บีโอไอ ดันสมาร์ทแฟกตอรี หนุนเป้าหมื่นโรงงาน อีอีซี
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์สนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะเป็นการผลักดันเป้าหมาย “สมาร์ทแฟกตอรี” ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้เร็วขึ้น
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (11 ต.ค.) เห็นชอบ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการยกระดับสู่ Industry 4.0 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและกระบวนการผลิตเพื่อให้ยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่
ระบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ (Automation and Network Technology) การวิเคราะห์ข้อมูล และการปฏิบัติการที่ชาญฉลาด (Smart Operation) หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการในกระบวนการผลิตและการบริหารองค์กร (Digital Technology in Production&Enterprise Processes) โดยยกเว้นเงื่อนไขการใช้ Local Content 30% ที่กำหนดไว้เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนในระยะแรกเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตได้โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยกว่า 70% ยังอยู่ในระดับอุตสาหกรรม 2.0 หรือต่ำกว่าระดับอุตสาหกรรม 3.0 มีเพียง 28% บีโอไอจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการสนับสนุนการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่ลงทุน ทั้งเครื่องจักรใหม่และระบบดิจิทัล โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริม ยกระดับ โรงงานในอีอีซีให้เป็น สมาร์ทแฟกตอรี ตามที่มีเป้าหมาย 10,000 โรงงาน ภายในระยะเวลา 5 ปี ให้ได้ตามเป้าหมาย
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ภาคเอกชน จะได้รับจะเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 3 ปี สัดส่วน 100% ของเงินลงทุน ในการปรับปรุง โดยบีโอไอต้องเสนอแผน การลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2565 และต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 ปี นับจาก วันออกบัตรส่งเสริม
นอกจากนี้ บีโอไอเห็นชอบขยายเวลา มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ เอสเอ็มอี เป็นสิ้นสุดวันทำการสุดท้ายของปี 2565 จากเดิมมาตรการสิ้นสุดวันทำการสุดท้ายของปี 2564
ทั้งนี้ มาตรการพิเศษสำหรับเอสเอ็มอีกำหนดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าจากเกณฑ์ปกติและผ่อนปรนเงื่อนไข รวมถึงให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติม ตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) เพื่อกระตุ้นเอสเอ็มอีพัฒนาศักยภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้เติบโตและแข่งขันได้ ตลอดจน ส่งเสริมเอสเอ็มอีในภูมิภาคและเขต เศรษฐกิจพิเศษ และเพิ่มศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอีเติบโตช่วงโควิด-19 รวมทั้งขยายมาตรการครอบคลุมการลงทุนโรงแรมขนาดเล็กไม่เกิน 20 ห้อง
รวมทั้งบีโอไอรับทราบมูลค่าส่งเสริม การลงทุน 9 เดือนแรกของปี 2564 มีโครงการ ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงกว่าปี 2563 ทั้งปีที่ 432,000 ล้านบาท และสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยก่อนเกิด โควิดช่วงปี 2558-2562 ที่ 483,664 ล้านบาท
“มูลค่าการส่งเสริมการลงทุนปีนี้ จะทำได้ถึง 6 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงช่วงยังไม่ได้เกิดโควิด-19 และการขอส่งเสริมการลงทุนหากคิดเฉลี่ยรายเดือนจะได้ 3 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับที่ทำได้แล้วช่วง 9 เดือนแรก 5.2 แสนล้านบาท การลงทุนปีนี้ จะทำได้กว่า 6 แสนล้านบาท”
สำหรับการลงทุนช่วง 9 เดือนแรก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าเงินลงทุน รวม 269,730 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 52% ของคำขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูงสุด ได้แก่
1.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 77,210 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เปลี่ยนกิจกรรมของ คนทำงานในรูปแบบ WFH ทำให้ความต้องการ ของตลาดเพิ่มขึ้น
2.อุตสาหกรรมการแพทย์ 59,210 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นการลงทุนต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ความต้องการสินค้าที่ใช้ในการป้องกันเชื้อโควิด เช่น ถุงมือยาง เพิ่มขึ้น อย่างมาก
3.ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 36,760 ล้านบาท
4. การเกษตรและแปรรูปอาหาร 31,660 ล้านบาท
5. เทคโนโลยีชีวภาพ 20,950 ล้านบาท
สำหรับมูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ (FDI) ช่วง 9 เดือนแรก ปี 2564 มี 587 โครงการ มูลค่าการลงทุน 372,068 ล้านบาท โดยมูลค่าเพิ่มขึ้น 220% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประเทศ ที่ลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 67,816 ล้านบาท สหรัฐ 26,936 ล้านบาท และสิงคโปร์ 26,882 ล้านบาท
สำหรับอีอีซีมีการขอรับส่งเสริม 348 โครงการ มูลค่าลงทุน 173,780 ล้านบาท โดย จ.ระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 91,670 ล้านบาท รองลงมา จ.ชลบุรี 54,310 ล้านบาท และ จ.ฉะเชิงเทรา 27,800 ล้านบาท
นอกจากนี้ การขอรับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพช่วง 9 เดือนแรกมี 134 โครงการ มูลค่าลงทุน 14,806 ล้านบาท ซึ่งการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเป็นระบบอัตโนมัติมีมูลค่าสูงสุด 7.3 พันล้านบาท
รองลงมา คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการตื่นตัวการใช้พลังงานทดแทน โครงการ ที่ขอสิทธิประโยชน์สำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนไว้ใช้เองได้ขยายตัวต่อเนื่อง ประมาณการว่าโครงการเหล่านี้ที่ยื่นคำขอในปีนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรวมถึง 300 เมกกะวัตต์
โดยการขอส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ นำมาซึ่งการลงทุนใช้ Local Content 6 แสนล้านบาท จ้างงาน 8 หมื่นตำแหน่ง และเพิ่ม มูลค่าการส่งออกได้ 6 แสนล้านบาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ