RICHY โอน 2 คอนโดดัน Q2 โต ย้ำรายได้ปีนี้พุ่ง 1.5 พันล้าน เล็งผุด 4 โครงการ
“ริชี่ เพลซ 2002” เตรียมประกาศงบไตรมาส 2/64 วันที่ 13 ส.ค.นี้ ส่งซิกรายได้พุ่งสูง รับแรงหนุนโอน 2 คอนโดฯ สร้างเสร็จใหม่ “เดอะริช เพลินจิต-นานา” และ “เดอะริช พระรามเก้า-ศรีนครินทร์” ย้ำรายได้ปีนี้ตามนัดโต 1,500 ล้านบาท ตุนแบ็กล็อกรอบุ๊ก 4,055 ล้านบาท โชว์ยอดขายครึ่งปีแรก 1,100 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 45% ของเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ 2,500 ล้านบาท พร้อมเล็งเปิดตัว 4 โครงการใหม่ในครึ่งปีหลัง
นางสาวอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ RICHY เปิดเผยว่า บริษัทจะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติงบการเงินไตรมาส 2/2564 และแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 13 สิงหาคม 2564 โดยเบื้องต้นคาดการณ์ยอดรับรู้รายได้จากการส่งมอบโครงการในไตรมาส 2/2564 จะเพิ่มขึ้นสูงมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะมาจากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการคอนโดมิเนียมเสร็จใหม่ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการ เดอะริช เพลินจิต-นานา และ 2. โครงการ เดอะริช พระรามเก้า-ศรีนครินทร์
สำหรับในปี 2564 บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 1,500 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 869.06 ล้านบาท ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/2564 มีรายได้รวมแล้ว 273.18 ล้านบาท โดยรายได้จะมาจากการทยอยส่งมอบคอนโดมิเนียมเสร็จใหม่ จำนวน 2 โครงการ ขณะที่ ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 บริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) มูลค่ารวม 4,055 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ตั้งแต่ปี 2564-2566 และปัจจุบันยังมีสินค้าพร้อมโอน (สต๊อก) มูลค่ารวมประมาณ 6,300 ล้านบาท รองรับการขายได้ถึงปี 2565
ส่วนยอดขาย (Presale) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) บริษัทมียอดขายสะสมแล้ว 1,100 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงเพิ่มขึ้น โดยยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกมาจากการขายคอนโดมิเนียมและทาวน์โฮมเป็นหลัก ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดขายทาวน์โฮมเฟสใหม่ในโครงการ เดอะริชวิลล์ ราชพฤกษ์ (เฟส 2) มูลค่าโครงการ 150 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการเปิดให้บริการรีเทลมอลล์ 3 แห่ง ได้แก่ที่โครงการ เดอะริช นานา, ที่โครงการเดอะริช @ทริปเปิ้ลสเตชั่น ศรีนครินทร์ และที่โครงการริชพาร์ค เทอมินอล @พหลโยธิน 59 ซึ่งการเปิดให้บริการรีเทลมอลล์ จะสร้างรายได้ประจำในอนาคต
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเป้าหมายยอดขายในปี 2564 ไว้ที่ประมาณ 2,500 ล้านบาท แม้ยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกจะทำได้เกือบ 45% โดยในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ จำนวน 4 โครงการ ซึ่งมูลค่าโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณา เป็นโครงการแนวราบ จำนวน 2 โครงการ เป็นโครงการคอนโดมิเนียมขนาด 32 ชั้น จำนวน 1 โครงการ และอีก 1 โครงการ อยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันจากสถานการณ์โควิด-19
นางสาวอาภา กล่าวต่อว่า กลยุทธ์หลักในช่วงที่เหลือของปี 2564 บริษัทจะเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ให้มากขึ้น โดยได้ตั้งหน่วยงานขายออนไลน์อย่างถาวร เพื่อการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การจองซื้อ และการชำระเงิน บน Digital Platform ที่หลากหลายทุกช่องทางการสื่อสาร ซึ่งมีผลตอบรับค่อนข้างดี รวมถึงการจัดโปรโมชั่นเพื่อเร่งระบายสต๊อก ทั้งส่วนลดพิเศษ และโปรโมชั่นที่โดนใจให้ลูกค้าที่ซื้อเพื่ออยู่เอง หรือลูกค้าที่ซื้อลงทุน มีทั้งการขายแบบให้บริการหาผู้เช่าห้องรายเดือนและแบบรายวัน หรือแบบมีรับประกันผลตอบแทน (Yield Guarantee) ในระยะ 3 ปี
ขณะที่ภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกเล็กน้อย แต่จะดีขึ้นอย่างมีนัยในปี 2565 เป็นต้นไป ภายใต้บนสมมติฐานที่รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจะมั่นใจมากขึ้น และนักลงทุนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยก็จะทยอยกลับมา
โดยปัจจัยบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญ คือ อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำมาก ส่วนกำลังซื้ออาจฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หากรัฐบาลสามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้ในปริมาณมาก และมีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านการบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศ
ส่วนกรณีรัฐบาลสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง กระทบต่อการก่อสร้างของบริษัท ทำให้การส่งมอบต้องล่าช้าลง โดยเฉพาะโครงการแนวราบ ทำให้เกิดข้อเรียกร้องให้ชดเชยจากลูกค้า เกิดการถูกยกเลิกการขาย ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ที่ผู้เช่าไม่สามารถเข้าตกแต่งพื้นที่ได้ ทำให้ไม่สามารถเริ่มมีรายได้ และยังเพิ่มต้นทุนทางการเงิน ทั้งดอกเบี้ย ค่าใช้จ่าย รวมทั้งยังมีความเสี่ยงเรื่องปริมาณแรงงานที่หายไป อาจไม่กลับมาทำงานตามปกติ เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน เป็นเหตุให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้น และยังกระทบต่อผลกำไร
นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม และกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโครงการแนวราบและโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งมีมูลค่าทางธุรกิจปีละประมาณ 900,000 ล้าน หรือประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อเดือน และส่งผลต่อผู้ใช้แรงงานหลายแสนคนที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยรายได้
“กรณีความรุนแรงของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน บริษัทมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ลำบากสำหรับธุรกิจ โดยต้องรักษาสภาพคล่องทางการเงินไว้ให้ดีที่สุด ในมุมกลับกันจากสถานการณ์ครั้งนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการใหม่ ๆ เช่น การทำงาน (Work from home) หรือการขาย Online เต็มรูปมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวจะเป็นระบบที่ประหยัด รวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเรายิ่งขึ้น” นางสาวอาภา กล่าว
Reference: หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น