BEM กำไรQ3 พุ่ง700% ชูนิวไฮนับตั้งแต่ปี63 หนุน9เดือน1.8พันล้าน 

15 Nov 2022 610 0

          “ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” โชว์ไตรมาส 3/65 กำไรสุทธิ 863 ล้านบาท พุ่งแรงเกือบ 700% ทำนิวไฮนับตั้งแต่ปี 63 ที่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ภายหลังเปิดประเทศ หนุนปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนและผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะงวด 9 เดือนฟันกำไรสุทธิ 1,833 ล้านบาท โต 198.5%
          นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่าผลประกอบการไตรมาส 3/2565 มีกำไรสุทธิ 863 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 699.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 108 ล้านบาท ถือว่าเป็นอัตรากำไรที่ทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) นับตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ขณะที่มีรายได้รวม 4,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2,432 ล้านบาท
          เนื่องจากปัจจัยบวกที่เกิดขึ้นภายหลังการเปิดประเทศที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนและผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนในไตรมาส 3/2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,069,102 เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้น 59.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีผู้โดยสารเฉลี่ย 312,663 เที่ยว เพิ่มขึ้น 292.4% จึงมั่นใจว่าการฟื้นตัวครั้งนี้เป็นแบบ V Shape แน่นอน
          ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนของปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 198.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 614 ล้านบาท  และมีรายได้รวม 10,808 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 8,359 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณจราจรและปริมาณผู้โดยสารที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น
          โดยในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 วันที่ 28 พ.ย.นี้ BEM จะเสนอให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาการเข้าทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และพิจารณาการเข้าทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้บริหารและก่อสร้างงานโยธา (ช่วงตะวันตก) และผู้ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบอุปกรณ์งานระบบ และทดลองเดินทางรถไฟฟ้า (ช่วงตะวันออกและตะวันตก) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
          ทั้งนี้หลังจากลงนามในสัญญาแล้ว BEM มีความพร้อมที่จะเข้าดำเนินงานได้ทันที และมั่นใจว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์) ได้ภายใน 3 ปีครึ่ง และส่วนตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ได้ภายใน 6 ปี ตามแผนงานของ รฟม.
 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button