คลังเข็นโครงการ เราผูกพัน เยียวยาขรก.ผู้น้อย1ล้านคน

18 มี.ค. 2564 567 0

         ขุนคลัง เผยเตรียมผุดโครงการ “เราผูกพัน” เยียวยาข้าราชการผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวนกว่า 1 ล้านคน แย้มอาจต่อ “คนละครึ่ง 3” พร้อมคาดหวังจีดีพี ปี 64 จะโตได้ 4%  แม้ไอเอ็มเอฟ ประเมินไว้แค่ 2.6%

         นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลได้เยียวยากลุ่มผู้มี รายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาไวรัสโควิดหลายกลุ่มกว่า 30 ล้านคน ผ่านกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ผู้มีรายได้อิสระ “เราชนะ” “เราเที่ยวด้วยกัน” และ กลุ่มแรงงาน ม.33 เรารักกัน ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังศึกษาแนวทางการดูแลเยียวยาเพิ่มเติมให้กับกลุ่มข้าราชการผู้มีรายได้น้อย ผ่านโครงการ “เราผูกพัน” เพื่อลดค่าครองครองชีพประมาณ 1 ล้านคนส่วนแนวทางการโอนเงินหรือใช้จ่ายจะเป็นรูปแบบใด คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ เพื่อดูแลข้าราชการผู้ได้รับผล กระทบ นอกจากนี้ยังเตรียมศึกษาการออกมาตรการกระตุ้นเศษฐกิจเพิ่มเติม หลังจากปัญหาโควิดคลี่คลาย เพื่อดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประชาชน และการส่งเสริมการลงทุน เพราะขณะนี้ไทยได้ทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

          นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการคนละครึ่ง ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการ 31 มี.ค.นี้ แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะขยายระยะเวลาออกไปถึงสิ้นปี 2564 นี้หรือไม่ โดยการพิจารณาขยายโครงการจะต้องดูประกอบกับประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ และการดำเนินโครงการไม่มีการเอาเปรียบกันด้วย จากการดำเนินโครงการคนละครึ่งในเฟส 2

          สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 64 นั้น นายอาคม กล่าวว่า จากการหารือกับคณะผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยไอเอ็มเอฟยังเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อไปได้ คาดปีนี้จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.6% ซึ่งใกล้เคียงกับที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5-3.5 และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.8

          ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าจีดีพีปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 4 โดยมีปัจจัยหนุนจากสัญญาณการส่งออกที่เริ่มฟืนตัว อานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ พร้อมเดินหน้าเร่งเปิดโครงสร้างพื้นฐานที่แล้วเสร็จ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รวมถึงมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศต่างๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะต่อมาตรการคนละครึ่งออกไปหรือไม่

          อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะดีขึ้นแน่นอน เนื่องจากประเทศไทยสามารถเริ่มเปิดรับนัก ท่องเที่ยวได้ ซึ่งเป็นผลมาจากมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 และนักท่องเที่ยวมีใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด และเปิดประเทศได้อย่างเต็มที่ในปี 2565 แต่คาดว่าคงต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี กว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 ซึ่งต้องติดตามความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

          ทั้งนี้ IMF ได้แนะว่า รัฐบาลจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับที่สร้างความมั่นใจได้ ส่วนด้านนโยบายการเงิน อยากให้เจาะจงไปที่กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผล กระทบจากโควิด-19 ซึ่งกระทรวงการคลังได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่แล้ว โดยขอความร่วมมือจากภาคการเงินต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตจะมีการหารือแนวทางในการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดที่ใหญ่กว่าเอสเอ็มอี ส่วนความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน แนวทางการช่วยเหลือผู้ประอบการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น นอกเหนือจากเอสเอ็มอี หรือการทำ Asset Warehousing จะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด

          อย่างไรก็ดี ขอปฏิเสธกระแสข่าวที่จะมีการลดอัตราภาษีนิติบุคคลลง จากปัจจุบันจัดเก็บในอัตราร้อยละ 20 นั้น โดยย้ำว่า ยังไม่มีแนวคิดเรื่องนี้ เพราะถือว่าฐานภาษีของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำแล้วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และ รายได้จากภาษีถือเป็นรายได้หลักของแผ่นดิน

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย