กาญจพาสน์ ลุยสายสีชมพูเข้าเมืองทองปีหน้า
ต้นปี’64 บีทีเอสผนึกบีแลนด์ทุ่ม 3.3 พันล้าน ลุยตอกเข็มรถไฟฟ้าสายสีชมพูต่อขยายเข้าเมืองทองธานี ผุด 2 สถานีใหม่ สร้างเมืองครบวงจร รองรับชุมชน คนมาอิมแพ็ค ปีละ 10 ล้านคน เร่งสร้างให้เสร็จใน 2 ปี เปิดหวูดพร้อมแคราย-มีนบุรีปลายปี’65
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วง ศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม.แล้ว ทางกลุ่มบริษัท (บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ- ราชกรุ๊ป) จะเซ็นสัญญากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แก้ไขในสัญญาเพิ่มเติม และเจรจาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง จะมีเวนคืนช่วงทางเข้าเมืองทองธานี ซึ่งต้องขอใช้พื้นที่กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างส่วนต่อขยาย ภายในต้นปี 2564 จะใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี สร้างเสร็จเปิดบริการในปี 2566 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น เพื่อให้การเปิดบริการพร้อมกับสายหลักจะเปิดตลอดสายในเดือน ก.ย. 2565
สำหรับสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ทางกลุ่มบริษัทได้ลงทุนเพิ่ม 3,379 ล้านบาท โดยร่วมกับ บมจ.บางกอกแลนด์ (บีแลนด์) ทั้งนี้ เพิ่มประสิทธิภาพให้กับ สายสีชมพูสายหลักสร้างจากแครายมีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. ที่บริษัทได้รับสัมปทาน 33 ปี 3 เดือน ก่อสร้างและเดินรถ
แนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณสถานีศรีรัชของสายสีชมพู สายหลัก วิ่งไปทางทิศตะวันตก และเลี้ยวขวาเข้าสู่เมืองทองธานีไปตามซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 แนวทางเดียวกันกับทางพิเศษอุดรรัถยา จนสิ้นสุด โครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี มี 2 สถานี ได้แก่ สถานี MT-01 บริเวณอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และสถานี MT-02 ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของทะเลสาบเมืองทองธานี จะรองรับผู้อยู่อาศัยในเมืองทองธานีประมาณ 1.5 แสนคน และผู้เดินทางเข้ามาชมงานในอิมแพ็ค ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 10-15 ล้านคนต่อปี
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยว่า รอ ครม.อนุมัติโครงการ จากนั้นจะหารือ ร่วมกับบีแลนด์ ถึงสัดส่วนการลงทุน และรูปแบบการลงทุนที่จะร่วมกัน เช่น บีแลนด์อาจจะลงทุนมากกว่าเราหรือ ลงทุนทั้งหมดก็ได้ เนื่องจากโครงการ ผ่านมานานแล้ว อาจจะทำให้มูลค่า การลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งสายสีชมพู ต่อขยายเข้าเมืองทองฯเมื่อแล้วเสร็จ เปิดบริการ จะเป็นการสร้างเมืองและเป็นโครงการที่จะช่วยรองรับการ เดินทางของชุมชนในเมืองทองธานี
“บีทีเอสจะได้โครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่ม ขณะที่บีแลนด์จะต่อยอดการพัฒนาที่ดินในเมืองทองธานี และรองรับผู้เข้าร่วมงาน ในอิมแพ็ค”
ก่อนหน้านี้ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า สายสีชมพูทาง กลุ่มบีทีเอสจะแบ่งรายได้ให้ รฟม. โดยคิดตามความผันแปรของปริมาณ ผู้โดยสาร หากเพิ่มมากกว่า 30% ต้องแบ่งรายได้ให้ รฟม. 20% หากเพิ่มมากกว่า 50% ต้องแบ่ง 40% ยังไม่สามารถระบุได้ว่าปีไหน
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปีที่ 11-30 รฟม. จะได้เงินรายได้อีกปีละ 250 ล้านบาท โดยสายสีชมพูประมาณการไว้ว่าเปิดบริการในปี 2564 ผู้โดยสารอยู่ที่ 199,054 เที่ยวคนต่อวัน หากเปิดส่วนต่อขยายในปี 2566 ผู้โดยสารเพิ่มมากกว่า 30% หรือผู้โดยสารอยู่ที่ 2.6 แสนเที่ยวคนต่อวัน เท่ากับ รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ในทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี สร้างอยู่แนวถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะ รามอินทรา มีความก้าวหน้า ณ เดือน พ.ย. 2563 อยู่ที่ 66.05% แยกเป็น งานโยธา 68.49% งานระบบรถไฟฟ้า 62.76% โดย รฟม.ให้เอกชนเปิดบริการเป็นเฟสได้ โดยจะเปิดเชิงพาณิชย์ช่วงแรกในเดือน ต.ค. 2564 จากสถานีมีนบุรี-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และเปิดตลอดสายในปี 2565 โดยมีทั้งหมด 30 สถานีเชื่อมต่อกับสายสีม่วงที่แคราย สีแดงที่หลักสี่ สีเขียวที่วัดพระศรีมหาธาตุและสีส้มที่มีนบุรี เก็บค่าโดยสาร 14-42 บาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ