CPANEL เร่งอัพกำลังผลิตเด้งรับโปรเจ็กต์ก่อสร้าง

25 Apr 2023 306 0

 

 

          นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete) ด้วยระบบอัตโนมัติ (Fully Automated Precast) ที่ใช้สำหรับงานก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจครึ่งปีแรกปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตดี ตามดีมานด์หรือคำสั่งซื้อ(ออเดอร์) ที่มีเข้ามา ส่วนหนึ่งออเดอร์ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีต่างชาติย้ายถิ่น หรือเป็นหนึ่งในประเทศที่นักท่องเที่ยวมีเป้าหมายเดินทางเข้ามา ทำให้งานก่อสร้างมีโปรเจ็กต์เพิ่ม และส่งมาในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง รวมถึงผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete)

          ลุ้นเศรษฐกิจโต

          ขณะที่ภาพเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลก อาจจะเห็นภาพการชะลอตัวบ้าง จากบางประเทศ ส่วนในเอเชียการเติบโตที่ชัดเจนจะเป็นประเทศจีน หากมองภาพรวมทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Southeast Asia ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เบื้องต้นคาดตัวเลข GDP จะยังเติบโตต่อเนื่องจากที่ผ่านมา

          ขณะเดียวกันพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการขยายงานก่อสร้างค่อนข้างมาก และบริษัทมีโรงงานอยู่ในเบต EEC ทำให้บริษัทเห็นโอกาสการเติบโต และช่องทางการขายสินค้าในเขตดังกล่าวอีกด้วย

          บริษัทคาดทิศทางงานในมือ หรือ Backlog ต่อจากนี้จะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ Backlog สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท คาดจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ปีนี้ราว 40% นอกจากนี้บริษัทเตรียมเซ็นสัญญารับงานใหม่เร็วๆ นี้อีก 200 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตามบริษัทจะมุ่งเน้นกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าภาคอสังหา ตามหัวเมืองใหญ่ โรงแรม และนิคมอุตสาหกรรม ทั้งแนวราบ แนวสูง อาทิ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนให้ธุรกิจเติบโตในอนาคต

          ดันมาร์จิ้นพอง

          นายชาคริต กล่าวต่อว่า บริษัทยังคงเดินหน้าเพิ่มกำลังผลิตตามแผน โดยจะเห็นภาพกำลังที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2566 จนถึงต้นปี 2567 บริษัทจะเพิ่มกำลังผลิตอีก 25% เป็น 9.9 แสนตารางเมตร หรือเกือบ 1 ล้านตารางเมตร จากปีก่อนเพิ่มแล้ว 10% เป็น 7.9 แสนตารางเมตร ซึ่งกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นจะรองรับออเดอร์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์จากลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ การเพิ่มกำลังการผลิตจะช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็ว ออกแบบได้แม่นยำ ลดโอกาสการผิดพลาด และมีคุณภาพ เพิ่มโอกาสการรับงานได้มากขึ้น ส่งผลให้บริษัทมี Economy of Scale ต้นทุนการผลิตลดลง และช่วยเพิ่มอัตราการทำกำไร (มาร์จิ้น) ให้สูงขึ้น

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button