อสังหาฯ แก้ปมลูกค้าผ่อนคอนโดฯ-บ้าน NPLปูด ชูบริการ คลินิกการเงิน
อสังหาริมทรัพย์
อุ้มรายใหม่กู้แบงก์พันธมิตร ป้องกันยอดโอนสะดุด
การคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล และการเร่งระดมฉีดวัคซีน พร้อมกับนำเข้าวัคซีนจำนวนมากเข้าสู่ประเทศไทย อาจจะเป็นประเด็นที่สะท้อนว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถ้ามองไปข้างหน้าจะคลี่คลาย!
ขณะที่ รัฐบาลได้มีการออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภาคอสังหาริมทรัพย์ หนึ่งในนั่น คือ จะดึงชาวต่างชาติที่มีความมั่งคั่งเข้ามาซื้ออสังหาฯในประเทศไทย แต่ ประเด็นดังกล่าว ยังคงต้องติดตาม หลังเปิดประเทศ อย่างจริงจัง การเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผน จะสร้างแรงจูงใจได้มากน้อยเพียงใด
ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) ประเมินว่า ปี 2565 ดัชนีหลายตัว บ่งชี้ให้เห็นกิจกรรมของภาคอสังหาฯที่จะกลับมา แต่การฟื้นตัวอย่างจริงจังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ขณะที่ การพึ่งพา กำลังซื้อภายในประเทศ ยังคงเป็นประเด็นหลักที่จะหนุนให้อสังหาฯปรับตัวดีขึ้น และสร้างความยั่งยืนเมื่อเศรษฐกิจพลิกฟื้น
อย่างไรก็ตาม ปมที่ยังคงเป็นปัญหากับภาคธุรกิจอสังหาฯ คือ การปล่อยสินเชื่อรายย่อยของธนาคาร และความเปราะบางของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีความเสี่ยงไม่สามารถผ่อนบ้านกับธนาคารได้!
ตามข้อมูลของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ที่คาดการณ์ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93% ในสิ้นปี 2564 โดยพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1 ของปี 2564 ใช้เพื่อซื้ออสังหาฯ สูงที่สุดถึง 34% ลูกหนี้ที่เข้าโครงการรับการ ช่วยเหลือในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ยังมาจากหนี้ที่อยู่อาศัยเป็นหลัก มียอดขอความช่วยเหลือรวมสูงถึง 4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เทียบกับยอดหนี้เสียที่ 0.6% ของ GDP
LPN ลดขนาดโครงการ ให้รับกับกำลังซื้อในยุคโควิด
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ (LPN) เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายวัน360” ถึงแผนการดำเนินธุรกิจของ LPN ที่จะรองรับการกลับมาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ว่า ตอนนี้ เอาช่วงสั้น LPN ต้องพยุงตัวให้ผ่านช่วงนี้ไป ซึ่งช่วงที่จะผ่านไป อาจจะยาวพอสมควร อะไรจะกลับ มาบ้าง ก็ต้องประคับประคองตัวในเรื่องการทำธุรกิจไป แต่ในเรื่องของ การพัฒนาบุคลากร เรื่องแนวคิด เรื่องการปรับแนวทางการพัฒนาโครงการ ทาง LPN ก็กำลังทำอยู่
สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากผลของการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ทาง LPN ต้องปรับแนวคิดการพัฒนาโครงการใหม่เลย เริ่มจาก
1. การออกแบบโครงการทั้งภายในและภายนอกให้เข้ากับโควิด-19 เรื่องเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ช่วยลดการสัมผัส ต้องเตรียมไว้ให้กับลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อ ซึ่งไม่ได้เป็นต้นทุนที่มากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับจากสิ่งที่ LPN มอบให้
2. เดิมในอดีต LPN จะมีการพัฒนาโครงการที่มียูนิตในปริมาณที่มาก เพื่อที่จะลดต้นทุนให้ได้ แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 คน (ผู้ซื้อ) เริ่มระวังและกังวลการอยู่ในโครงการ ที่มีการอยู่อาศัยจำนวนมากๆ อาจจะไม่เหมาะในสภาพตลาดปัจจุบัน ทำให้ก็ต้องปรับและเปลี่ยนแนวคิด จากโครงการที่มีจำนวนเป็นพันยูนิตต้องออกแบบโครงการใหม่ ให้เล็กลง ขนาดที่อยู่อาศัยประมาณ 200-300 ยูนิต กระจายไปในหลายทำเล เพื่อลดความเสี่ยงด้วย
”ก่อนที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะกลับมา การทำโครงการเป็นพันยูนิต ไม่เหมาะ เพราะกำลังซื้อไม่ได้ และผู้ซื้อมีความต้องการของตัวเองเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ไลฟ์สไตล์เป็นนิชมากขึ้น จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน หันไปใช้เทคโนโลยีออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากโควิดที่เป็นตัวเร่งให้เกิดเร็วขึ้น ใครจะคิดว่าประเทศไทย แม่ค้า หรือ ร้านหมูปิง จะรับคิวอาร์โค้ดชำระเงินได้ ตอนนี้ ดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคน LPN พัฒนาโครงการ ก็ต้องดูไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาดีไซน์โครงการให้ทันกับความต้องการของ ผู้ซื้อ”
ในส่วนของการเสริมสร้างรายได้ประจำนั้น นายโอภาส กล่าวว่า เป็นสถานการณ์เฉพาะหน้า เนื่องจากว่ารายได้จากโครงการอสังหาริมทรัพย์ลดลง แต่เรา (LPN) มีแอสเสทและทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น ถ้าจะปล่อยเอาไว้ ไม่ทำอะไร จะกลายเป็นภาระ ซึ่งโดยพื้นฐานการทำธุรกิจของ LPN จะสร้างโครงการและขาย โดยอาศัยความเร็วในการขายเพื่อสร้างผลกำไร เนื่องจากเงินทุนของบริษัทเราไม่เยอะ แต่หากเราไปใช้โมเดลรายได้ประจำมากขึ้น อาจจะกระทบต่อโครงสร้างเงินทุนขององค์กร ใน การที่อาจจะต้องเพิ่มทุน (ภาวะแบบนี้ยาก) และอาจจะ มีผลต่อหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่จะสูงขึ้นจากการลงทุน เพื่อรองรับโมเดลสร้างรายได้ประจำ
อสังหาฯ จุก ลูกหนี้ผ่อนบ้าน-คอนโดฯเป็น NPL แบงก์เหมาเข่ง เข้มปล่อยกู้รายใหม่ซื้อที่อยู่อาศัย
ผู้บริหารรายหนึ่ง กล่าวถึงประเด็นของภาค สถาบันการเงินกับการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยว่า ตอนนี้ หนี้เสียเพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากมีผู้ตกงานมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มระดับล่างที่จะมีหนี้สินเพิ่มขึ้น และ ถ้าเอาหนี้เสียตรงนี้มา และมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อบ้าน(Home Loan) ของผู้ประกอบการ ก็จะเป็นดาบมาเชือดผู้ประกอบการ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า สมมติมี 1 โครงการ ขายโครงการมา 3 ปี เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีลูกค้าส่วนหนึ่งที่กู้ไปแล้ว อยู่ในโครงการแล้ว อยู่ระหว่างการทยอยผ่อนกับธนาคาร แต่บังเอิญช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีโควิด ทำให้ลูกค้ามีปัญหาในการผ่อนกับธนาคาร ทำให้โครงการมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจากลูกค้า ที่ซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว ซึ่งธนาคารป้องกันตัวเองโดยมีนโยบายไม่ปล่อยกู้ลูกค้าในโครงการดังกล่าว ถ้าจะปล่อยกู้ จะปล่อยในอัตราที่มีเงื่อนไขลำบากมากขึ้นทำให้เกิดปัญหากับผู้ประกอบการ
”การที่เราลดราคาขายโครงการลงมา ไม่ใช่สิ่งที่ธนาคารมอง แต่แบงก์เอาเกณฑ์หนี้เสียมาเป็นตัววัด ซึ่งผลกระทบจากโควิด ทำให้บางโครงการ ที่มีลูกค้าอยู่แล้วและผ่อนกับแบงก์ เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น 3-4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการขอยื่นกู้ในกลุ่มผู้ซื้อรายใหม่ ซึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากโครงการ ลูกค้าได้ผ่านเครดิตสกอริ่งผ่านแบงก์มาแล้ว แต่โควิด ทำให้ตกงาน ผ่อน ไม่ได้ ผ่อนไม่ไหว และทำให้ดูเหมือนว่า โครงการไม่ดี”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถาบันการเงิน ก็มีความพยายามที่จะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกค้า ขณะที่ผู้ประกอบการแต่ละโครงการ พยายามติดตามและโทร.หาลูกค้าอย่างใกล้ชิด หากมีปัญหาจะได้ร่วมกันแก้ไขกับธนาคาร ดีกว่า นิ่ง เงียบ แล้วปล่อยให้กลายเป็นหนี้เสียขึ้นมา
”ตอนนี้ ผู้ประกอบการทำทุกวิธีทาง เพื่อดูแลลูกค้า อาทิเช่น หากไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ ก็มาเช่าอยู่กับทางโครงการ และผ่อนดาวน์ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะกู้ผ่าน เพื่อให้ แอสเสท มีการใช้ประโยชน์”
พฤกษา ผุด ‘คลินิกการเงิน’ รับแผน โอน 7 คอนโดฯกว่า 1.15 หมื่น ลบ.
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป บริษัทจะเริ่มทยอยโอนคอนโดมิเนียมรวม 7 โครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ มูลค่ารวมกว่า 11,500 ล้านบาท ได้แก่ แชปเตอร์ ทองหล่อ 25, เดอะไพรเวซี่ S101, แชปเตอร์วัน โฟลว์ บางโพ, เดะไพรเวซี่ เตาปูน อินเตอร์เชนจ์, เดอะทรี พัฒนาการ-เอกมัย ,เดอะรีเซิร์ฟ สาทร และพลัมคอนโดสุขุมวิท 97.1 โดยจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้มูลค่า 5,000 ล้านบาท ที่เหลือจะทยอยรับรู้ในปี 2565 คาดว่าจะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายรายได้ปี 2564 ที่ตั้งไว้ที่ 32,000 ล้านบาท
”ราคาที่ลูกค้าจองในช่วงพรีเซลเป็นราคาที่ดีที่สุด และหาไม่ได้อีกแล้วในราคานี้ โดยทั้ง 7 โครงการ คอนโดฯใกล้รถไฟฟ้า อยู่ใจกลางย่านธุรกิจใจกลางเมืองที่ดินในย่านดังกล่าวมีการปรับราคาสูงขึ้นทุกปี และ ยังเป็นทำเลที่ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องทั้งลงทุนและซื้ออยู่อาศัยเอง”
และคาดว่า หลังจากที่คนไทยทั่วประเทศได้รับวัคซีนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และมีการเปิดประเทศ ตามแผน ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาทำงานและท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆมีการฟื้นตัว ตามมาด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะ กลับมามีสีสันมากขึ้น โดยพฤกษามีสัดส่วนลูกค้าที่เป็น ชาวต่างชาติอยู่ที่ราวๆ 20% ซึ่งยังมีความสนใจที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองอย่างต่อเนื่อง
”ในปีนี้ถือเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างมาก แม้ลูกค้าบางรายจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ยังไม่ทิ้ง การจอง มีการนัดหมายเข้ามาโอนกรรมสิทธิ์ตามช่วงเวลาที่นัดหมายไว้ โดยพฤกษาเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้เปิดตัวบริการ Financial Clinic สำหรับลูกค้า ที่ต้องการปรึกษาในการกู้ซื้อคอนโดฯ พร้อมรับข้อเสนอที่ดีที่สุดจากธนาคารชั้นนำที่เป็นพาร์ตเนอร์กับพฤกษา ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรือการคำนวณงวดผ่อนและรูปแบบที่เหมาะสมกับรายได้ ลูกค้าจึงหมดกังวล เรื่องกู้ไปได้”
ลลิลฯปั้นทีมขาย Consult ช่วยลูกค้ากู้บ้านได้ ลดความเสี่ยง ‘รีเจกต์เรต’ ขยับ
นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ (LALIN) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์คุณภาพภายใต้ คอนเซ็ปต์ ‘บ้านที่ปลูกบนความตั้งใจที่ดี’ เปิดเผยกับ ผู้สื่อข่าว ถึงกลยุทธ์การเฟ้นหาเรียลดีมานด์ในการ ซื้อที่อยู่อาศัยว่า มีการใช้ดิจิทัลมาร์เกตติ้งใช้ให้ตรง กลุ่มลูกค้ามากขึ้น ซึ่งสามารถวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสามารถนำข้อมูลเชิงลึกมาทำแผนเป้าหมายในการทำตลาดได้อย่างชัดเจนและตรงกลุ่ม ลูกค้า
ในส่วนของภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์กับเรื่องสินเชื่อกับสถาบันการเงินนั้น ปัจจุบันทั้งโครงการแนวราบและแนวสูง ก็มีตัวเลขในเรื่องของการปฏิเสธสินเชื่อที่สูงเนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% เมื่อย้อนกลับไปช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขอยู่ระดับ 80% และลดลงมาอยู่ 70% ปลาย แต่ด้วยผลกระทบจากโควิด ส่งผลให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนปรับขึ้นมารวดเร็ว เฉพาะฉะนั้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปหมด
สำหรับแนวทางในการป้องกันและสร้างเกราะให้กับผู้ซื้อนั้น ในแง่ลูกค้า ทางลลิลฯมีธนาคารที่เป็นพันธมิตรในการเข้ามาดูสินเชื่อให้กับลูกค้าที่อาจจะมีความเสี่ยงในการซื้อโครงการ มีการอบรมทีมฝ่ายขาย ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการเงินให้กับลูกค้าได้ กลุ่มอาชีพในแต่ละแบบ สินเชื่อต้องแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับรายได้ของลูกค้า เพื่อให้สามารถขอสินเชื่อได้
”โควิดมา ทำให้รีเจกต์เรตที่เกิดจากลูกค้าเพิ่มสูงมาประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์บวกลบ ผมคงไม่ตกใจกับตัวเลขเพราะหน้างาน เรารู้อยู่แล้ว หลายธุรกิจก็เจ็บจากโควิด ธุรกิจสายการบิน ที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว ร้านอาหาร ได้รับผลกระทบ เมื่อก่อนอาชีพเหล่านี้ ขอสินเชื่อกับธนาคารได้ไม่ยาก กู้ได้สบาย แต่ตอนนี้แบงก์รัดเข็มขัด ส่งผลให้ตัวเลขปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น แบงก์จะวงความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบอันเกิดจากโควิด” นายชูรัชฏ์กล่าว
จับตาแบงก์ใหญ่ปรับขึ้น ดบ.บ้าน สกรีนลูกค้า
แหล่งข่าวในวงการอสังหาฯ ให้มุมมองกับผู้สื่อข่าวว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินรายใหญ่ ได้ปรับวิธีการบริหารความเสี่ยง โดยมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในส่วนของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้นมาแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ปรับขึ้นเช่นกัน เนื่องจากธนาคารบางแห่งต้องการคัดกรองลูกค้า ภายใต้ภาวะที่ตัวเลขหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับสูงขึ้น แม้ว่าในตอนนี้ ธนาคารหลายแห่ง ได้ใช้นโยบายไม่ปรับลูกค้าเข้าเกณฑ์จัดชั้น โดยยังอยู่ในนิยามของคำว่า ลูกค้าปกติ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เข้าเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงนั้น สิ่งที่ต้องระวังคือ
1. ตัวเลขหนี้เสียในระบบพุ่งสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ภาค อสังหาฯ แต่จะเป็นทั้งระบบ
2. เรื่องการขอตั้งสำรองที่จะเกิดขึ้นตามมา แม้ในตอนนี้ ทุกธนาคารจะมีการตั้งสำรองเกณฑ์จัด ชั้นหนี้สูงเกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด แต่ก็ยังมีคำถามว่า เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว จนส่งผลให้ลูกหนี้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติได้ อย่างมั่นคงหรือไม่
”แบงก์ลงลึกถึงบริษัทที่ผู้กู้ทำอยู่ และหากอยู่บนธุรกิจที่มีความเสี่ยง แบงก์จะตั้งเกณฑ์การอนุมัติที่สูง เพราะตอนนี้หนี้สินครัวเรือนและหนี้สินส่วนบุคคล พุ่งสูงประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศยังชะลอตัว อยู่ในระดับต่ำ ยิ่งกลุ่มผู้กู้รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท แบงก์บางแห่งจะเข้มงวดหนัก อย่าลืมว่า ครึ่งหนึ่งของรายได้จะเป็นค่าใช้จ่าย และที่เหลือจะเป็นเกณฑ์พิจารณาขอสินเชื่อ ต่างจากอดีตจะคิดค่าใช้จ่าย 1 ใน 3 ดังนั้น รายได้ที่กล่าวข้างต้น จะกู้ได้ประมาณ 2 ล้านบาท นั่นคือแบงก์ล็อกความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยใน ชั้นแรก แต่ล็อกถัดมา ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ส่งผลให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยบวกขึ้นไปสูงมาก เพื่อ ให้มีการผ่อนมากขึ้น ลดความเสี่ยง แต่ก็มีบางแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ บางโปรดักต์ ที่แบงก์ยังให้การ สนับสนุน เช่น ลูกค้าที่ส่งรายชื่อมาจากผู้ประกอบการ อสังหาฯรายใหญ่ เงื่อนไขและการอนุมัติสินเชื่อ จะไม่ตึงมาก เมื่อเทียบกับอสังหาฯรายกลางและเล็ก” แหล่งข่าวกล่าว
แบงก์ใหญ่ ขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน สกรีนลูกค้า
ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการสำรวจดอกเบี้ยบ้าน พบว่า เริ่มมีความเคลื่อนไหวของธนาคารขนาดใหญ่ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยสินเชื่อบ้านของธนาคาร กสิกรไทยสำหรับลูกค้าที่มีรายได้ประจำ ปีที่ 1-3 จะอยู่ที่ MRR +1.75% ต่อปี หลังจากนั้น จะเป็น MRR+1.75% ต่อปี (ปัจจุบัน MRR อยู่ที่ 5.97%) วงเงินกู้สูงสุด 90% ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 7.72%
ธนาคารไทยพาณิชย์ ปีที่ 1-3 อยู่ที่ 5.95% ต่อปี หลังจากนั้น MRR (MRR อยู่ที่ 5.99%) วงเงินกู้สูงสุด 100% ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่ 5.95%
แอสเซทไวส์ หวังมาตรการรัฐ อุ้มรากหญ้า-SMEsฟื้น
นายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ASW” เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ถึงปัจจัยที่จะส่งผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงเดือนที่เหลือของปี 2564 ว่า สิ่งแรกคือ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก 2.มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองที่เหลือรายการละ 0.01% จะสิ้นสุดภายในสิ้นปี 64 ขณะที่ฟากผู้ประกอบการ ได้จัดโปรโมชันกระตุ้นการขาย ซึ่งช่วงนี้ น่าจะเป็นจังหวะที่ดีของผู้ซื้อและผู้ลงทุนที่จะได้รับข้อเสนอและเลือกที่อยู่อาศัยที่ดีได้
”เรามองว่า เวลาที่เหลือของปีนี้ อสังหาฯจะ Recover กลับมาได้ เนื่องจากตัวเลขโควิด ถ้ามองไปข้างหน้า เริ่มลดลง ขณะที่วัคซีนจำนวนมากที่จะเข้ามา ปัญหาโรคระบาดน่าจะค่อยๆคลี่คลายลงได้ แต่เรื่องเศรษฐกิจที่ถดถอย ต้องฝากหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วย กระตุ้นทั้งกำลังซื้อรากหญ้าและธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี กลับมาให้แข็งแกร่ง ตอนนี้ต้องเน้นกลุ่มนี้ รายใหญ่ๆไม่น่าจะต้องกังวล แข็งแกร่งอยู่แล้ว”นายกรมเชษฐ์ กล่าว
สำหรับเป้าหมายความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ยังคงวางตัวเลขรับรู้รายได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมี 2 โครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและทยอยโอนรวมมูลค่าประมาณ 3,800 ล้านบาท และหลังจากคลายล็อกดาวน์ บริษัทก็พร้อมที่จะเปิดโครงการใหม่ 4 โครงการประมาณ 7,000 ล้านบาท
”กลยุทธ์ในช่วงที่ดีมานด์มีจำกัด ต้องใช้การ ตลาดที่จะสื่อสารเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด รวดเร็วตรงประเด็น มีโปรโมชันที่ลูกค้าอยากได้อย่างจริงจัง เพื่อช่วงชิงลูกค้าที่มีอยู่จำกัดให้ได้” นายกรมเชษฐ์กล่าว
Reference: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา