'บีแลนด์' พลิกโฉมเมืองทองธานี ผุดเมืองใหม่ ในอาณาจักร 4 พันไร่

07 พ.ค. 2567 276 1

       
        น่าจับตาอาณาจักรเมืองทองธานีกว่า 4,000 ไร่ ย่านแจ้งวัฒนะ ใต้ลมปีกของสองพี่น้อง “ตระกูลกาญจนพาสน์” ผู้คุมบังเหียนบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือบีแลนด์ ซึ่งกำลังจะมีการพัฒนาระดับเมกะโปรเจ็กต์ระลอกใหม่อีกครั้ง บนที่ดินติดทะเลสาบ 200-300 ไร่ ด้วยเม็ดเงินหลาย 10,000 ล้านบาท

        มาเติมเต็มให้ “เมืองทองธานี” ที่ถูกสร้างขึ้นมานานกว่า 3 ทศวรรษ ให้เป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ รองรับกับรถไฟฟ้สายสีชมพูส่วนต่อขยาย ที่มีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2568

        ปัจจุบัน “เมืองทองธานี” เทียบกับเมื่อ 30 ปีก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีแค่โครงการอสังหาริมทรัพย์ อย่างคอนโดป๊อปปูลาร์ที่เลื่องชื่อเท่านั้น ยังมีธุรกิจค้าปลีก โรงแรม ศูนย์ประชุม ภายใต้ชื่อ “อิมแพค เมืองทองธานี” ที่สร้างรายได้แบบโตวันโตคืน

        สำหรับอิมแพค มี “พอลล์ กาญจนพาสน์” ทายาทคนที่สองของ “เสี่ยช้าง-อนันต์” เป็นแม่ทัพขับเคลื่อนธุรกิจในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มี “ปีเตอร์” ผู้พี่นั่งบริหาร

       “พอลล์” กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างวางแผนแม่บทหรือมาสเตอร์แพลน พัฒนาโครงการใหม่ บนที่ดิน 200-300 ไร่ อยู่ติดทะเลสาบเมืองทองธานี ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นการลงทุนเฟสใหม่ของอิมแพค เมืองทองธานี ที่จะลงทุนเป็นโครงการขนาดใหญ่ในรูปแบบมิกซ์ยูส ภายในมีศูนย์การค้า สำนักงาน โรงแรม และเอ็กซ์ซิบิชั่น ฮอลล์ คาดใช้เงินลงทุนมากกว่า 10,000-20,000 ล้านบาท

        โดย “พอลล์” ขยายความว่า เป็นการปรับมาสเตอร์แพลนเดิมที่เกือบจะได้ตอกเข็มก่อสร้างเมื่อหลายปีก่อน ถ้าไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 เสียก่อน ซึ่งในครั้งนั้นวางแผนจะพัฒนาเป็นโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ หรือศูนย์รวมสถานที่พักผ่อนและบันเทิงครบวงจร ประกอบด้วย เอ็กซิบิชั่นฮอลล์ รีเทล โรงแรม ออฟฟิศ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์

       สำหรับมาสเตอร์แพลนเวอร์ชั่นใหม่ “พอลล์” ตั้งเป้าหมายภายในครึ่งปีหลัง 2567 นี้ จะเปิดแผนการพัฒนาโครงการได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันในทางคู่ขนานได้เริ่มทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในส่วนของโรงแรมแล้ว โดยจะพัฒนาเป็นโรงแรมขนาด 400-500 ห้อง ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อขออนุญาตก่อสร้าง เมื่อทุกอย่างพร้อมจะได้เดินหน้าการก่อสร้างในทันที      “โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ คงใช้กระแสเงินสดที่เรามีอยู่อย่างเดียวไม่ได้ เราควรต้องมีพันธมิตรที่มีเงินทุนพร้อม มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มาร่วมพัฒนาด้วย เพราะบางธุรกิจเราก็ไม่มีความเชี่ยวชาญ เช่น รีเทล เราไม่ได้เลย และเราไม่ควรเอาโปรเจ็กต์ใหญ่มาทดลอง ต้องมีพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง เมื่อต้นปีที่แล้วได้คุยกับกลุ่มเซ็นทรัล แต่ยังไม่มีอะไรเป็นข้อสรุป ถ้าหากมาสเตอร์แพลนโครงการเสร็จแล้ว อาจจะต้องคุยกันอีกครั้ง ซึ่งการพัฒนาโครงการ จะทยอยลงทุน ไม่จำเป็นต้องพัฒนาทีเดียว” พอลล์กล่าว พร้อมกับย้ำว่าการพัฒนาโครงการเฟสใหม่ บนที่ดิน 200-300 ไร่ ที่กำลังจะเริ่มต้นนั้น ไม่ใช่โครงการสุดท้ายของเมืองทองธานี ยังมีแผนที่จะรีดีเวลลอปเมนต์เมืองทองธานีให้มีความเป็นเมืองมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการทุบอาคารเก่าและสร้างโครงการใหม่ บนพื้นที่ดินเดิมที่พัฒนาไป 20-30 ปีที่แล้ว จากตึก 1-2 ชั้น สร้างเป็นตึกแนวสูง เหมือนกับประเทศฮ่องกงและสิงคโปร์ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมของเมืองในปัจจุบัน และต้องใช้พื้นที่ให้เต็มศักยภาพ

      อย่างเช่น อาคารเอาต์เล็ต จะทุบแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อมาต่อยอดธุรกิจ ดังนั้นจึงทำให้ยังสามารถพัฒนาโครงการใหม่ๆ ในเมืองทองธานีได้อีกหลายโครงการและตลอดเวลา ซึ่ออาจจะไม่ใช่สิ้นสุดที่ยุคเรา ยังมีรุ่นลูกที่จะมารับไม้ต่อได้อีก

       นอกจากนี้ “พอลล์” ยังยกตัวอย่างอาคารเก่าของโรงแรมอีสติน เลคไซด์ ตั้งอยู่บนที่ดิน 7 ไร่ริมทะเลสาบ ขนาด 112 ห้องพัก ซึ่งปัจจุบันปิดให้บริการไปนานแล้ว แม้จะไม่รื้อทิ้ง แต่มีแผนจะขายต่อให้กับผู้ที่สนใจซื้อโรงแรมไปพัฒนาใหม่ โดยได้ตีมูลค่าขายรวมทั้งตึกและที่ดินอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท

      โดย “พอลล์” มองว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ก็ต้องปรับวิธีคิดและการทำงานใหม่ จากเมื่อก่อนสมัยคุณพ่อสร้างเมืองทั้งเมือง 4,000 ไร่ ได้คนเดียว แต่ยุคสมัยนี้ทำแบบเดิมไม่ได้แล้วต้องมีพันธมิตร มีพาร์ตเนอร์ ที่มีประสบการณ์ ร่วมกันลงทุนพัฒนา ซึ่งเป็นการปรับตามยุคสมัย ทั้งสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ที่สมัยนี้ เป็นการใช้ชีวิตอยู่บนมือถือ จึงเป็นอะไรที่ต้องทำให้เราต้องปรับให้เป็นยุคของเรามากขึ้น ขณะนี้เริ่มพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ลูกบ้านใช้จ่ายค่าต่างๆ ไม่ว่าค่าส่วนกลาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ต่อไปจะขยายไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น      เมื่อกลางปี 2566 เราเริ่มศึกษาเรื่องสมาร์ทซิตี้ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เพื่อดูแล 300,000 คนที่อาศัยอยู่ในนี้ รวมถึงนักธุรกิจและผู้ที่เข้ามาใช้บริการภายในพื้นที่อิมแพค เมืองทองธานี อีกปีละมากกว่า 10 ล้านคนโดยที่ผ่านมาได้วางระบบโครงสร้างพื้นฐานไว้บ้างแล้ว

อย่างเช่น สายไฟเบอร์ออปติกที่เราได้มีการวางรอบเมืองทองไว้อยู่แล้ว รวมถึงลงทุนสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูเพิ่ม 2 สถานี เชื่อมกับสายหลักจากสถานีเมืองทองธานี บริเวณห้างแม็คโคร ถนนแจ้งวัฒนะ ต่อเข้ามายังเมืองทองธานี จะมีสถานีบริเวณวงเวียนหน้าอิมแพค และสถานีลานริมทะเลสาบเมืองทองธานีเพื่อรองรับการจราจร ในยุคของเราจะพัฒนาเมืองทองธานี ให้เป็นเมืองทองสมาร์ทซิตี้

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย