คีรี-หมอปราเสริฐ นำทัพ ลุยมาสเตอร์แพลนอู่ตะเภา
“บีบีเอส” ตั้งเอสพีวี ทุนจดทะเบียน 4.5 พันล้านบาท ลงนาม สกพอ.19 มิ.ย. “คีรี-หมอปราเสริฐ“นำทัพ ลุยอู่ตะเภา เร่งทำมาสเตอร์แพลนเสนอรัฐ แบ่งการก่อสร้าง 4 เฟส ช่วงแรกลงทุน 4 หมื่นล้าน พัฒนาอาคารผู้โดยสารรองรับ 16 ล้านคน
กลุ่มการกิจการร่วมค้าบีบีเอส ได้จัดตั้ง บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่นิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) ในการลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อร่วมลงทุน พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกในวันที่ 19 มิ.ย.นี้
การจัดตั้งเอสพีวีดังกล่าว จดทะเบียนธุรกิจเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท โดยบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะมีบทบาทหลักเป็น Lead Firm ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 45% ในขณะที่บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 35% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 10%
เอสพีวีที่จัดตั้งขึ้นใช้ที่ตั้งเดียวกับสำนักงานใหญ่ของบางกอกแอร์เวย์ส บนถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
รายชื่อกรรมการของเอสพีวีแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มบางกอกแอร์เวย์ส มีนายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ นาย พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายประดิษฐ์ ทีฆกุล และนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา 2.กลุ่มบีทีเอส มีนายคีรี กาญจนพาสน์ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา และนายคง ชิ เคือง 3.กลุ่มซิโน-ไทย มีนายภาคภูมิ ศรีชำนิ และนางใจแก้ว เตชะพิชญะ
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า สกพอ.จะเป็นคู่สัญญา โครงการนี้กับกลุ่มบีบีเอส จากเดิมที่ กองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งก่อน การลงนามสัญญา สกพอ.จะต้องมีเอกสาร ยินยอมให้ใช้พื้นที่จากกองทัพเรือ 6,500 ไร่ เพราะ สกพอ.ต้องมีหน้าที่ส่งมอบ พื้นที่โครงการที่อยู่ในความครอบครอง ของกองทัพเรือ ซึ่งการส่งมอบพื้นที่ จะไม่มีปัญหาเหมือนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เพราะพื้นที่ทั้งหมดเป็นของกองทัพเรือ
วางมาสเตอร์แพลน4เฟส
การก่อสร้างของกลุ่มบีบีเอสจะเริ่มต้น ได้หลัง สกพอ.ออกหนังสือให้เริ่มทำงาน (เอ็นทีพี) โดยระหว่างนี้กลุ่มบีบีเอสจะต้อง จัดทำมาสเตอร์แพลนส่งให้ สกพอ. โดยการก่อสร้างได้เสนอเป็น 4 เฟส เพื่อรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน ซึ่งเฟสที่ 1 จะรองรับผู้โดยสาร 16 ล้านคน สูงกว่าที่กำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (อาร์เอฟพี) กำหนดไว้ 12 ล้านคน รวมถึง การก่อสร้างแท็กซี่เวย์ การเชื่อมต่อรถไฟ ความเร็วสูงและการเชื่อมจราจรจากพื้นที่ นอกสนามบิน และกลุ่มบีบีเอสประเมินมูลค่า การก่อสร้างส่วนนี้ไว้ประมาณ 40,000 ล้านบาท
ส่วนเฟส 2 จะเริ่มก่อสร้างเมื่อจำนวน ผู้โดยสารที่มาใช้บริการอยู่ที่ 85% ของอาคารผู้โดยสารที่ก่อสร้างในเฟส 1 และเมื่อพัฒนาถึงเฟส 2 จะทำให้สนามบินอู่ตะเภารองรับ ผู้โดยสารได้ 60 ล้านคน
เงื่อนไขการเริ่มก่อสร้างขึ้นกับ 2 ส่วน คือ 1.การพิจารณารายงานผลกระทบ ทางสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) 2.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและ เมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อบูรณาการ การดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้สอดคล้องเชื่อมโยงและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้จะหารือร่วมกัน ระหว่าง สกพอ. กลุ่มบีบีเอส และบริษัทรถไฟ ความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่กลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อให้ การก่อสร้างของทั้ง 2 โครงการเชื่อมต่อกัน รวมทั้งต้องหาข้อสรุปร่วมกันเรื่องที่ตั้ง ของสถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา
สำหรับการจ่ายเงินผลตอบแทนให้รัฐ ซึ่งกลุ่มบีบีเอสเสนอผลตอบแทนที่คำนวณ เป็นมูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท โดย กลุ่มบีบีเอสจะต้องจ่ายผลตอบแทนให้แก่ รัฐรายปี แล้วแต่จำนวนใดสูงกว่า ระหว่าง จำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและ ส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำ โดยเริ่มจ่ายปีที่ 3 นับจากได้รับหนังสือให้เริ่มทำงาน และรายจ่าย ที่ 100 ล้านบาท จนถึงปีที่ 50 ที่ 84,000 ล้านบาท
กองทัพเรือเร่งพัฒนาทางวิ่งที่ 2
นอกจากนี้ สกพอ. กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเตรียมความพร้อมเรื่อง แผนงานและการจัดเตรียมงบประมาณ สำหรับ โครงการและกิจกรรสำคัญ 9 เรื่อง 1.การก่อสร้าง ทางวิ่งที่ 2 และการจัดทำรายงานผลกระทบ ทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) 2.การก่อสร้างทางเชื่อมโครงข่ายทางถนน สุขุมวิทและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7
3.การดำเนินการด้านอุตุนิยมวิทยาการบิน 4.การกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ ที่ดินราชพัสดุเขตส่งเสริมเมืองการบิน 5.การทำข้อตกลงการใช้ประโยชน์สนามบินอู่ตะเภาทั้งหมดร่วมกัน (JUA)
6.การก่อสร้างหอบังคับการบินแห่งใหม่ 7.การจัดหาผู้ประกอบการสาธารณูปโภค 8.การรื้อย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน อู่ตะเภาของการบินไทย 9.การเตรียม ความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการอนุมัติอนุญาต
ทั้งนี้ กองทัพเรือดำเนินกระบวนการคัดเลือกผู้รับจ้างเพื่อมาก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับไปพลางก่อนระหว่างรอผลการพิจารณารายงานอีเอชไอเอ โดยกองทัพเรือ ร่วมกับ สกพอ. เร่งจัดทำรายงานอีเอชไอเอ เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) และ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ