ธปท.ยันตอนนี้รัฐต้องกู้เพิ่ม 1ล้านล้านพยุงเศรษฐกิจฟื้น 

24 ส.ค. 2564 557 0

          นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ทำแบบจำลองเพื่อเทียบระหว่างการกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท กับการไม่กู้เพิ่ม โดยข้อมูลพบว่าหากสนับสนุนให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มตอนนี้ที่ 1 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาได้รวดเร็วกว่าไม่ได้กู้ และสามารถชดเชยรายได้ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งช่วยให้ภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว และจะทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวเฉลี่ย 5 ปีข้างหน้าที่ 3.2% ซึ่งใกล้เคียงระดับศักยภาพ แต่หากไม่กู้เพิ่มจะทำให้จีดีพีขยายตัวไม่ถึง 3%

          ทั้งนี้แม้การกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท อาจทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไปกว่า 70% ต่อจีดีพีในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่เมื่อกู้เงินและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาเร็ว ทำให้จีดีพีขยายตัว พอถึงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหากรัฐบาลจะขยายฐานภาษีเพิ่มเติม ผ่านการใช้เทคโนโลยีและปฏิรูปภาษี ให้การเก็บรายได้จากภาษีดีขึ้นและเพิ่มขึ้น ซึ่งจากคาดการณ์อีก 5 ปี การจัดเก็บภาษีจะมีรายได้ต่อจีดีพีใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19 โดยเมื่อเทียบดูหากกู้เงินเพิ่มตอนนี้ในอีก 10 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะจะลดลง 5% เมื่อเทียบกับการไม่ได้กู้ ซึ่ง ธปท. ทำแบบจำลองขึ้นเพื่อให้เห็นภาพ แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล

          “เมื่อกู้เพิ่มและหนี้สาธารณะสูง ในระยะปานกลางจนถึงระยะยาว รัฐบาลต้องรัดเข็มขัดปฏิรูปรายได้ เพิ่มฐานภาษี ใช้เทคโนโลยีขยายฐานภาษี สิ่งที่ ธปท. พูดอาจไม่ใช่ขึ้นแวตอย่างเดียว อาจจะเพิ่มฐานภาษีอื่น ๆ เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี ย่อมทำได้มากกว่า ช่วยลดภาระการคลังในระยะยาวได้ด้วย ทั้งหมดเพื่อพยุงหลุมรายได้ครัวเรือน ช่วยธุรกิจฟื้นได้เร็ว แต่จากข้อมูลหากเพิ่มภาษีแวต 1% จะทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่ม 60,000 ล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะลดลงได้อีก 0.33% ต่อจีดีพี”

          น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยตอนนี้ คือ รายได้ครัวเรือนหายไป 3 ปี ตั้งแต่ปี 63-65 หายไป 2.6 ล้านล้านบาท และคนที่ได้รับผลกระทบจากการตกงาน ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นก่อนโควิด 1 ล้านคน, ผู้ว่างงานระยะยาว 1.7 แสนคน เพิ่มกว่า 3 เท่าตัว ทักษะการทำงานหายไป เมื่อเศรษฐกิจฟื้น แรงงานเหล่านี้จะกลับมาได้ยาก และหาแรงงานยากขึ้น ส่วนเด็กจบใหม่ ไม่เคยทำงานมาก่อน ช่วงโควิดเพิ่มขึ้นมาก 8.5 หมื่นคนมาอยู่ที่ 2.9 แสนคน และแรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนา 1.6 ล้านคน แม้มีงานทำที่ถิ่นภูมิลำเนา แต่รายได้หายไปค่อนข้างมาก จึงเกิดหลุมรายได้ขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โควิดอาจยืดเยื้อกว่าเดิม

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย