LALIN ลุยซื้อที่ดินตุนพอร์ต ตั้งเป้าปั๊มยอดขาย 8.6 พันล.
LALIN จัดงบ 1.6 พันล้านบาท ฉวยจังหวะช็อปที่ดินเพิ่ม หวังขยายฐานธุรกิจ พร้อมเดินหน้าโครงการใหม่ 10-12 โครงการ มูลค่ากว่า 7-8 พันล้านบาท อัพ Backlog จากเดิม 1 พันล้าบาท กินยาวปลายปี 2566 แถมวางหมากปี 2566 ยอดขายแตะ 8.6 พันล้านบาท
นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ LALIN เปิดเผยว่า ในปี 2566 บริษัทได้วางงบลงทุนไว้ราว 1.5-1.6 พันล้านบาท รองรับการจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่เพิ่มเติม หลังภาครัฐมีแนวทางเริ่มจัดเก็บภาษี ซึ่งส่งผลให้เจ้าของที่ดิน มีการทยอยประกาศขายที่ดินออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทมองเป็นโอกาสในการจัดหาที่ดินแปลงใหม่สำหรับพัฒนาโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียมในอนาคต
ขณะที่ปีนี้ทาง LALIN มีแผนเปิดโครงการใหม่ประมาณ 10-12 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมราว 7-8 พันล้าน โดยเน้นโครงการแนวราบเป็นหลัก เพื่อสร้างยอดขายเพิ่มเติมให้กับธุรกิจต่อไป ตลอดจนสนับสนุนการเติบโตให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลของ LALIN ล่าสุด พบว่า มียอดขายที่รอโอน (Backlog) อยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาท จากโครงการทั้งในแบบทั่วไปและสั่งสร้าง ซึ่งคงจะสามารถทยอยโอนและรับรู้ได้ทั้งหมดภายในปีนี้
ปี 2566 ยอดขายโต
สำหรับผลประกอบการปี 2566 บริษัทตั้งเป้า ยอดขาย 8.6 พันล้านบาท หลังธุรกิจมีการพัฒนาโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมี Backlog ที่รอโอนค่อนข้างมาก ทำให้บริษัทประมาณ การยอดรับรู้รายได้ปีนี้ไว้ราว 6.85 พันล้านบาท
ในปี 2565 ที่ผ่านมานั้นโลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การแย่งชิงความเป็นผู้นำโลกของประเทศมหาอำนาจ ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี นอกจากนี้ยังเป็นปีที่เงินเฟ้อ เร่งตัวขึ้นทั่วโลก ซึ่งสูงที่สุดในรอบหลายสิบปี จนทำให้หลายประเทศต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบ เข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดย FED ปรับขึ้น ดอกเบี้ยนโยบายถึง 7 ครั้ง รวม 4.25% มาอยู่ที่ ระดับ 4.25-4.50% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นการขึ้นที่เร็วและแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน รวมถึง ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศ ต้องดำเนินนโยบายในรูปแบบเดียวกัน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อันนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นที่ทั่วโลก จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทย ในปี 2565 ได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวภายหลังการเปิดประเทศช่วงกลางปี การขยายตัวของการบริโภค ภาคเอกชนส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐ และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนเริ่มชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง
มาตรการภาครัฐหนุน
สำหรับในปี 2566 คาดว่า เศรษฐกิจโดยรวมของไทยจะขยายตัวได้ราว 3.6-4.0% แต่ ยังต้องเผชิญกับความไม่ แน่นอนสูง ทั้งความไม่ แน่นอนภายในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะ เป็นความเสี่ยงที่จะเกิด Recession ของเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐ ความเสี่ยงที่เกิดจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ ภาระหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ความเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อ ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในปี 2566
อย่างไรก็ดีภาค อสังหาริมทรัพย์มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท ถึงสิ้นปี 2566
Reference: หนังสือพิมพ์ทันหุ้น