คลังลุยเก็บภาษีขายหุ้น ปี65

17 ธ.ค. 2564 1,011 0

          เพิ่มรายได้รัฐปีละ1-2หมื่นล้าน - โบรกหักยื่นจ่ายแทนนักลงทุน

          ‘นิเวศน์‘ชี้ไม่ใช่เวลาเหมาะสม หวั่นวอลุ่มลด


          “อาคม” เผยคลังเตรียมเก็บภาษีขายหุ้น ปี 65 อัตรา 0.1% ของมูลค่าซื้อขายเกิน 1 ล้าน ต่อเดือน แจงเป็น หนึ่งในแผนปฏิรูปภาษี  เพื่อความเป็นธรรม กับรัฐ หลังยกเว้นมานานกว่า 30 ปี “บล.เอเซีย พลัส"คาดรัฐมีรายได้เพิ่ม 1-2 หมื่นล้านต่อปี หวั่นกระทบวอลุ่ม ผลตอบแทนลด  นักลงทุนวีไอ"นิเวศน์“ชี้ไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม หวั่นต่างชาติทิ้งหุ้นไทย

          กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐให้มีความยั่งยืน โดยหนึ่งในแผนคื การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือ Financial Transaction tax ซึ่งจะเริ่มในปี 2565 หลังจาก ภาษีดังกล่าวที่ถูกยกเว้นมานานกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลัง ยกเว้นภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงยกเว้น Capital gains tax ซึ่งในหลายประเทศมีการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ตัวนี้ บางประเทศก็เก็บตัวใดตัวหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่มีการเก็บ Financial Transaction Tax

          ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีความจำเป็นต้องเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับภาครัฐ หลังจากที่ได้มีการยกเว้นการจัดเก็บมาอย่างยาวนาน โดยการนำกฎหมายภาษีตัวใดออกมาใช้ในประเทศนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆว่า มีการฟื้นตัวแล้วหรือยังด้วย

          “เรื่องภาษีตัวใหม่ๆนั้น ที่ผ่านมาเราก็ได้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกรรมอีเซอร์วิสต่างๆ ซึ่งก็ได้รับรายงานจาก กรมสรรพากรว่า มีรายได้เข้ามาเกินเป้าหมาย ส่วนภาษีตัวอื่นๆเราก็พิจารณาอยู่ เช่น ภาษี Financial Transaction Tax ซึ่งไม่ได้เก็บมานาน เราก็จะมีแผนจะจัดเก็บในปีหน้า แต่ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม” นายอาคม กล่าว

          ชี้สร้างความเป็นธรรมภาครัฐ

          ส่วนการจัดเก็บภาษีดังกล่าว รัฐบาล จะมีรายได้เท่าไหร่นั้น เขากล่าวว่า ก็คงได้เป็น กอบเป็นกำ แต่ไม่ถึงขนาดเป็นแสนล้าน ซึ่งเรามองว่า เป็นการสร้างความเป็นธรรมที่การซื้อขายต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแก่รัฐ ถ้าดัชนีตลาดจะปรับลดลงก็ต้องยอมรับ

          ทั้งนี้ ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายของกรมสรรพากร ในหมวดที่ 5 เรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้กำหนดให้การประกอบกิจการ ด้านการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะโดยฐานภาษี (tax point) จะคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยกำหนดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.1%

          ให้โบรกหักภาษีขาย

          สำหรับการชำระภาษีนั้น ให้โบรกเกอร์ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายหลักทรัพย์ เป็นผู้หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแทนผู้ขาย โดยที่ผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก

          อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรยังไม่ได้จัดเก็บ ภาษีดังกล่าว เนื่องจาก มีการออกพระราชกฤษฎีกา ยกเว้น แต่หากระดับนโยบายต้องการจัดเก็บภาษีตัวนี้ ก็เพียงแต่ยกเลิกการยกเว้นดังกล่าว ก็จะสามารถจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ทันที

          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อัตราการจัดเก็บ Financial Transaction Tax นั้น เป็นหนึ่งในแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ทำให้รายได้ภาครัฐมีความยั่งยืนมากขึ้น โดยในการพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูปภาษีนั้น ได้มี การหารือถึงอัตราการจัดเก็บที่ 0.1% ของการขายหุ้น ที่เกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป หรืออาจจะมากกว่านั้น คาดการณ์จัดเก็บรายได้กว่า 1.6 หมื่นล้านบาท

          ทั้งนี้ เดิมมีแผนจะดำเนินการจัดเก็บตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ทำให้แผนการจัดเก็บภาษีดังกล่าวต้องพับไป อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการก็ได้ตั้งเป้าหมายว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะสามารถเริ่มได้ในปี 2565 โดยจะดูจังหวะเศรษฐกิจที่เหมาะสม

          เล็งประกาศอัตราจัดเก็บ

          นอกจากนี้ ในระดับนโยบายต้องการ ที่จะให้มีการจัดเก็บตั้งแต่บาทแรกของการซื้อขาย แต่เนื่องจากทางตลาดทุนได้โต้แย้ง หลังจาก กังวลจะกระทบต่อภาพรวมตลาดทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย ดังนั้น จึงมาจบที่ตัวเลข เกินกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งมองว่า เป็นมูลค่าการซื้อขาย ที่เกิดขึ้นสำหรับนักลงทุนที่มีฐานะ

          แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หากภาครัฐมี นโยบายที่ชัดเจนว่า จะดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเมื่อใด ก็สามารถทำได้ทันที โดยออกเป็นประกาศกระทรวงให้จัดเก็บ เนื่องจากมีข้อกฎหมายในประมวลรัษฎากรที่กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้นมานานกว่า 30 ปีอย่างไรก็ดี ทางกรมสรรพากรและตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องร่วมพัฒนาระบบที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่า นักลงทุนรายใดที่มีปริมาณการซื้อขาย ที่เข้าข่ายการเสียภาษีดังกล่าว

          รัฐมีรายได้เพิ่มปีละ1-2หมื่นล้าน

          นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเซีย พลัส กล่าวว่า จากที่ภาครัฐต้องการจัดหาแหล่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากที่มีภาระงบประมาณที่สูงขึ้น ซึ่งตัวเลือกหนึ่งในตลาดหุ้นคือการเก็บ Capital gains tax และภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งในปีนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่มีข่าวจะเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งจะเป็นการเก็บ ภาษีจากการขายหุ้นเหมือนกับธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์ ที่เมื่อขายอสังหาฯจะถูกเก็บภาษี 3.3% ของมูลค่าการขาย

          หากรัฐจัดเก็บภาษีขายหุ้นจริงในเบื้องต้น หากคำนวณรายได้รัฐจากการเก็บภาษีหลักทรัพย์ ในช่วงตั้งแต่ 1 ม.ค.-14 ธ.ค.2564 ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมูลค่าซื้อขาย (คิดขาเดียว) รวม 20.5 ล้านล้านบาท เมื่อคูณอัตราภาษี 0.1% รัฐจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 2.05 หมื่นล้านบาท และหากพิจารณาจากมูลค่า ซื้อขายในอดีต พบว่า ส่วนใหญ่แล้วรัฐจะได้รายได้ เพิ่มเกิน 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งขึ้นอยู่กับมูลค่าการซื้อขายแต่ละปี

          หวั่นกระทบวอลุ่มเทรดหด

          ทั้งนี้ การเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าวจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดหุ้นโลก ลดลง เนื่องจาก ผลตอบแทนของการ Trading ลดลง จาก Transaction cost ที่สูงขึ้นมาก ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะจากนักเก็งกำไร และทำให้มูลค่าการซื้อขายหดตัวลง อาจส่งผลให้การเรียกเก็บภาษีในระยาว มีโอกาสลดลง

          “ตราบที่มูลค่าซื้อขายในอนาคตยังคง ลดลงต่อเนื่อง และมีผลลบต่อดัชนีหุ้นพอสมควรสะท้อนได้จากมีประเด็นนี้เข้ามาในวันที่ 7 ก.ค. 2564 ดัชนีก็ปรับฐานแรงเกือบ 50 จุดหรือราว -3% ภายในระยะเวลา 2 วันเท่านั้น (ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 0.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน) และอาจกดดันมูลค่าตลาดให้หดหายไปมากกว่าภาษีที่รัฐอาจได้รับ”

          ดังนั้นภาครัฐจะต้องช่างน้ำหนักให้ดี แต่เรามองว่าประเด็นดังกล่าวยังคงต้องรอความชัดเจน จากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจาก เป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น แต่เชื่อว่าแนวคิด ดังกล่าวน่าจะยังไม่นำมาใช้จริงในช่วงเวลาอันสั้น

          นักลงทุนชี้ยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม

          นายนิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า(ประเทศไทย) หรือวีไอ กล่าวว่า เวลานี้ยัง ไม่ใช่ช่วงเวลาเหมาะสมที่จะเก็บภาษีขายหุ้น เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมาจากวิกฤติโควิด-19 รวมถึงสภาพคล่องในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่ก็มาจากนักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุน ต่างชาติ

          ปัจจุบันตลาดหุ้นก็เป็นช่องทางเดียวในการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ต้องการเงินไปขยายธุรกิจให้เติบโต ขณะที่นักลงทุนสนใจลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นสะท้อนจากการที่บริษัท จดทะเบียนไทย (บจ.) ระดมทุนผ่านการขายหุ้น ไอพีโอก็มีนักลงทุนสนใจจำนวนมาก ดังนั้น มองว่า ควรจะรักษาข้อดีตรงนี้ไว้ก่อน ซึ่งหากความน่าสนใจ ของตลาดหุ้นไทยในฐานะแหล่งลงทุนลดลง ผู้ที่จะเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดหุ้นไทยก็ เสียโอกาสได้รับเงินระดมทุนตามไปด้วย

          เชื่อนักลงทุนไทยหันลงทุนต่างประเทศ

          นอกจากนี้ มองว่าการเรียกเก็บภาษีขายหุ้น จะทำให้ความน่าสนใจและความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยลดลง ส่งผลให้นักลงทุน ในประเทศหันไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน สามารถทำได้ง่ายและสะดวกแล้ว เพราะพัฒนาการ ด้านเทคโนโลยีต่างๆ

          “หากมาเก็บภาษีจากการขายหุ้นตอนนี้คาดว่า อาจจะทำให้ตลาดหุ้นซบเซาและความน่าสนใจลดลง ซึ่งตอนนี้นักลงทุนจะเทรดตลาดที่ไหนของโลกก็ได้ และปัจจุบันนักลงทุนรายใหญ่ เริ่มกระจายพอร์ตลงทุนออกไปในต่างประเทศแล้ว”

          อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้คัดค้าน แต่มองว่าหากเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว ตลาดเป็นช่วง ตลาดขาขึ้นถ้าเป็นช่วงจังหวะเวลานั้นจะเก็บภาษี ก็ไม่มีใครว่า แต่ตอนนี้ตลาดผันผวนลงทุนก็ทำได้ยาก

          “เสี่ยป๋อง“แนะให้เวลานักลงทุนเตรียมตัว

          นายวัชระ แก้วสว่าง หรือ"เสี่ยป๋อง นักลงทุน รายใหญ่กล่าวว่าส่วนตัวมองว่า ปัจจุบันตลาดรับรู้เรื่องดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว ดังนั้น หากมี การออกเป็นกฎหมายมาให้ทุกคนใช้เหมือนกัน หมด ในส่วนตัวก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่มองว่า หากจะจัดเก็บภาษีขายหุ้นจริงต้องแจ้งช่วงเวลาในการใช้งานล่วงหน้าให้นักลงทุนเตรียมตัวด้วย

          “ส่วนตัวมองตลาดไม่น่าจะปรับตัวลงมาก คาดว่าจะเป็นระยะสั้นๆ เนื่องจากรับรู้ข่าวไปบ้างแล้วว่าจะมีการเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าวแน่นอน แต่การจะนำมาปฏิบัติควรจริงควรจะแจ้งให้ นักลงทุนทราบก่อนล่วงหน้า” นายวัชระ กล่าว

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย