JLLชี้ศูนย์การค้า-รร.-คอนโดหรูเริ่มฟื้นออฟฟิศเช่าซัปพลายใหม่ทะลักตลาด
นายไมเคิล แกลนซี กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล กล่าวว่า “จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างดังที่เห็นตัวอย่างได้จากความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นของไทย ทำให้มีนักลงทุนจำนวนมากที่ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทย โดยรวมยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และเชื่อว่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้”
“โดยทั่วไป ดีมานด์หรือความต้องการในตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะมีความสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งในกรณีของประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะยังคงขยายตัว โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญคือการฟื้นตัวของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางเดือนมิถุนายนปีนี้ มีนักท่องเดินทางเข้ามาแล้วมากกว่า 11 ล้านคน นอกจากนี้ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ย แม้จะมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่โดยทั่วไปยังคงอยู่ในแดนต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่สามารถควบคุมระดับได้ตามเป้า ทั้งหมดนี้นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ตลอดรวมจนถึงภาคธุรกิจอสังหาฯ”
นายแกลนซี กล่าวถึง สถานการ์ตลาดอสังหาฯกทม.ว่า ปัจจุบัน มีคอนโดลักชัวรีสร้างเสร็จแล้ว73,000 ยูนิต ในจำนวนนี้ มียูนิตเหลือขาย4.9% ขณะที่มีซัปพลายใหม่เพิ่มขึ้นในปริมาณที่จำกัด โดยคอนโดกลุ่มนี้เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว ตั้งแต่ในไตรมาสแรกของปี ซึ่งในส่วนของราคาเฉลี่ยมีการขยับเพิ่มขึ้น 0.6% จาก 12 เดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่เฉลี่ยตารางเมตรละ 211,500 บาท เช่นเดียวกัน ตลาดคอนโดลักชัวรีให้เช่า มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นจากกลุ่มผู้เช่าชาวต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามา โดยพบว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ค่าเช่าคอนโดฯลักชัวรีได้ปรับเพิ่มขึ้นแล้วเฉลี่ย 30%
ส่วนสถานการณ์ตลาดศูนย์การค้าชั้นดีนั้น ปัจจุบันมีศูนย์การค้าชั้นดีคิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 3.6 ล้านตารางเมตร และมีพื้นที่ว่างเหลือเช่าเพียง 5% กลุ่มธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่มเป็น กลุ่มผู้เช่าที่มีการเช่าพื้นที่คึกคักมากที่สุด ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับดี จำนวนลูกค้าผู้ซื้อสินค้าบริการที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการมีตัวเลือกมากขึ้นสำหรับพื้นที่ให้เช่าในศูนย์การค้าชั้นดีที่สร้างเสร็จหรือปรับปรุงเสร็จใหม่ ทำให้มีผู้ประกอบการค้าปลีกสนใจขยายสาขาหรือเข้ามาเปิดกิจการในศูนย์การค้าชั้นดีของกรุงเทพฯ มากขึ้น ทั้งนี้ เฉพาะในไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการค้าปลีกแบรนด์สินค้าและบริการมากกว่า 36 รายประกาศแผนที่จะเปิดสาขาใหม่ในกรุงเทพฯ
ขณะที่ สถานการณ์ธุรกิจโรงแรม พบว่า ภาคธุรโรงแรมทุกระดับของกรุงเทพฯ ยังคงฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้วถึงปีนี้ โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้เทียบกับ 12 เดือนก่อนหน้า มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักจากจำนวนห้องพักที่เปิดให้บริการทั้งหมดปรับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 310% สำหรับกลุ่มโรงแรมระดับ 4-5 ดาว และเกือบ 220% สำหรับกลุ่ม 3 ดาวและกลุ่มโรงแรมราคาประหยัด การปรับตัวดีขึ้นของรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักดังกล่าว เกิดจากอัตราการเช่าใช้บริการห้องพักและค่าบริการห้องพักรายวันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคธุรกิจท่องเที่ยว
ส่วนสถานการณ์ตลาดอาคารสำนักงานเกรดเอ ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีอาคารสำนักงานเกรดเอให้เช่าในย่านศูนย์กลางทางธุรกิจคิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านตารางเมตร ธุรกรรมการเช่าใหม่ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นการเช่าพื้นที่สำนักงานเกรดเอ สะท้อนให้เห็นความต้องการของบริษัทผู้เช่าสำหรับการมีออฟฟิศ/ที่ทำการในอาคารสำนักงานที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ดี การที่มีโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานเกรดเอจำนวนมากที่กำลังทยอยสร้างเสร็จเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการว่างของพื้นที่เช่าในอาคารเกรดเอโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 21.5% เนื่องจากโครงการที่สร้างเสร็จใหม่ต้องใช้เวลาในการหาผู้เช่าเข้ามาเติมเต็มพื้นที่เช่าในอาคาร
“แนวโน้มดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปในตลอดปีนี้ เนื่องจาก ณ สิ้นปี ปริมาณพื้นที่สำนักงานเกรดเอทั้งหมดของกรุงเทพฯ จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านตารางเมตร โดยจะเป็นพื้นที่จากโครงการสร้างเสร็จใหม่ในปีนี้ 228,000 ตารางเมตร”
Reference: ผู้จัดการรายวัน360องศา