CPN ปี 64 สดใสมาตรการรัฐหนุน หลายธุรกิจฟื้น-ล็อกดาวน์กระทบน้อย
ตลาดเงิน
ตลาดทุน
การล็อกดาวน์สมุทรสาคร ฉุดผลประอบการ “เซ็นทรัล”แค่เล็กน้อย เพราะกระทบเพียง วงจำกัด ขณะที่ภาพรวมไตรมาส 4 ได้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐหนุน แถมปีหน้าหลายธุรกิจฟื้นตัวผลักดันรายได้เติบโต หนุนกำไรปี 64 อาจทะลุหมื่นล้านบาท
ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดรอบใหม่ของ เชื้อไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้น ณ จ.สมุทรสาคร และแพร่กระจายในหลายจังหวัด ส่งผลต่อการดำเนินงานของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) เช่นกัน เนื่องจากหนึ่งในสาขาของบริษัทจำต้องถูก ล็อกดาวน์ เพราะอยู่ในพื้นที่ระบาดร้ายแรง แต่กลับกันแนวโน้มธุรกิจระยะยาวของ CPN หลายฝ่ายยังเชื่อว่าสดใส และมีโอกาสฟื้นตัวจากปี 2563 แต่ยังมีความท้าทายหลายประการที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ
CPN ของ ตระกูล “จิราธิวัฒน์” ประกอบธุรกิจพัฒนาโครงการศูนย์การค้า รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (Mixed-Use) อาคารสำนักงาน โรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ที่พักอาศัย (Residential) โดย ธุรกิจศูนย์การค้า เป็นธุรกิจหลักของบริษัทซึ่งคิดเป็น สัดส่วนรายได้ราว 80% และ CPN เป็นผู้ประกอการที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดราว 20% ในเขตกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล ผ่านศูนย์การค้าภายใต้บริหารจำนวน 34 แห่ง
นอกจากนี้ CPN มีการลงทุนและทำหน้าที่บริหารอสังหาริมทรัพย์ ในกองทรัสต์ CPNREIT จำนวน 5 โครงการ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ CPNCG รวมถึงธุรกิจอาคารสำนักงาน ธุรกิจโรงแรม โครงการที่พักอาศัย การลงทุนในบริษัทเบย์วอเตอร์ สัดส่วน 50% จากบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (มหาชน) ซึ่งมีที่ดินบริเวณถนนพหลโยธิน เตรียมพัฒนาโครงการ อสังหาริมทรัพย์แบบ Mixed Used เป็นฐานรายได้ในอนาคต และอีก 50% ถือหุ้นโดยบริษัทย่อยของบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน)
รวมถึง โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ปัจจุบัน CPN ถือหุ้น 17% ในบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) (DTC) และได้พัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค หัวมุมถนนสีสม ประกอบด้วย ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค อาคารสำนักงาน และที่พักอาศัย คาดก่อสร้างแล้วเสร็จเริ่มทยอยเปิดดำเนินการในช่วงปี 2566-2567 ซึ่งจะให้ผลตอบแทนกับ CPN ในระยะยาว โดย CPN ถือหุ้น 85% ของส่วนศูนย์การค้าและถือหุ้น 100% ในอาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าเซ็นทรัลไอ-ซิตี้ ในประเทศมาเลเซีย ด้วยสัดส่วน 60% นอกจากนี้ ยังถือหุ้น Grab (ประเทศไทย) ผ่านบริษัทลูก Chipper โดยเข้าลงทุนในบิรษัท Porto Worldwide Limited (Porto) ในสัดส่วน 33%
ที่ผ่านมาภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกเริ่ม ปรับตัวดีขึ้น ภายหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยดัชนีค้าปลีกที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่เริ่มต้นการ ผ่อนคลายล็อกดาวน์ ดัชนีอยู่ระดับ 195.10 จุด เพิ่มขึ้นมา 239.48 จุดในเดือนกันยายน แต่ดัชนีปรับ ลดลง 3.2% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ข้อมูลจากเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 52.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ที่ระดับ 50.9 จุด เนื่องจากความกังวลเรื่องการเมืองภายในประเทศ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนสาเหตุจากรัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น โดยเชื่อว่ากำลังซื้อจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย อย่างไรก็ตามคาดว่าการเติบโตของอัตราการเช่าเฉลี่ยอาจมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้มีการทำงานในรูปแบบ New Normal ทำให้บางบริษัทพิจารณารูปแบบการทำงานในลักษณะ Work From Home มากขึ้น อาจมีผลกระทบต่อการคาดหมายอัตราการเช่าเฉลี่ยในอนาคตน้อยลง
ส่วนปัจจัยบวกระยะสั้น สำหรับ CPN เชื่อว่าจะได้อานิสงส์จากมาตรการภาครัฐช่วยสนับสนุน โดยในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ กลุ่มค้าปลีกจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้น นอกเหนือจากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย เพราะกำลังซื้อมีส่วนเพิ่มจากนโยบายภาครัฐที่มีมาตรการต่างๆให้การสนับสนุน และจากมาตรการภาครัฐดังกล่าวที่ได้ผลตอบรับดี ทำให้ มีโอกาสที่ภาครัฐจะพิจารณา ในการขยายนโยบาย หรือ เพิ่มนโยบายอื่นๆ เพื่อคาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2564 เป็นระยะถัดไป
ด้านสถานะการเงิน CPN รายงานกำไรปกติเติบโตอย่างต่อเนื่องอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ในช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2558 - ปี 2562 เพิ่มขึ้น 11% สอดคล้องกับรายได้ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 11% การเติบโตจากการขยายศูนย์การค้าซึ่งช่วยเพิ่มพื้นที่ให้เช่าจาก 1.6 ล้านตารางเมตรในปี 2558 (29 ศูนย์การค้า) เป็น 1.8 ล้านตารางเมตรในปี 2562 (34 ศูนย์การค้า) แต่หลังจากในปี 2563 ผลกระทบจาก COVID-19 ส่งผลต่ออัตราการเติบโตเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลประกอบการในปี 2564 จะเห็นการฟื้นตัวขึ้นหลังจากประเด็น COVID-19 เริ่มคลี่คลาย โดยประมาณการกำไรปกติไว้ที่ 9.7 พันล้านบาท เติบโต 32% จากปี 2563 และเมื่อรวมกำไรจากการขายสิทธิการเช่าศูนย์การค้าจำนวน 2 แห่งคือ เซ็นทรัลมารีน่าชลบุรี และเซ็นทรัล-ลำปาง จะทำให้มีกำไรจากรายการดังกล่าวบันทึกเข้ามาราว 1.2 พันล้านบาท และทำให้ CPN จะมีกำไรสุทธิราว 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมาจากการฟื้นตัวของรายได้จากทุกธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัวทั้งจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ที่ผ่านมาบริษัทมีระดับอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับ 48%-50% โดย ผลประกอบการจะเข้าสู่ภาวะปกติที่มีระดับมาร์จิ้นในปี 2564 ได้ราว 50% และระดับอัตรากำไรปกติเฉลี่ย 28% ส่วน ROE เฉลี่ยอยู่ราว 16%-17% ยังทำได้ดีสูงกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ประกอบการศูนย์การค้า ที่สามารถทำ ROE ได้เฉลี่ยราว 12% อีกทั้งบริษัทมีฐานะการเงินแข็ง มี Net D/E ratio อยู่ราว 0.53 เท่า ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นมี Net Debt to equity ratio เช่น MBK 0.74 เท่า, SF 0.20 เท่า
ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เชื่อว่าแนวโน้มผลการ ดำเนินงานไตรมาส 4/63 บริษัทจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 3/63 (Q3/63 กำไรสุทธิอยู่ที่ 2.48 พันล้านบาท เติบโต 431% จากไตรมาสก่อน) เนื่องจากเข้าสู่ช่วง High season พร้อมคาดกำไรปกติปี 63 จะอยู่ที่ 7.3 พันล้านบาท ส่วน ปี 64 กำไรปกติจะอยู่ที่ 9.6 พันล้านบาท เติบโตอย่างโดดเด่นราว 32.5% จากปีก่อนและรายได้จะอยู่ที่ระดับ 3.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.6% จากปีก่อนได้แรงหนุนจากธุรกิจศูนย์การค้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากมาตรการรัฐที่สนับสนุนการ จับจ่ายใช้สอยช่วยเพิ่มกำลังซื้อในตลาดในช่วงปลายปี 63 ถึงต้นปี 64 เช่น “ช้อปดีมีคืน” “เราเที่ยวด้วยกัน” “คนละครึ่ง” เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้ว CPN ยังมีประเด็นบวกจากการขายสิทธิการเช่าของศูนย์การค้าเข้ากอง CPNREIT ในปี 64 จำนวน 2 แห่ง ที่จังหวัดอยุธยา และชลบุรี บริเวณอำเภอศรีราชา และในปี 65 ก็ยังมีแผนจะเปิดศูนย์การค้าอีก 1 แห่งที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อรองรับกลุ่ม ลูกค้า EEC ที่คาดเห็นการเติบโตจากภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ขณะเดียวกันในช่วงปี 67 มีเปิดโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เป็นโครงการที่มีศักยภาพทำเลใจกลางเมือง หัวมุมถนนสีสม และถนนพระรามที่ ๔ ซึ่ง CPN จะได้ประโยชน์จากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้ ผลตอบแทนในอนาคตเช่นกัน จึงแนะนำ “ซื้อ”ประเมินราคาเหมาะสม ปี 64 ที่ 67 บาท/หุ้น
สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สุมทรสาคร ประเมินผลว่าจะเกิดผลกระทบจากการปิดห้างต่อรายได้ค่าเช่า และ EBIT ในไตรสุดท้ายปีนี้น้อยกว่า 0.5% ขณะที่ห้างสาขาอื่นยังดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจวัดอุณหภูมิ และการทำ ความสะอาดพื้นที่ เนื่องจากผลกระทบจากการ ปิดห้างสรรพสินค้าเป็นเวลาสองสัปดาห์จะยังส่งผล กระทบในวงแคบ แต่จะเป็นสัญญาณเสี่ยง หากมีการแพร่ระบาดระลอกใหญ่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ทาง CPN ได้สั่งหยุดการให้บริการทุกชนิด รวมถึงการส่งอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งต่างไปจากมาตรการล็อกดาวน์ในระลอกแรกที่ยังคงให้ร้านค้าจำหน่ายสินค้าแบบส่งอาหารอยู่ ในส่วนของรายได้ประจำปีของ CPN เซ็นทรัล พลาซา มหาชัย สร้าง รายได้คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 2% นอกจากนี้อัตรา ผู้เข้าใช้บริการในสาขามหาชัยนั้นก็ได้มีการปรับตัว ลดลงตั้งแต่การระบาดรอบแรกในช่วงต้นปีอยู่แล้ว เนื่องจากห้างสรรพสินค้านั้นเน้นลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงแนะนำให้ “ซื้อ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 66.00 บาท (SOTP)
”ภาดล วรรณรัตน์” ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด วิเคราะห์สถานการณ์ COVID-19 ในตอนนี้ว่า จะกดดันบรรยากาศการลงทุนในกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมในกรอบจำกัด เนื่องจากใกล้ช่วงวันหยุดยาวการซื้อ-ขายของนักลงทุนต่างชาติเริ่มเบาบางลง สำหรับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยในประเทศ เพราะการตัดสินใจลงทุนในช่วงก่อนเทศกาลหยุดยาวมีหลายปัจจัยประกอบกัน
โดยหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมทั้ง AAV, BA, MINT, CENTEL, ERW, AOT, CRC, CPN, MAJOR และ SPA ได้รับปัจจัยกดดันทางด้าน จิตวิทยาการลงทุน ประกอบกับราคาหุ้นเร่งตัวขึ้นมาในระดับที่นักลงทุนมีกำไร จึงคาดว่าจะมีแรงขาย ทำกำไรออกมา ก่อนจะกลับเข้าทยอยลงทุนช่วง ครึ่งหลังของไตรมาส 1/2564 เพื่อรับการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
ขณะที่ บล.ทิสโก้ คาดว่าหุ้นที่จะได้รับผล กระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตรงมากที่สุด คือ หุ้นที่มีที่ตั้งและธุรกิจอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร จากการตรวจสอบมีทั้งหมด 13 บริษัท เช่น ASIAN, EKH, M-CHAI, VIH เป็นต้น คิดเป็นประมาณ 2% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้ง SET และ mai ทั้งหมดที่มีจำนวน 808 ขณะที่รายได้และ ยอดขาย คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.3% และ 0.4% ของผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในช่วง 9 เดือนของปี 2563
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ จะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อบรรยากาศการบริโภค และการท่องเที่ยวภายในประเทศ กลุ่มที่ได้รับ ผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก เช่น ห้างสรรพสินค้า ได้แก่ CPN, CRC, HMPRO, GLOBAL, BJC, MAKRO และ DOHOME ในพื้นที่ถูกสั่งปิดชั่วคราว
สำหรับร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ CPALL เปิดได้ แต่ให้ปิดในช่วงกลางคืน รวมทั้งกลุ่มร้านอาหาร เช่น M, ZEN, AU และ OISHI มีผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้โดยรวมเฉลี่ยราว 1-2% เท่านั้น แต่วัตถุดิบอาหารอาจเป็นบวกเล็กน้อย (RBF) จากการกักตุนอาหาร ส่วนกลุ่มเกี่ยวข้อง การท่องเที่ยวและเดินทาง เช่น BDMS, BH, AOT, AAV, CENTEL, ERW และ MINT ได้รับผลกระทบเช่นกันจากความระมัดระวังของประชาชนในการ เดินทาง ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดว่ารุนแรงยาวนานเพียงใด และกลุ่มแบงก์โดยรวมที่อ่อนไหวกับเศรษฐกิจอาจเผชิญแรงขายระยะสั้นด้วยจากความกังวลเกี่ยวกับ NPL
แต่สำหรับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย และ หุ้นเทคโนโลยีตามกระแส New Normal จะได้ประโยชน์ อาจมีแรงเก็งกำไรในระยะสั้น เช่น STGT, STA, HANA, KCE, COM7, ILINK, JMT, SIS และ SYNEX รวมทั้งการขายประกัน เช่น TQM และ BLA
ดังนั้นการแพร่ระบาดรอบใหม่ จะกดดันบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเฝ้าระวังไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยคาด SET Index จะตอบสนองด้วยการปรับตัวลงราว 2-3% แต่คาดว่าจะเป็นจังหวะดีในการทยอยสะสม/ซื้อคืน หลังจากที่แนะนำให้นักลงทุนระยะสั้นทยอยขายช่วง SET Index ขึ้นเข้าใกล้บริเวณ 1,500 จุด
Reference: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา