เร่งหาข้อสรุป ขยายสุวรรณภูมิ 5.7หมื่นล้าน
”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ฉวยจังหวะผู้โดยสารน้อยจากพิษโควิด หาข้อสรุปแผนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ 5.7 หมื่นล้านบาท โดยเร่งทำแผนแม่บทฉบับ Revisit ก่อนเสนอบอร์ดสภาพัฒน์ และชงเข้าครม.ต่อไป ด้านทอท.หารือกรมบัญชีกลาง-อัยการติดขัดพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างกรณีจ้าง ICAO ศึกษา
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ากระทรวงคมนาคมจะผลักดันโครงการส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ทิศตะวันตก (West Expansion) และทิศเหนือ (North Expansion) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิให้รองรับผู้โดยสารได้ 120 ล้านคนต่อปี มูลค่าการลงทุน 5.7 หมื่นล้านบาท ให้ได้ข้อสรุปจากรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อให้เริ่มทยอยก่อสร้างได้ภายใน 1-2 ปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ใช้บริการสนามบินน้อยจากผลกระทบของโควิด-19
”เราได้ประชุมร่วมกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็มีความชัดเจนในกระบวนการการทำแผนแม่บทฉบับ Revisit ซึ่งบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.จะจ้างให้สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาร่วมศึกษาและทำข้อเสนอแนะ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ก็จะเสนอข้อมูล Revisit นี้ ต่อบอร์ดของสภาพัฒน์ เพื่อจะนำเสนอครม.พิจารณาต่อไป”
ส่วนข้อเสนอแนะของป.ปช.ที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ ก็เป็นข้อเสนอแนะที่ทำได้ตามอำนาจกม.ป.ป.ช. แต่การตัดสินใจเป็นเรื่องของผลประโยชน์ชาติ และผลการศึกษาก็มีซึ่งเราก็มองว่าไม่ได้ผิด ถ้าไม่ทำวันนี้ ในอนาคตถ้านักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทย สนามบินสุวรรณภูมิก็จะเกิดความแออัดไม่ต่างจากในอดีต เพราะการก่อสร้างต้องใช้เวลาหลายปี และอย่างไรการท่องเที่ยวก็ต้องกลับมา ไม่ว่าจะสนามบินไหนก็ต้องขยาย เพื่อให้บริการ Slot (ตารางบิน) ได้เพิ่มขึ้น
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.
กล่าวว่าทอท.ได้ว่าจ้าง IATA ไปแล้วเมื่อปี 62 คาดว่าในต้นเดือนมิ.ย.นี้ก็จะส่งมอบงานได้แล้วเสร็จ ซึ่งก่อนหน้านี้มีส่งงานมาแล้ว 1 งวด ซึ่ง IATA ประเมินจำนวนผู้โดยสารใน 3 สนามบินสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา
โดยคาดว่าหลังจากโควิดจะมีผู้โดยสารราว 170 ล้านคนในอีก 10-20 ปีข้างหน้า รวมถึง IATA ยังแนะนำถึงความต้องการในฐานะผู้ใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น การเพิ่ม Bus Gate, เพิ่ม Curb Side เพื่อให้มีที่จอดรถเพิ่มขึ้น, ข้อเสนอแนะเรื่องของ Contact Gate (หลุมจอดประชิดอาคาร) เป็นต้น ซึ่งการขยายสนามบินจะประมาณการโดยยึดหลักผู้โดยสารอยู่ที่ 70% ของศักยภาพการรองรับของสนามบิน
ในส่วนของการจ้าง ICAO ที่ผ่านมาเคยจ้างและมีผลการศึกษาออกมาในปี 54 แต่การว่าจ้างใหม่เพื่อให้สอดรับกับยังติดขัดเรื่องของพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ ที่กำหนดว่าการจ่ายค่าจ้างต้องจ่ายตามงวดของการส่งมอบงาน ขณะที่ ICAO กำหนดว่าต้องจ่ายทั้ง100% ทำให้ทอท.ได้ทำหนังสือสอบถามและหารือไปยังกรมบัญชีกลางและอัยการ ที่ยังคงต้องรอคำตอบอยู่
การจัดทำแผนแม่บท Revisit นี้ก็เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนการขยายสนามบินสุวรรณภูมิที่จะเกิดขึ้น เพราะก่อนโควิด สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสาร 65 ล้านคน ขณะที่ศักยภาพของสนามบินอยู่ที่ 45 ล้านคนทำให้เกิดปัญหาความแออัดมาก การขยายสนามบินในช่วงโควิดที่มีโดยสารน้อยก็จะทำให้ไม่กระทบต่อให้บริการ
นายนิตินัย ยังกล่าวต่อว่า สำหรับการขยายรันเวย์ 3 เพื่อรองรับเที่ยวบินเพิ่มจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง มูลค่าการลงทุน 2.8 หมื่นล้านบาท (รวมการชดเชยผลกระทบทางเสียงให้แก่ประชาชน) ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะแล้วเสร็จในปี 66 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 67
ส่วนอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี และระบบรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) เดิมคาดว่าจะเปิดให้บริการสิ้นมี.ค.65 แต่จากผลกระทบของโควิด-19 ก็กำลังพิจารณาว่าจะต้องเลื่อนการเปิดออกไปอีกหรือไม่ ซึ่งต้องทอท.รอดูแผนเปิดประเทศของรัฐบาล รวมถึงแผนการฟื้นฟูการบินไทยด้วยว่ามีแผนการบินอย่างไร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการบริหารหลุมจอดของทอท.เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยจอดเครื่องอยู่กว่า 50-60 ลำ
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ