กดปุ่ม อู่ตะเภา ฮับเอเชีย 10ปีคุ้มทุนสร้างเสร็จปี67

22 มิ.ย. 2563 581 0

            “บิ๊กตู่” กดปุ่มเมืองการบินอู่ตะเภา “หมอเสริฐ-คีรี” เซ็นสัญญาสัมปทานประวัติศาสตร์ 50 ปี มูลค่า 3.05 แสนล้าน ใหญ่สุดในเอเชียแปซิฟิก เร่ง มาสเตอร์แพลน พัฒนา 40 ปี คุ้มทุนปีที่ 10 จ้างนาริตะบริหารสนามบิน ดึงพันธมิตรลงทุน BTS ลุยอสังหาฯ ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ตอกเข็ม ปลายปี’64 เปิดใช้ปี’67

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. เวลา 09.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื้อที่ 6,500 ไร่ วงเงิน 290,000 ล้านบาท ระหว่างกองทัพเรือและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับเอกชนคู่สัญญารับสัมปทาน 50 ปี  บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ ถือหุ้น 45% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ถือหุ้น 35% และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ถือหุ้น 20%

          “อู่ตะเภา” อยู่ร้อยปี

          พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กว่าจะถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งถือเป็นโครงการพื้นฐานหลักของอีอีซี

          “ผมคาดหวังสิ่งที่ทำวันนี้จะเป็นประโยชน์เพื่ออนาคต โครงการนี้มีอายุสัญญา 50 ปี พวกเราใครจะอยู่ก็อยู่ ผมก็หวังว่าจะอยู่กันได้ทุกคน แต่ไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ โครงการนี้ก็จะอยู่คู่กับประเทศยาวนานเป็น 100 ปี” พลเอกประยุทธ์กล่าว

          ยกเป็นดีลใหญ่สุดเอเชีย-แปซิฟิก

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า รูปแบบโครงการเป็นเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ระยะเวลา 50 ปี ถือเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในปีนี้ของแถบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเลยก็ว่าได้ เพราะมูลค่าลงทุนกว่า 290,000 ล้านบาท แต่เอกชนให้ผลตอบแทนรัฐมากถึง 305,555 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าอีก 50 ปี รวม 1.326 ล้านล้านบาท

          ความพยายามของอีอีซีที่จะเชื่อมโยง กรุงเทพฯและภาคตะวันออก จากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่มีเป้าหมาย จะยกให้อู่ตะเภาเป็นสนามบินหลัก แห่งที่ 3 ของประเทศไทย

          “ทำให้ทั้ง 3 สนามบินรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคน/ปี เป็นฮับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย และพื้นที่โดยรอบ 30 กม.จะพัฒนาเป็นมหานครการบินภาคตะวันออก ดึงเอกชนไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุน”

          สร้างรันเวย์ 2 ปี’64

          พล.ร.ต.เกริกไชย วจนาภรณ์ รองปลัดบัญชีทหารเรือ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก เปิดเผยว่า กองทัพเรือพร้อมส่งมอบพื้นที่โครงการ 6,500 ไร่ ให้กลุ่ม BBS ภายใน 1 ปีครึ่งนับแต่วันลงนาม

          แบ่งพัฒนา 4 เฟส

          นายโชคชัย ปัญญายงค์ ที่ปรึกษาพิเศษโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงการจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ใช้เงินก่อสร้าง 200,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 130,000 ล้านบาท ค่ารีโนเวต-ซ่อมบำรุงตาม วงรอบอีก 70,000 ล้านบาท

          โดยระยะแรกมีก่อสร้างอาคาร ผู้โดยสารหลังที่ 3 พื้นที่ 157,000 ตร.ม. วงเงิน 30,000 ล้านบาท และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเป็น 15.9 ล้านคน/ปี จะแล้วเสร็จในปี 2567

          ระยะที่ 2 เพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อีก 107,000 ตร.ม. ติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และเพิ่มหลุมจอดอีก 16 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 30 ล้านคน/ปี จะเสร็จในปี 2573

          ระยะที่ 3 เพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 อีก 107,000 ตร.ม. พร้อมเพิ่มระบบ APM อีก 1 ขบวน เพิ่มหลุมจอด อีก 34 หลุมจอด ประมาณการผู้โดยสาร เพิ่มขึ้นเป็น 45 ล้านคน/ปี แล้วเสร็จในปี 2585

          และระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย เพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 อีก 82,000 ตร.ม. พร้อมติดตั้งระบบ check-in แบบอัตโนมัติ รวมถึงเพิ่มหลุมจอดอีก 14 หลุมจอด โดยประมาณการผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคน/ปี แล้วเสร็จในปี 2598

          จ้างนาริตะบริหาร 10 ปี

          นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์ส อยู่ในอุตสาหกรรรมการบินมานานกว่า 50 ปี มีพันธมิตรทางการบินกว่า 100 สายการบินทั่วโลก และดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น ครัวการบิน การให้บริการภาคพื้น การให้บริการคลังสินค้า ร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) รวมถึงธุรกิจสนามบินที่บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารจัดการรวม 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัยและสนามบินตราด

          “เราจะจ้างนาริตะ 10 ปี พัฒนาบุคลากร วางระบบ และบริหารสนามบิน”

          ดึงพันธมิตรลุย

          นายพุฒิพงศ์กล่าวอีกว่า ในอนาคตจะมีพันธมิตรอื่น ๆ เข้าร่วมอีก เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินกรุงเทพแห่งที่ 3 แข่งขันกับสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์

          “ปัจจุบันอู่ตะเภามีผู้โดยสารมาใช้บริการ 2-3 ล้านคน/ปี แต่ละเฟสจะใช้เวลาพัฒนา 10 ปี รวม 4 เฟส เพื่อให้ขนาดการลงทุนพอดี ไม่ใช่ทำใหญ่โอ่โถงแล้วมีคนใช้อยู่ครึ่งเดียว ซึ่งไม่สมเหตุสมผล เราให้เวลาการพัฒนามาก เพื่อให้ขยับให้โตตามได้ ไม่ใช่ล้นไป 100% แล้วค่อยขยับ”

          นายพุฒิพงศ์กล่าวอีกว่า ตามแผนโครงการนี้จะถึงจุดคุ้มทุนประมาณ 10 กว่าปีไปแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเริ่มการลงทุนในเฟสที่ 2 แต่ของจริงอาจจะเร็วกว่านั้น เพราะการพัฒนาหาก ผู้โดยสารถึง 80% จะต้องเริ่มขยายขีดความสามารถเพิ่มในเฟสต่อไปจนครบ 60 ล้านคน/ปีตามสัญญา ในเฟสแรกจะสร้างเสร็จเปิดบริการในปี 2567 หรืออีกประมาณ 4 ปีครึ่ง คาดว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 5-6 ล้านคน/ปี และถึง 16 ล้านคน/ปี ในอีก 10 ปีต่อไป คือปี 2577

          โควิดไม่สะเทือน

          สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า จะไม่มีการ รีโมเดลโครงการแต่อย่างใด ถ้ามองว่าโควิดเกิดชั่วคราว สามารถมียารักษาได้แล้ว ความกลัวในการเดินทางของคนจะไม่มีแล้ว ขณะที่โครงการนี้กว่าจะสร้างเสร็จอีก 4 ปีครึ่ง

          นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า ด้านบีทีเอสจะเน้นอสังหาริมทรัพย์เชื่อมต่อกับระบบขนส่ง เช่น รถไฟฟ้า APM รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น โลจิสติกส์ ศูนย์ซ่อมอากาศยานลำตัวแคบที่สนใจจะลงทุน

          เริ่มตอกเข็มปลายปี’64

          การลงทุนเฟสแรกจะใช้เงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท ตามสัดส่วนการถือหุ้น คือบางกอกแอร์เวย์ส 45% บีทีเอส 35% ซิโน-ไทยฯ 25% ซึ่งแหล่งเงินทั้งกู้จากสถาบันการเงินและจากเงินทุนเรือนหุ้น โดยการจัดหาแหล่งเงินต้องดำเนินการโดยบริษัทที่ตั้งใหม่ บจ. อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น ทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านบาท ปี 2567

          “หลังเซ็นสัญญา จะเริ่มงานดีไซน์มาสเตอร์แพลนทันที วางคอนเซ็ปต์อาคารเป็นรูปแบบสไตล์ไทยตามที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่ว่างานก่อสร้างจะเริ่มก่อสร้าง มีเงื่อนไขการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งกองทัพเรือจะส่งมอบอีก 1 ปีครึ่ง คาดว่าเริ่มสร้างปลายปี 2564 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เสร็จปลายปี 2567 รวมใช้เวลาดำเนินการเฟสแรก 4 ปีครึ่ง ทั้งนี้อยู่ที่ส่งมอบพื้นที่จะได้เร็วหรือไม่”

          หมอเสริฐมั่นใจเต็ม 100%

          นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บมจ.การบินกรุงเทพ  เปิดเผยว่า การที่บางกอกแอร์เวย์สเข้าไปร่วมลงทุนกับภาครัฐในโครงการพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มองว่าเป็นโครงการใหญ่ในระดับภูมิภาคที่จะให้เป็นสนามบินกรุงเทพภาคตะวันออก หรือ East Bangkok ซึ่งการเข้าถึงจะสะดวกสบายไม่แพ้สนามบินสุรรณภูมิหรือดอนเมือง ไม่ว่าจะมาจากที่ไหนก็มาถึงสนามบินอู่ตะเภาได้

          นายแพทย์ปราเสริฐกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ที่ทำธุรกิจการบินและสนามบิน ทำให้มั่นใจในโครงการอู่ตะเภาว่าจะเดินหน้าด้วยดีและมีรายได้ จึงเสนอผลตอบแทนรายได้ให้รัฐสูงถึง 3 แสนล้านบาท คนที่บอกว่าเราทำไม่ได้ เพราะเขาไม่เคยทำ ดังนั้นตัวเลขนี้ยืนยันได้ว่าทำได้อย่างแน่นอน

          ไม่สนซื้อหุ้นบินไทย

          ผู้สื่อข่าวถามนายแพทย์ปราเสริฐว่า สนใจจะซื้อหุ้น บมจ.การบินไทยหรือไม่ นายแพทย์ปราเสริฐหัวเราะ ผมมีแล้วหุ้นเรือบินการไทย ไปถามศาลฟี้นฟูดีกว่า ผมยังไม่เคยพูดสักคำว่าสนใจจะซื้อหุ้นการบินไทย

          นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการ ผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทยฯ กล่าวว่า บริษัทจะเป็นผู้ก่อสร้างโครงการ คาดว่า ไตรมาส 3 ปีนี้จะมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างกับซิโน-ไทยฯในเฟสแรก วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย