จุฬา ดันอีอีซีต้นแบบพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน มั่นใจการเมืองเปลี่ยนยังไปต่อช่วยฟื้นศก.

05 เม.ย. 2566 359 0

          จุฬา เลขาฯอีอีซี ชูแผนบริหารงานปัน “อีอีซี” ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน เป็นความหวังของคนไทย และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนและประชากรนานาชาติ เล็งทบทวนแผน พัฒนาใหม่ให้สอดรับกับทิศทางโลก มั่นใจการเมืองเปลี่ยนแต่อีอีซีต้องไปต่อเพราะมีประโยชน์ต่อศก.

          นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยในการแถลงวิสัยทัศน์หลังเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ อีอีซี เป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เม.ย 2566 ว่า แผนบริหารงานปี 2566- 2570 มุ่งทำให้อีอีซี ก้าวไปสู่ “ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน เป็นความหวังของ คนไทย และเป็นเป้าหมายของนักลงทุน และประชากรนานาชาติ” ซึ่งภารกิจงานเร่งด่วนที่จะดำเนินการ คือ ทบทวนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอีอีซีใหม่ให้สอด คล้องกับบริบทโลกในอนาคตโดยจะศึกษาถึงผลกระทบจากโควิด 19 การถดถอยของเศรษฐกิจโลก การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงแนวโน้มและทิศทางของเทรนด์อุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อทำให้ แผนภาพรวมของอีอีซีฉบับใหม่รองรับการลงทุนใน 5 ปี(ปี2566-70) เพิ่มขีดความสามารถในการชักจูงนักลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ สอดคล้องรับกับแนวโน้มสถานการณ์การลงทุนของโลก และของประเทศไทย

          “กรณีที่ถามว่าหากรัฐบาลใหม่ไม่เอาอีอีซีเราจะทำอย่างไร อีอีซีเป็นกฎหมายถ้ารัฐไม่เอาคือต้องฉีกกฎหมายทิ้ง แต่เชื่อว่าคนในพื้นที่อีอีซีไม่ยอม เพราะโครงการที่เกิดมันเป็นประโยชน์ เชื่อว่าอย่างไรอีอีซีก็ต้องไปต่อ” นายจุฬากล่าว

          ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาการลงทุนและกิจกรรมในอีอีซีชะลอตัวเล็กน้อยตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ในปี 2566 จะมีการโรดโชว์ต่างประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยจะเริ่มกลางเม.ย.นี้ ที่จะมีการเดินทางไปยังอิตาลี  เพื่อพบนักลงทุนในอุตสาหกรรมยา เนื่องจากอิตาลีมีบริษัทยารายใหญ่ ขณะที่ไทยมีจุดแข็งในอุตสาหกรรมปลายน้ำคือบุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาล ซึ่งหากได้นักลงทุนที่เป็นผู้ผลิตเข้ามาจะทำให้ไทยเป็น Medical Hub ตามแผน ควบคู่ไปกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อพบนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

          สำหรับเป้าหมายการลงทุนในอีอีซีปี 2566-2570 อยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 4.4-5 แสนล้านบาท เป็นส่วนของการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 2 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 แสนล้านบาท/ปี และที่เหลือคือการยกระดับชุมชนและประชาชน โดยแผนดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะโฟกัสการดึงแบบคลัสเตอร์ใน 5 คลัสเตอร์หลักได้แก่ การแพทย์สุขภาพ นวัตกรรมดิจิทัล/อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เศรษฐกิจ BCG และบริการ ซึ่งทั้ง 5 คลัสเตอร์นี้จะเป็น ตัวมาช่วยขับเคลื่อน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve)

          “อีอีซี ยังคงกำหนดเป้าหมายหลักดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท กระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต 5% ต่อปี ที่เป็นเป้าหมายเดิมที่วางไว้และจะต้องผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายเราวางเป้าดึงการลงทุน 4 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้น การไปโรดโชว์จึงมุ่งหวังที่จะไปดึงการลงทุน  และจากนี้เราจะชี้เป้าเลยว่าถ้าเขามา เขาต้องมาลงในพื้นที่ไหนถึงจะเหมาะสม” นายจุฬากล่าว

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย