ดัชนีอสังหาฯไตรมาส4/64 ขยายตัวต่อเนื่องสวนทางศก.หดตัว

26 ม.ค. 2565 629 0

         ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยผลสำรวจดัชนีราคาที่ดิน กทม.-ปริมณฑลไตรมาส 4/64 พบค่าดัชนีเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง โดยค่าดัชนีราคาที่ดินไตรมาส 4/64 มีค่าเท่ากับ 339.0 จุด เพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เปิด 3 อันดับ ทำเลที่ดินที่ราคาปรับตัวสูงสุด 1. แนวรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิทเพิ่มขึ้น 15% 2. แนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม เพิ่มขึ้น 14.6% 3.แนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 12.7%

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า รายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ประจำไตรมาส 4 ปี 64 มีค่าดัชนีเท่ากับ  339.0 จุด เพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าราคาที่ดินยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเป็นไตรมาสที่ 6 แล้ว นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 63

          ทั้งนี้ หากดูค่าเฉลี่ยอัตราขยายตัวย้อนหลังไป 5 ปี ในช่วงปี 58 -62 ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ดัชนีราคาที่ดินเปล่าในแต่ละไตรมาสปรับตัวเพิ่มขึ้นค่าเฉลี่ย 14.8% ต่อไตรมาส เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.1% ต่อไตรมาส ซึ่งแสดงว่าแม้ราคาที่ดินเปล่าฯ จะยังมีการเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ซึ่งน่าจะเป็นผลจากปัจจัยสำคัญหนึ่งคือ ความคืบหน้าของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่ใกล้จะแล้วเสร็จในปี 65

          โดยมีข้อสังเกตที่ภาพรวมสถานการณ์ของราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เริ่มแพร่ระบาดในไตรมาส 2 ปี 63 มาจนถึงไตรมาส 4 ปี 64 ซึ่งถือว่าเป็นการแพร่ระบาดช่วงต้นของสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้ดัชนีราคาของที่ดินเปล่าฯในแต่ละไตรมาสเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัวลง โดยเฉลี่ยเหลือ13.8% ต่อไตรมาสเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงต่อเนื่องกันถึง 6 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 63 อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิด การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ต่อเนื่องกันถึง 4 ไตรมาส ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของแต่ละไตรมาสเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.1%  ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ต่อเนื่องกันถึง 4 ไตรมาสเช่นกัน

          นอกจากนี้ ยังจะสังเกตได้ว่าในไตรมาส 4 ปี 64 นี้ ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่อยู่ในกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกที่ราคามีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น เนื่องจากมีรถไฟฟ้าหลายสายที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ใกล้จะแล้วเสร็จ โดยราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในทำเลที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านในไตรมาสนี้ พบว่า 3 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ

          อันดับ 1 ได้แก่ BTS สายสุขุมวิท ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 15.0%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านในเขตจตุจักร บางนา พญาไท และพระโขนง เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก หากเปรียบเทียบย้อนหลังมาประมาณ 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เพิ่มขึ้นมากถึง 305.8% หรือเฉลี่ยปีละ 30.6%

          อันดับ 2 ได้แก่ สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และในไตรมาสนี้ มีความคืบหน้าการก่อสร้างไปแล้ว 89.5% มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 14.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านในเขตบางกะปิ มีนบุรี และสะพานสูง เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก หากเปรียบเทียบย้อนหลังมาประมาณ 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เพิ่มขึ้น 325.6% หรือเฉลี่ยปีละ 32.6%

          อันดับ 3 ได้แก่ สายสีเหลือง (ลาดพร้าวสำโรง) ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และในไตรมาสนี้ มีความคืบหน้าการก่อสร้างไปแล้ว 88.7% และมีแผนที่จะเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 65 มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 12.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านในเขตบางพลี  ประเวศ และเมืองสมุทรปราการ เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก หากเปรียบเทียบย้อนหลังมาประมาณ 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เพิ่มขึ้น 273.7% หรือเฉลี่ยปีละ 27.4%

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย