เศรษฐกิจเวลเนส เมกะเทรนด์ลงทุนอีอีซี
ชนาภา ศรจิตติโยธิน
กรุงเทพธุรกิจ
ภาครัฐกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub 2560-2569 และให้การสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เพื่อเตรียมพร้อมผลักดันให้เป็นระเบียงสุขภาพภาคตะวันออก (EWC)
ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษด้านการแพทย์ 2 แห่ง ได้แก่
1.ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์พัทยา (EECmd) ซึ่งได้ ตั้งเป้าหมายสู่ “Medical Valley” ซึ่งการก่อสร้างมีโครงการสำคัญ อาทิ สถาบันวิจัยการแพทย์ชั้นสูง โรงพยาบาลดิจิทัล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
2.ศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (EECg) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ และถอดรหัสพันธุกรรม สร้าง Big Data ห้องสมุดดีเอ็นเอ รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
รวมทั้งภาครัฐมีการลงนามความร่วมมือ กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริการ และ ด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อส่งเสริม การลงทุนอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพครบวงจร
อีกทั้งยังขับเคลื่อนการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพ ที่จะเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ
สุขภาพครบทุกมิติตามนโยบายของรัฐบาลยกระดับด้านสาธารณสุขประชาชนในท้องถิ่น เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมรับการเติบโตด้านการดูแลผู้สูงวัยทั้งในพื้นที่และชาวต่างชาติ รวมถึงเป็นฐานความร่วมมือที่สำคัญ ในการต่อรองของไทยในการเสริม ความแข็งแกร่งความร่วมมือด้านการแพทย์กับต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาให้ชุมชนท้องถิ่น เช่น กลุ่มท่องเที่ยว นวัตวิถี กลุ่มผู้ผลิตสินค้าโอทอป และ วิสาหกิจชุมชนตลอดจนผู้ประกอบการรายย่อย ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การใช้จุดเด่นทางวัฒนธรรมและศิลปเอกลักษณ์ในท้องถิ่น รวมทั้ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในกลุ่ม ผู้มีรายได้สูงให้เข้า EEC
ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เตรียมพัฒนา Wellness route ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ พัฒนาเมือง พัฒนาชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยจะมีการพัฒนาศูนย์กลางสุขภาพ 10 สถานที่ใน EEC เช่น บางแสน บางพระ ศรีราชา พัทยา บางเสร่ พลูตาหลวง ตะพง
รวมทั้ง สกพอ.หารือ กรมธนารักษ์ขอใช้ 3 พื้นที่ศักยภาพสูง เพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รองรับ Wellness route ซึ่งจะมีรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ทั้งอาคาร ศูนย์สุขภาพและศูนย์ความงามสปา ประกอบด้วย 1.บางแสน 2.บางเสร่ 3.บางพระ
นอกจากนี้ ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One stop service) เพื่ออำนวยความสะดวกการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Wellness
อภิชาติ โมฬีชาติ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทโรงพยาบาลเอสเตลล่า เวิลด์ ฮอสพิทอล และกรรรมการกฎบัตรไทย กล่าวบรรยายในการอมรมหลักสูตร “EEC Prime” รุ่นที่ 2 จัดโดยสถาบันยูพีเอ็ม อะคาเดมี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2565 ว่า รายงานของสถาบันด้านสุขภาพสากล (GWI) พบว่า เศรษฐกิจเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Economy ในปี 2020 มีมูลค่าตลาดทั่วโลก 4.4 ล้านดอลลาร์ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.9% ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาด 7 ล้านล้านดอลลาร์ใน 3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวลเนส ประกอบไปด้วย 11 กลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงาม และชะลอวัยมีมูลค่าตลาดสูงสุด อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์, ตามด้วยกิจกรรม ออกกำลังกาย 8.28 แสนล้านดอลลาร์, อาหารเพื่อสุขภาพ โภชนาการและลดน้ำหนัก 7 แสนล้านดอลลาร์, ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 6.39 แสนล้านดอลลาร์,
การแพทย์เชิงป้องกัน การแพทย์ ส่วนบุคคล และการแพทย์สาธารณสุข 5.75 แสนล้านดอลลาร์, การแพทย์แผนโบราณ 3.6 แสนล้านดอลลาร์, อสังหาริมทรัพย์ด้านสุขภาพ 1.34 แสนล้านดอลลาร์, สปา 1.19 แสนล้านดอลลาร์, บ่อน้ำแร่และ น้ำพุร้อน 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ และ สุขภาพในที่ทำงาน 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ แม้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจสุขภาพหดตัวลง 11% แต่เชื่อว่าหลังจากนี้มูลค่าตลาด จะกลับมาขยายตัวมากขึ้น เพราะเมกะเทรนด์ ที่เกิดขึ้นหลังจากโรคระบาดใหญ่คือเทรนด์การใส่ใจด้านสุขภาพ และไลฟ์สไตล์ของ ผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากขึ้น
รวมทั้งเศรษฐกิจเชิงสุขภาพมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ใน EEC ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ ทำให้โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมเวลเนสมีขนาด ที่ใหญ่กว่าอุตสาหกรรมการแพทย์ เนื่องจากลูกค้าที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่เพียงผู้ป่วย แต่รวมถึง กลุ่มคนรักสุขภาพ โดยมีห่วงโซ่คุณค่า ที่ครอบคลุมตั้งแต่ด้านอาหารเป็นยา การออกกำลังกาย แพทย์แผนไทย ความงาม การบำบัด การชะลอวัย
ขณะเดียวกันตัวเลขที่น่าสนใจจากรายงาน พบว่าเทรนด์ที่น่าจับตามองของเศรษฐกิจเวลเนสในอนาคต คือ วงการอสังหาริมทรัพย์ ที่ตอบโจทย์สุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวที่ยังเติบโตได้ดีในช่วงโควิด ขยายตัว 22.1% เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น และเริ่มมีการศึกษาที่เชื่อมโยงของสภาพแวดล้อมที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมีผลต่อสุขภาพจิตที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี
”เทรนด์ด้านสุขภาพจึงกลายเป็นไลฟ์สไตล์แบบใหม่ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มนำไปเป็นจุดขายที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น โดยตลาดดังกล่าวคาดว่าจะเติบโตราว 5-15% ต่อปี”
เศรษฐกิจเชิงสุขภาพเชื่อมกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย EEC ทั้งการท่องเที่ยว อิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมการแพทย์ อภิชาติ โมฬีชาติ
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ