตรการ คาดว่าจะทำให้กำลังซื้อของลูกค้ากลับคืนมาเพิ่มขึ้นราว 20% และจะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ทั้งแนวราบและแนวสูงได้ ประกอบกับการเปิดประเทศ ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มรายได้และกำลังซื้อ มีเงินไหลเวียนในประเทศมากขึ้น จึงน่าจะช่วยขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจในปี 2565 ให้ดีขึ้นด้วย”
สำหรับพฤกษาเอง เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีบ้านได้ง่ายขึ้น จึงได้จัดแคมเปญต่อเนื่องถึงสิ้นปีนี้ โดยมอบโปรโมชันสุดพิเศษรับกับมาตรการ ธปท.กับแคมเปญ“ลดเด็ด พิเศษ ใหญ่ ไม่งอก” มีโครงการเข้าร่วมกว่า 1,500 ยูนิต ใน 140 โครงการ ที่พร้อมมอบความคุ้มค่าให้ลูกค้าตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 เท่านั้น ซึ่งประกอบ “ลดเด็ด” ถึง 3 อย่าง ได้แก่
(1) พิเศษ (Special Price) ลดเพิ่มพิเศษส่งท้ายปีสูงสุดถึง 2 ล้านบาท (2) ใหญ่ (Space & Function) ด้วยพื้นที่บ้านขนาดใหญ่ ส่วนกลางใหญ่ ครัวใหญ่ ให้ใช้ชีวิตได้อย่างสบาย ลงตัวทุกไลฟ์สไตล์ ออกแบบภายใต้แนวคิด “พฤกษา” ใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต “Tomorrow. Reimagined. รองรับความเปลี่ยนไปในอนาคต และ (3) ไม่งอก (Free All) ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ด้วยข้อเสนอทั้งอยู่ฟรีสูงสุด 36 เดือน ส่วนกลางฟรีสูงสุด 36 เดือน ฟรีเครื่องใช้ไฟฟ้า ฟรีทุกค่าใช้จ่ายวันโอน พร้อมการันตีกู้ไม่ผ่านยินดีคืนเงิน หรือเปลี่ยนยูนิตเมื่อมาเยี่ยมชมแล้วไม่ชอบ* (เฉพาะยูนิตที่เข้าร่วมเท่านั้น กรุณาสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย)
LPN มั่นใจ ศก.ฟื้นตั้งแต่ไตรมาส 4 เปิด
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ในไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมาและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทมองว่าสถานการณ์ได้ถึงจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เห็นได้จากการที่ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้นและเตรียมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ในขณะที่ธปท.ได้ผ่อนคลายมาตรการ LTV ทำให้เชื่อว่าไตรมาส 4 นี้ สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และตลาดอสังหาฯ จะเริ่มดีขึ้นและส่งผลบวกต่อเนื่องไปในปี 2565
“สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงสำหรับคนไทยและส่งผลเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจ ผมคิดว่าไตรมาส 3 ที่ผ่านมาถือเป็นจุดต่ำสุดแล้ว และในไตรมาส 4 นี้ ภาพรวมมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นจากการฉีดวัคซีนที่กระจายทั่วถึงมากขึ้น การผ่อนคลายล็อกดาวน์ การเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ให้นักท่องเที่ยวจากประเทศที่กำหนดไว้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยหากสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายไปในทางบวก ทำให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจปีหน้าต้องดีกว่าปีนี้อย่างแน่นอน ซึ่งจะเริ่มเห็นได้ในไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป” นายโอภาส กล่าว
จากแนวโน้มดังกล่าว บริษัทได้เปิดตัวแคมเปญ “มหกรรมคอนโดลุมพินี” ขึ้น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และเป็นทางเลือกที่ดีให้ลูกค้า โดยนำเสนอคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ในทำเลต่างๆ ถึง 17 โครงการ ในราคาพิเศษด้วยส่วนลดสูงสุด 50% เริ่มต้นเพียง 8.19 แสนบาท พร้อมฟรีค่าใช้จ่ายวันโอนจนถึงสิ้นปี 2564 โดยมี 4 โครงการจาก 17 โครงการที่สามารถเข้า ร่วมโครงการบ้านล้านหลังของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อรับดอกเบี้ยอัตราพิเศษ
“แคมเปญนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 10,000 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ 7,000 ล้านบาทในปี 2564 หลังจากที่บริษัทสามารถทำยอดขาย 9 เดือนแรก ได้ 6,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 63% ของเป้าหมายยอดขายที่วางไว้” นายโอภาส กล่าว
ศุภาลัย โชว์ปิดการขายคอนโดฯ เปิดใหม่
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลสำเร็จในการเปิดขายโครงการคอนโดฯใหม่ บนทำเลศักยภาพ “ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร” ว่า จากการเปิดจองรอบ Online Booking วันที่ 22 ต.ค. โดยมีการเปิดขายชั้น 3, 8, 15 ก่อนหน้านี้ และด้วยกระแสตอบรับที่ดีเกินคาด จึงเปิดขายเพิ่มชั้น 11 และ 16 ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และปิดยอดขาย Online Booking Sold Out ของจำนวนยูนิตที่เปิดขายได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ด้วยยอดขายกว่า 400 ล้านบาท
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา