ธปท.ห่วงท่องเที่ยวไม่ฟื้น ฉุด จ้างงาน-รายได้ ตกวูบ

15 มิ.ย. 2565 349 0

        นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. กังวลเรื่องการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะจะให้กลับมามีนักท่องเที่ยวระดับ 40 ล้านคนค่อนข้างเป็นไปได้ยาก และถ้าการท่องเที่ยวไม่ฟื้น ทำให้กระทบต่อการจ้างงานและรายได้ครัวเรือน ยิ่งทำให้เศรษฐกิจโดยรวมกลับมาได้ยาก โดยขณะนี้การท่องเที่ยวยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม แม้มีทิศทางที่ดีจากการเริ่มเปิดประเทศ ส่วนปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้หลังจากนี้ คือการส่งออกที่เป็นตัวฉุดให้ตัวเลขเศรษฐกิจดูดีขึ้นแต่การจ้างงานไม่ได้มาก โดยยืนยันโอกาสที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในไทยมีน้อยมากซึ่งโจทย์ต่อไป คือทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ไทยเจอผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาทั้งโควิด-19 และสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น คาดว่าปีนี้เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 6.2% ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ยังมีความไม่แน่นอน และผลกระทบจากต่างประเทศมีสูงขึ้น แนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือการสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างกันชนต่าง ๆ โดยวางไว้ 5 ด้าน คือด้านเสถียรภาพต่างประเทศ ปัจจุบันอยู่ในระดับแข็งแกร่ง หนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำ เงินทุนสำรองประเทศอยู่ในระดับสูง 2-3 เท่าของหนี้ต่างประเทศ ด้านเสถียรภาพการคลัง แม้ปัจจุบันหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นกว่า 60% ต่อจีดีพี แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นหากไม่มีมาตรการด้านการคลัง จีดีพีจะติดลบ 9%

          ส่วนอีกด้านคือเสถียรภาพราคา ซึ่งปัจจุบันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาด จากการเพิ่มขึ้นของหมวดพลังงานเป็นหลัก และเริ่มส่งผ่านไปยังหลายสินค้า และเห็นสัญญาณเริ่มความกว้างขึ้นในหลายหมวดสินค้า ทำให้ต้องมาดูแลเงินเฟ้อมากขึ้น เพราะอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้สะดุดได้ โดย ธปท. คาดเงินเฟ้อจะขึ้นสูงสุดในไตรมาส 3 ปีนี้ที่ 7.5% จากนั้น เริ่มทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 66 เป็นต้นไป

          ทั้งนี้เงินเฟ้อสูงในตอนนี้ได้กระทบกับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เพราะมีความมั่นคงทางการเงินน้อย ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ย ธปท. ของไทย ไม่ต้องตามต่างประเทศ แต่ช้าเกินไปไม่ดี แนวทางปรับดอกเบี้ย อย่าช้าเกินไปเพื่อจะไม่ต้องทำแรงเกินไป

          ด้านสุดท้าย คือ กลไกหรือกระบวนการดำเนินนโยบายที่ดี จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ต้องมีกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันเหมาะกับบริบท ต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนสร้างความสมดุล นโยบายต้องมาจากข้อมูลและประเมินผลเป็นอย่างไร นโยบาย ถูกต้อง แต่อาจไม่ได้ถูกใจ การทำนโยบายดูภาพรวมส่วนรวม ต้องมีความโปร่งใส ที่มานโยบายต้องชัดเจน ต้องอธิบายให้คนเข้าใจได้ว่าทำไมถึงทำอย่างนี้ ไม่ได้ทำถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง และต้องอธิบายสร้างความเข้าใจแก่คนได้ เป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ความกลัวเรื่องเงินเฟ้อและเงินฝืดพร้อม ๆ กัน หรือสแต็กเฟลชัน ขณะนี้ ราคาสินค้าขึ้น แต่จีดีพีไทยก็เติบโต แสดงว่ายังมีรายได้ เพียงแต่ว่าความสามารถกำลังซื้อจะลดน้อยลง แต่ภาวะเงินฝืด หมายความว่า ราคาสินค้าขึ้นจีดีพีก็ลด คนก็ว่างงาน ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจกำลังค่อย ๆ ฟื้น ส่วนกรณีสหรัฐอเมริกาจัดให้ไทยอยู่ในลิสต์ประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน เป็นเรื่องทางธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงไปมากแล้วว่า ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน และใช้แนวทางบริหารอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแบบมีการจัดการ

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย