ท่องเที่ยวพลิกฟื้น ซื้อขาย โรงแรม พุ่ง ขาใหญ่ เปิดช้อป

23 ม.ค. 2566 334 0

 

          จับสัญญาณสถานการณ์ “ธุรกิจโรงแรมไทย” ในปี 2566 กำลังเข้าสู่โหมด “ฟ้าหลังฝน” แม้ท้องฟ้าในวันนี้จะไม่สดใสเหมือนเมื่อ 3 ปีก่อนก็ตาม

          จากวิกฤตโควิด-19 ระบาดลากยาวกว่า 3 ปี ทั่วโลกชัตดาวน์การเดินทาง ไร้ซึ่งนักท่องเที่ยว ทำให้ลมหายใจของผู้ประกอบการโรงแรมรวยริน บางรายทุนไม่หนา สายป่านไม่ยาว ทนแบกหนี้ไม่ไหว ต้องตัดใจขายธุรกิจให้กับทุนใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติที่จ้องช้อปตาเป็นมัน

          ถามว่ามีผู้ประกอบการโรงแรมล้มหายตายจากหรือถูกกว้านซื้อไปมากน้อยสักแค่ไหน มีภาพสะท้อนจากลูกสาวเจ้าสัวเจริญ วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC บอกว่า ช่วงวิกฤตโควิดมีโรงแรมมาเสนอขายให้กว่า 200 แห่ง มีหลากหลายขนาด ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทาง AWC มีปิดดีลซื้อขายไปแล้วหลายแห่ง ทั้ง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต และกำลังศึกษาซื้อเพิ่มเติม ซึ่งเตรียมงบ 40,000 ล้านบาท สำหรับการซื้อกิจการ แต่ต้องดูให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ AWC

          ว่ากันว่าในห้วงโควิดระบาดหนัก ตลาดเป็นของ “ผู้ซื้อ” ที่สามารถดีดลูกคิดเคาะราคาได้อย่างที่ต้องการ แต่วันนี้สถานการณ์พลิกกลับตลาดเป็นผู้ของ “ผู้ขาย” สามารถอัพราคาได้สูงขึ้น หลังรีโอเพนนิ่งประเทศ ทั่วโลกหลั่งไหล เข้ามาเที่ยวไทย ทำให้ธุรกิจโรงแรมกลับมาคึกคักในรอบ 3 ปี โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวเป็นหมุดหมายของต่างชาติ มีอัตราเข้าพักและค่าห้องดีดกลับใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด

          ณัฏฐา คหาปนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อัพเดตว่า สถานการณ์ซื้อขายโรงแรมในไทย ยังคงมีอย่างต่อเนื่องจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ แต่ตอนนี้หมดเวลาซื้อของถูก คงไม่เห็นผู้ประกอบการลดราคา 35-40% เหมือนช่วงโควิด เพราะตลาดเป็นของผู้ขาย และราคาเสนอขายก็ขยับขึ้นมาใกล้เคียงปี 2562 หลังธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ซึ่งพื้นที่มีความต้องการสูงเป็นกรุงเทพฯและเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พัทยา ขนาด 150 ห้องขึ้นไป ล่าสุดมีอยู่ระหว่างการเจรจาประมาณ 3-4 แห่ง มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท

          สอดคล้องกับ ภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า ภาพรวมการซื้อขายโรงแรมในไทยช่วง 10 ปี ที่ผ่านมามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 111,168 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 11,116 ล้านบาท โดยปี 2560-2561 มูลค่าซื้อขายสูงกว่า 20,000 ล้านบาท เพราะเป็นช่วงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้นักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ สนใจเข้าซื้อโรงแรมอย่างมาก โดยเฉพาะ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พัทยา กระบี่ และเชียงใหม่ เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของต่างชาติ

          สำหรับปี 2565 ที่ผ่านมา “ภัทรชัย” เผยมีมูลค่าซื้อขายสูงถึง 11,151 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และสมุย และมีโรงแรมอยู่ระหว่างเจรจาซื้อขายอีกจำนวนมาก ขณะที่ในปี 2566 คาดจะมีมูลค่าซื้อขาย 15,000 ล้านบาท เนื่องจากตลาดโรงแรมไทยยังคงได้รับความสนใจสูงจากนักลงทุนคนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ มีการปิดดีลการซื้อขายโรงแรมกันอย่างคึกคัก เช่น สุขุมวิทตอนกลาง สีลม หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ และยังมองหาโรงแรมที่ราคาเหมาะแก่การลงทุน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่ เพื่อนำมาปรับปรุงและเปิดบริการอีกครั้ง รองรับนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งปีนี้คาดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 25 ล้านคน จะเป็นปัจจัยบวกให้ธุรกิจโรงแรมไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง

          ฝั่งเสียงสะท้อนของ มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย มองว่า ตั้งแต่เกิดโควิดจนถึงปัจจุบันยังมีการซื้อขายโรงแรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนักลงทุนรายใหญ่คนไทยและต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 3-4 ดาวเมืองท่องเที่ยว เช่น สมุย การซื้อขายขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละราย

          ท่ามกลางธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัว “มาริสา"บอกว่า เป็นการฟื้นตัวในวิกฤตขาดแคลนแรงงาน เช่น ภูเก็ต ยังขาด 8,000 คน ขณะที่ต้นทุนยังสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว จากการแย่งซื้อตัวแรงงาน เช่น พนักงานปูเตียง นวดสปา และค่าไฟที่เพิ่มขึ้น 12% ทำให้การกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง ถึงรายได้เพิ่ม แต่กำไรก็ลดลง ทำให้ทั้งปีนี้ผู้ประกอบการแค่พออยู่ได้ คาดว่าในปี 2567 ถึงจะฟื้นตัวเต็มที่

          ขณะที่ พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังขยายการลงทุน อสังหาฯมาสู่ธุรกิจโรงแรมภายใต้บริษัท “วัน ออริจิ้น” มีโรงแรมทั้งลงทุนเองและซื้อกิจการอยู่ในพอร์ต 8 แห่ง จำนวน 3,000 ห้อง และในปีนี้เตรียมจะซื้อเพิ่มอีก 5 แห่งในเมืองท่องเที่ยว โดยปัจจุบันมีหลายรายนำโรงแรมมาเสนอขายให้ขนาด 100-500 ห้อง มีทั้งกรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย และเชียงใหม่ ที่เริ่มมีเข้ามาหลังเห็นสัญญาณจากนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาหลังเปิดประเทศ

          สำหรับราคาเสนอขายนั้น “ซีอีโอออริจิ้น” ประเมินเมื่อเทียบกับช่วงโควิดปรับขึ้น 30-40% ซึ่งแม้ราคาขายแพงขึ้นแต่เป็นการลงทุนที่ไม่เสี่ยงเหมือนช่วงโควิด เพราะการท่องเที่ยวและบริการเริ่มฟื้นตัว ดูจากอัตราการเข้าพักโรงแรมของบริษัทดีขึ้นถึง 80% ค่าห้องเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวมากกว่าช่วงพรีโควิดไปแล้ว เช่น จ.ภูเก็ต เพิ่ม 3 เท่า กรุงเทพฯ เพิ่ม 1.5 เท่า ปีนี้คาดค่าห้องจะเพิ่มอีก 20% แต่ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานมากถึง 30% เช่น คนปูเตียง ทำความสะอาด ขณะเดียวกันการแข่งขันซื้อตัวแรงงานก็สูง ทำให้มีต้นทุนสูงตามไปด้วย

          ด้านยักษ์ใหญ่ไมเนอร์ ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยไมเนอร์เป็นผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ในธุรกิจโรงแรม มีคนเสนอขายโรงแรมให้ แต่เราจะพิจารณาซื้อหรือไม่ ต้องดูให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้วย เช่น การเงิน การปฏิบัติการ ระดับหนี้สินต่อทุนไม่สูง โดยที่ผ่านมาเน้นการรับจ้างบริหารมากกว่าไปซื้อเอง เพื่อลดต้นทุน

          อย่างไรก็ตาม ไมเนอร์ได้เซ็นสัญญาขยายธุรกิจโรงแรมใน 2-3 ปีกว่า 70 แห่ง ส่วนใหญ่ อยู่ต่างประเทศ มีทั้งลงทุนเองและรับจ้างบริหาร เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีกว่า 520 แห่งทั่วโลก รองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ ดูจากอัตราค่าห้องในไตรมาส 4 ปี 2565 แซงหน้าปีก่อนมีโควิดแล้ว ไม่ว่าที่มัลดีฟส์ ออสเตรเลีย และไทย

          ถึงวันนี้ “นักเที่ยวชาวจีน” ยังเข้ามาไม่เต็มที่ ดัชนีซื้อขายโรงแรมยังพุ่งทั้งกระดาน หากนักเที่ยว “อาตี๋-หมวย” ทะลักเข้ามาเต็มสูบ น่าจะเป็นอีกแรงผลักดันให้การซื้อขายโรงแรมคึกคักเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย