ชู อีอีซี โซนนิ่งบ้านหรูดึงมหาเศรษฐีทั่วโลก นายกอสังหาฯชลบุรีหนุนแก้กม.ตั้งสมาร์ทซิตี้-ให้สิทธิพิเศษดึงทุนตปท.
อสังหาริมทรัพย์
ปัญหาการหดตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจโลกและ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคว6ด-19 ทำให้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลมีการส่งหนังสือเชิญนักธุรกิจในทุกภาคส่วน รวมถึงตัวแทนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้ามาร่วมหาแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงดังกล่าวมีการนำเสนอข้อแนะนำด้านต่างๆ จำนวนมาก หนึ่งในจำนวนนั้นคือ การ ฟื้นฟูตลาดอสังหารมทรัพย์
ล่าสุด “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงโอกาสของประเทศไทย ในการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจในรายการแบไต๋ ในช่อง YouTube ว่า ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดอยู่ทั่วโลก มีเพียงประเทศไทยที่ควบคุมและป้องกันการ ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับ 1 ของโลก การรักษาผู้ติดเชื้อในประเทศทำได้ดีที่สุดในโลก แม้กระทั่งประเทศไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศโซนร้อนด้วยกันแต่จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมามากกว่าประเทศไทย สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทย มีศักยภาพและคุณภาพด้านการแพทย์ และสาธารณสุขที่ได้ยอดเยี่ยม
ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ คือ โอกาสและเป็นจุดแข็งของ ประเทศ ซึ่งไทยต้องนำมาทำการตลาด โฆษณา สื่อสารออกไปให้ทั่วโลกรับรู้ว่าประเทศไทยมีดีอะไร เก่งอย่างไร มีฝีมืออย่างไร ในการบริหารจัดการ ระบบสาธารณสุข โรงพยาบาลของไทยมีความยอดเยี่ยมอย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
ในวันนี้ การดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้ง่าย และเร็วที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว แต่ต้องเข้มงวดด้านความปลอดภัย มีการคัดกรองนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด คัดเลือกกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ มีกำลังซื้อสูง และต้องการเข้ามาอยู่อาศัยระยะยาว หรืออยู่เป็นเวลานาน หรือต้องการเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย เพราะประเทศไทยปลอดภัย แต่หากเกิดมีการป่วย หรือติดเชื้อประเทศไทยก็มีโรงพยาบาลที่พร้อมรองรับและรักษาได้เป็นอย่างดี
“วันนี้คือโอกาสที่ดีของประเทศไทย อย่ารอจน ให้โควิด-19 รักษาหายแล้วจึงค่อยเปิดประเทศ หรือเริ่ม ทำตลาด เริ่มประชาสัมพันธ์ แต่ต้องทำตั้งแต่วันนี้ ดึง นักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย”
นอกจากนี้ ต้องพยายามดึงเศรษฐีทั่วโลกเข้ามา ซื้อบ้าน ซื้อที่ดินในประเทศ ดึงคนเก่งๆ จากทั่วโลกเข้า มาอยู่อาศัยในประเทศ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ถ้ามีเศรษฐี 1 ล้านคนมาซื้อบ้านหลังละ 1 ล้านเหรียญ เท่ากับว่ามีเม็ดเงินเข้าประเทศกว่า 4 ล้านล้านบาท มาซื้ออสังหาฯในประเทศดึงเม็ดเงินเข้ามาได้เท่ากับ งบประมาณแผ่นดิน 2 ปี สร้างเม็ดเงินมหาศาล ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยจะฟื้นตัวขึ้นในทันที หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็ไม่มีสถาบันการเงินก็ไม่ต้องกังวลปัญหาหนี้เสีย
“สหรัฐอเมริกามีเศรษฐีมากที่สุดในโลกหากดึง ให้มาซื้ออสังหาฯ มาใช้ชีวิตในประเทศไทยที่มีความ ปลอดภัยจากโรคระบาดได้จะมีเม็ดเงินเข้ามาจำนวนมาก จีนมีเศรษฐี 10% ก็เท่ากับ 100 กว่าล้านคนแล้ว เศรษฐีของอินเดีย 10% ก็มี 100 ล้านกว่าล้านคน ถ้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยที่มีความปลอดภัย มาพักอาศัย พักร้อน ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถทำงานในอยู่ประเทศไทยผ่านระบบออนไลน์ได้ ก็จะทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวได้มากกว่าที่เคยเป็นมา”
ส่วนความปลอดภัยของประชาชนไทยที่จะตกใจตื่นกลัวกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่น่ากังวลเพราะเศรษฐีพวกนี้มีความตื่นตัวระมัดระวังตัว การเดินทาง ก็เป็นไม่ปะปนกับคนทั่วไป โอกาสของการแพร่เชื้อ ต่ำมาก แต่ก็ไม่ควรประมาท ดังนั้น ต้องได้รับการ ตรวจเช็กจากโรงพยาบาลที่เป็นที่ยอมจากประเทศ ต้นทางและมีการันตีว่าปลอดเชื้อก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และเป็นการป้องกันในเบื้องต้น
สำหรับความกังวลเกี่ยวกับการเข้ามาถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ จำเป็นหรือไม่ จะต้องมีการแก้กฎหมายรองรับหรือไม่นั้น ..?
“อยากบอกว่าการแก้กฎหมายทั้งประเทศเป็น เรื่องยุ่งยาก เพราะฉะนั้นกำหนดโซนนิ่งในการเปิดให้ ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ โดยในช่วงแรกเสนอให้ใช้ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลสามารถแก้กฎหมายได้ โดยเปิดให้เศรษฐีที่ต้องการ เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศ กำหนดให้ต้องนำเงินมาฝากในสถาบันการเงินในสังกัดรัฐบาลไทย ทำให้รัฐบาลมีเงินเข้ามาในทันที”
นอกจากเศรษฐีแล้วกลุ่มคนที่ควรดึงเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศคือ กลุ่มคนเก่งๆ ในธุรกิจสตาร์ทอัป ก็เป็น อีกหนึ่งกลุ่มที่ควรจะดึงเข้ามาหากได้สัก 5 ล้านคนก็จะยิ่งเป็นผลดี ขณะเดียวกันก็ควรออกกฎหมายสนับสนุนและเอื้อต่อการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ของคนกลุ่มนี้ เพื่อให้มาลงทุนและใช้ชีวิตในประเทศไทย ทั้งนี้แม้ว่าในโซนเอเชียนี้จะมีสิงคโปร์เป็นประเทศคู่แข่งสำคัญ ที่ทำให้มีกลุ่มสตาร์ทอัปมาลงทุนในประเทศไทยน้อย ปัญหานี้แก้ได้ไม่ยาก เพราะเราสามารถแข่งกับสิงคโปร์ได้ โดยการเปิดทางให้มากกว่าที่สิงคโปร์มีให้ เพื่อดึงกลุ่มสตาร์ทอัปเข้ามา
โดยในจำนวน5ล้านคนจากกลุ่มสตาร์ทอัประดับโลกที่เข้ามาดึงมานั้น ก็เพื่อให้สอนบุคลากรในประเทศ เพิ่มศักยภาพคนในประเทศ นอกจากนี้ต้องมีการออกกฎหมายเอื้อต่อกองทุนท็อปๆ ระดับโลกเข้ามาในประเทศ ไทย เพื่อนำเข้ามาเงิน นำเข้าบุคลากรที่มีความรู้ และนำเข้าตลาดมาไว้ในประเทศ เพราะกองทุนเหล่านี้สร้างสตาร์ทอัปมาหลายรุ่นแล้ว เมื่อมีทุกอย่างครบ จะเป็นแม่เหล็กดึงคนเก่งเข้ามาในประเทศได้ไม่ยาก เมื่อดึงคนรวย คนเก่งๆ มาอยู่ในประเทศไทย ทำงานจากประเทศไทยผ่านระบบออนไลน์ แต่ใช้ชีวิตในประเทศไทย ก็จะ ผลักดันให้ในอนาคตกองทุนต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย
“ผมเคยถามหลายๆ คนว่าจะให้ใช้สัญชาติประเทศต่างๆเข้าสนใจใหม่ เขาบอกว่าไม่เอา แต่ถ้าให้ใช้สัญชาติไทยเข้าเอา เพราะอยู่ประเทศไทยมีความสุข วัฒนธรรมยอดเยี่ยม คนไทยไม่เคยรังเกียจใคร คนไทยไม่เคยต่อต้านศาสนา ไม่เคยรังเกียจแบ่งแยกเชื้อชาติไหน คนไทยยิ้มแย้มแจ่มใส อัธยาศัยดี เมืองไทยน่าอยู่ แล้วทำไมเราไม่ใช้ข้อดีนี้ไปดึงเอาคนเก่งๆในโลกมาเป็นคนไทย”
ด้าน “มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ข้อเสนอแนะ ของท่านเจ้าสัว “ธนินท์” ให้ดึงกลุ่มมหาเศรษฐี และ กลุ่มสตาร์ทอัปเก่งๆ เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในอีอีซี จะช่วย ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ เป็นข้อเสนอแนะที่ดีและจะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่คำถามคือ…!!!
. มหาเศรษฐี และกลุ่มสตาร์ทจะได้อะไร..?
. หรือรัฐบาลมีข้อเสนออะไร ที่จะดึงดูดให้กลุ่ม มหาเศรษฐีเหล่านั้นเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ .?
“ปัจจัยที่จะดึงดูดเศรษฐี กองทุน และกลุ่ม สตาร์ทอัปเข้ามา คือ การให้สิทธิพิเศษที่ส่งเสริมการลงทุนและการเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย เช่นการให้ สิทธิพิเศษด้านภาษี การออกกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุน แก่กลุ่มทุนต่างชาติ การให้สิทธิพิเศษการถือวีซ่าระยะ ยาว 5 ปีหรือ 10 ปี เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทำ”
โดยเฉพาะการดึงกลุ่มสตาร์ทอัปเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศ เพื่อหวังผลในการปลุกปั้นสตาร์ทอัปรุ่นใหม่นั้น รัฐบาลจำเป็นต้องวางโครงสร้างในการรองรับการบ่ม เพราะสตาร์ทอัปรุ่นใหม่ในระยะยาว เนื่องจากการบ่มเพาะสตาร์ทอัปรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นนั้นโอกาสสำเร็จน้อย แต่หากสามารถทำได้สำเร็จจะสร้างประโยชน์ได้มาก ดังนั้น จึงต้องใช้ระยะเวลาและงบประมาณในการผลักดันค่อนข้างมาก หากมีเอกชนไทยเข้าร่วมในการบ่มเพาะด้วย จะส่งผลดีต่อการสร้างสตาร์ทอัปรุ่นใหม่ได้มากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศจีนที่มีการสร้างไฮเทคซิตี้ เพื่อรองรับ การสร้างสตาร์ทอัปรุ่นใหม่
ส่วนการดึงกองทุนเข้ามาในประเทศไทยนั้น ก่อนหน้าสมาคมอสังหาฯ ได้เสนอแนวคิดดังกล่าวในช่วง ที่ภาคธุรกิจดังกล่าวเดินทางเข้าพบและหารือเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เสนอให้รัฐจัดทำ โครงการสมาร์ทซิตี้ และมีหน่วยงานเฉพาะในการเจรจาชักชวนให้กองทุนต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในฮ่องกงย้ายฐานเข้ามาตั้งศูนย์กลางกองทุนและศูนย์กลางการเงินอยู่ในประเทศไทย ซึ่งหากดำเนินการจัดตั้งโครงการสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองศูนย์กลางการเงินได้จริง โดยรัฐสามารถเชื่อมต่อสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างต่างๆร่วมกัน เพื่อดึงกลุ่มกองทุนและสตาร์ทอัปเข้ามาอยู่ด้วยกันได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งใน เป้าหมายที่ได้รับความสนใจจากกองทุนและบริษัทการเงินต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง เนื่องจากต้องการหาทางออก หลังถูกรัฐบาลปักกิ่งกดดัน เพราะไม่ต้องการอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาลปักกิ่ง (จีน) แม้จะมีสิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่พร้อมอ้าแขนรับ พร้อมให้สิทธิพิเศษทางภาษี เพื่อดึงดูดกองทุนและธุรกิจการเงินจากฮ่องกงเข้าได้ตั้งศูนย์กลางการเงินแต่ หากเทียบศักยภาพที่ตั้งและยุทธศาสตร์ที่ตั้งของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นศูนย์กลาง และประตูสู่กลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยก็มีความได้เปรียบ หากรัฐบาลมีการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงิน หรือสมาร์ทซิตี้ และให้สิทธิพิเศษทางภาษีและมีกฎหมายที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจเชื่อว่าจะสามารถดึงกลุ่มธุรกิจการเงินและกองทุนจากฮ่องกงมาตั้งศูนย์กลางการเงินในประเทศไทยได้ไม่ยาก
สำหรับข้อเสนอให้ดึงมหาเศรษฐีจากทั่วโลกเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย โดยให้โซนนิ่งไว้ในพื้นที่อีอีซี นั้นส่วนตัวเห็นด้วยและสนับสนุนอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันนี้ ก็มีการพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวราคาแพงกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อขายในรูปแบบสัญญาเช่าระยะยาวให้กับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะขายให้กับกลุ่มคนจีน ที่ส่งลูกเรียนต่อในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย หรือเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตในประเทศไทย รวมถึงกลุ่มชาวจีนที่นิยมเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทย
โดยบริษัทผู้พัฒนาโครงการเหล่านั้น นายทุน ผู้พัฒนาไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนจีนที่เข้ามาตั้งบริษัท ร่วมทุน โดยใช้ชื่อของคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 51% แต่ผู้ถือหุ้นคนไทยนั้นไม่ได้เป็นผู้ลงทุนเป็นเพียง นอมินีที่รับจ้างถือหุ้นลมเท่านั้น ทำให้รายได้จากการประกอบธุรกิจในส่วนนี้ไม่ได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย การจัดเก็บภาษีก็ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แทบเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจใต้ดิน โดยพื้นที่ที่มีการพัฒนาและขายให้ คนจีนในรูปแบบนี้พบมากในพื้นที่เมืองพัทยา เชียงใหม่ เชียงราย และหลายๆ จังหวัดในภาคอีสาน และภาคใต้
“การจ้างนอมินีคนไทยให้ถือหุ้นในบริษัทร่วมทุน เพื่อพัฒนาบ้านขายให้กับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ รายได้ที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในเมืองไทยแต่เข้ากระเป๋าบริษัทจากประเทศจีนที่เข้ามาดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว บางรายไม่ได้ใช้กระทั่งวัสดุก่อสร้างในประเทศแต่เป็นการนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากจีนเข้ามาก่อสร้างโครงการ ลักษณะการดำเนินธุรกิจเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับทัวร์ศูนย์เหรียญที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก่อนหน้านี้ แถมยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและตลาดอสังหาฯ ไทยอย่างมาก”
ดังนั้น หากมีโครงการที่ภาครัฐสนับสนุนอย่าง ชัดเจน มีการแก้กฎหมายและการออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงกลุ่มมหาเศรษฐีเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย และตรวจสอบในการพัฒนาโครงการดังกล่าว จะทำให้สามารถดึงธุรกิจร่วมทุนที่มีนอมินีคนไทยถือหุ้นเข้ามาไว้บนดิน ซึ่งจะช่วยให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังช่วยให้เกิดการแข่งขันอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ควรมีการแก้กฎหมายเช่าซื้อระยะยาว เพิ่มระยะเวลาการถือครองกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้เช่าชาวต่างชาติ จาก 30 ปีบวก 30 ปี เช่น ให้ขยายระยะเวลาเช่าเป็น 90 ปี หรือ 40 ปีบวก 50 ปี ซึ่งรูปแบบนี้ควรทำพร้อมกันทั้งหมดทั่วประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะ บางพื้นที่ หรือโซนนิ่งไว้เฉพาะในพื้นที่ อีอีซี
“ที่ผ่านมาผังเมืองในร่างผังเมือง อีอีซี ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการถือครองกรรมสิทธิ์ การเช่าอสังหาฯระยะยาว โดยในกฎหมายกำหนดให้กรรมสิทธิ์ระยะยาวไว้ให้ถือครองเป็นระยะเวลา 49 ปี บวก 50 ปี แต่ผู้ถือครอง ต้องเป็นโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากบอร์ด อีอีซี ใน 10 อุตสาหกรรมที่กำหนดไว้จึงจะได้สิทธิ์สูงสุด อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นข้อกำหนดเดิม ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบันมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือไม่ ต้องรอดูกันอีกครั้งหนึ่ง”
นายมีศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สมาคมอสังหาฯ ได้มีการเสนอรัฐบาลให้นำเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา เพื่อแก้ปัญหาแล้ว ซึ่งจากการติดตามของสมาคมฯ ทราบว่าเรื่องดังกล่าวมีการหารือและพิจารณาอย่างต่อเนื่องและ มีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนของการเสนอให้สิทธิพิเศษกับชาวต่างชาติที่เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยราคาแพงในประเทศไทย โดยรัฐบาลพิจารณาในกลุ่มบ้านระดับราคา8ล้านบาทขึ้นไป แต่ทางสมาคมอสังหาฯ เสนอให้ปรับลดระดับราคาลงมาที่5ล้านบาท เนื่องจากบ้านราคาแพงระดับ 8 ล้านบาทขึ้นไปในต่างจังหวัดมีจำนวนน้อยมาก จึงไม่น่าจะส่งผลดีต่อตลาดที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด
ขณะเดียวกัน สมาคมอสังหาฯยังได้เสนอให้ดึงเศรษฐีในประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่ม CLMV เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัย หรือเข้ามาใช้ชีวิต ใช้จ่ายในประเทศไทย โดยให้สิทธิพิเศษการถือวีซ่านานขึ้น ภายใต้เงื่อนไขการให้สิทธิพิเศษเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง เนื่องจากโดยปกติแล้วกลุ่มเศรษฐีเหล่านี้มีการเดินทางเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองไทยอยู่เป็นประจำ และมีการใช้จ่ายสูงมาก นอกจากนี้ยังเสนอให้เปิดเกาะขนาดเล็ก ในภาคใต้หรือเกาะลูกในจังหวัดภูเก็ต บางเกาะให้เป็นพื้นที่พิเศษรองรับการเข้ามาพักอาศัยของกลุ่มมหาเศรษฐีระดับโลก โดยดำเนินการในรูปแบบเดียวกับเกาะเวอร์จิ้นในสหรัฐอเมริกา เพื่อจับกลุ่มมหาเศรษฐี หรือ Ultar Luxury ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรสนิยมและสังคมในรูปแบบเฉพาะตัว เข้ามาท่องเที่ยวและพักอาศัยใช้ชีวิตในประเทศไทย โดยรัฐต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในการรองรับ เช่น สนามบินขนาดเล็ก รองรับเครื่องบินส่วนตัวได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้มหาเศรษฐีกลุ่มนี้เข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทย
สำหรับการให้สิทธิพิเศษแก่เศรษฐี และชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย นั้นอยากเสนอให้รัฐบาล นำข้อได้เปรียบในเรื่องของระบบสาธารณสุข มาใช้เป็นจุดขาย เนื่องจากระบบสาธารณสุขไทยได้รับ การยอมรับอย่างมากจากทั่วโลก โดยเฉพาะหลังการควบคุมและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งประเทศ ไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่ควบคุมและป้องกัน และเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เร็วที่สุดในโลก เช่น การเชื่อมโยงบิลทรานส์เฟอร์ หรือการเชื่อมโยงสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล ให้แก่ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้ชีวิตหรืออยู่อาศัยในประเทศไทย และสามารถส่งบิลค่ารักษาพยาบาลไปเรียกเก็บเงินจากระบบประกันสังคมในประเทศต้นทางของชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาตัวในประเทศไทยได้
“รูปแบบการรักษาพยาบาลของคนต่างชาติในประเทศไทยและส่งบิลเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากประเทศต้นทางนั้น ประเทศไทยเคยทำสำเร็จมาแล้วในสมัยที่เปิดนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น”
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา