ธปท.เบรกเงินเฟ้อพุ่งเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย

12 ก.ค. 2565 455 0

 

          ธปท.เบรกเงินเฟ้อพุ่งเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยกลุ่มเปราะบางอ่วม

          ผู้ว่าฯ ธปท. แจงเศรษฐกิจไทยฟืนช้ากว่าเพื่อน ชี้พิษโควิด-19 ซัดท่องเที่ยวสุดสาหัส คาดฟืนตัวใกล้ระดับก่อนไวรัสปะทุได้ช่วงไตรมาส 1/2566 รับขึ้นดอกเบี้ยกระทบกลุ่มเปราะบางอ่วม แต่มองผลเสียจากเงินเฟ้อหนักกว่า ย้ำบาทอ่อนจากปัจจัยภายนอก ขณะที่ขุนคลังเตรียมถกแบงก์ชาติ คุมดอกเบี้ยเงินกู้ ห่วงกระทบประชาชน

          นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “ก้าวใหม่เศรษฐกิจการเงินภาคใต้. ปรับกระบวนทัพรับกระแสโลก” ในหัวข้อ “ชีพจรเศรษฐกิจการเงินภาคใต้และความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม” ว่า ประเทศไทยเจอผลกระทบจากโควิด-19 ร้ายแรงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่งผลให้การฟืนตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะช้ากว่า โดยการฟืนตัวใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19 จะอยู่ในช่วงไตรมาส 1/66 แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์หลายด้านเริ่มดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 1/65 ขณะที่ไตรมาส 2/65 ก็น่าจะออกมาดี จากการบริโภคในประเทศที่โตต่อเนื่อง กิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าแต่ก่อน จากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆทำให้ ธปท. ปรับคาดการณ์จีดีพีในปีนี้โตที่ 3.3% และปีหน้า 4.2%

          ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการฟืนตัวทางเศรษฐกิจ คืออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยล่าสุดเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 7.66% ทำให้เงินเฟ้อกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นบริบทของนโยบายการเงินในปัจจุบันจึงต้องเปลี่ยนมาให้ความสำคัญในการดูแลสถานการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งจากกรอบที่ตั้งไว้ 1-3% นั้น บางช่วงอาจจะหลุดกรอบไปบ้าง แต่ในระยะปานกลางถึงระยะยาวจะยังอยู่ภายใต้กรอบดังกล่าว

          “ผมไม่เถียงว่าไทยหากมีการปรับดอกเบี้ยขึ้น จะกระทบทั้งครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพราะบ้านเราครัวเรือนหนี้สูง แต่ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มกระทบเขาหนักกว่า ค่าครองชีพเพิ่มผลกระทบครัวเรือนหนักกว่าผลกระทบจากดอกเบี้ยและภาระหนี้ขึ้น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

          ด้านเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 7 ปี โดยหลักๆ มาจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค โดยเป็นการอ่อนค่าในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น เช่น เยน วอน และเปโซ เป็นต้น ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าประมาณ 11% และยังไม่เห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่มีความผิดปกติ ซึ่งธปท. ก็มีข้อจำกัดในการที่จะเข้าไปดำเนินการตรงนี้ แต่สิ่งที่ไม่อยากเห็น คือ การปรับที่เร็วเกินไป เพราะผู้ประกอบการในภาคนำเข้าและส่งออกจะลำบากในการปรับตัว

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายให้ไหลออกจำนวนมากนั้น ธปท.ได้มีการจับตาอย่างใกล้ชิดขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยต้องรอผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน(กนง.) ในเดือน ส.ค. ซึ่งยอมรับว่าหากปรับขึ้นก็จะกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องหารือกับ ธปท.ในเรื่องของการกำกับดูแลดอกเบี้ยสินเชื่อของแบงก์เอกชนและรัฐเอง เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยเป็นภาระมากจนเกินไป

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย