อสังหาฯ เชิงพาณิชย์ เริ่มฟื้น ค้าปลีก-อุตสาหกรรม ปรับตัว

27 Dec 2022 331 0

 

        

          นางสาวโชติกา ทั้งศิริทรัพย์ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่าในไตรมาส 3 ปี 2565 ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ในตลาดอสังหา ริมทรัพย์กรุงเทพฯ มีการฟื้นตัว ความเชื่อมั่นเริ่มสูงขึ้นเนื่องจากผู้คนกลับสู่สภาวะปกติมากขึ้นทั้งในด้านการทำงาน และการใช้ชีวิตทิศทางเชิงบวกนี้ ยังเป็นผลมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นและการที่ผู้คนต่างคิดว่าไม่จำเป็นต้องควบคุมการใช้ชีวิตตามมาตรการที่เคร่งครัดอีกต่อไป หลังจากมีข้อจำกัดต่อเนื่องกว่า 2 ปี

          นทท.ปลุกธุรกิจโรงแรม

          สำหรับธุรกิจบริการ ทั้งโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ยังคงได้รับประโยชน์จากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยกลับเข้ามา ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าระหว่างไตรมาส 2 และ 3 ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในตลาดธุรกิจบริการในกรุงเทพฯ ดีขึ้นอย่างมาก

          โดยธุรกิจบริการได้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากการพึ่งพานักท่องเที่ยวภายในประเทศกลับไปเป็นการมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นตัวขับเคลื่อนหลักเมื่อเข้าสู่ไฮซีซั่นหรือช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวคึกคัก คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวก็จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปี พร้อมกับความคาดหวังว่าจำนวนนักท่องเที่ยว ต่างชาติจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2566

          ”พื้นที่ค้าปลีก” ปรับตัวอยู่รอด

          ด้านตลาดค้าปลีกเป็นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563  ภาคธุรกิจนี้ไม่เพียงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วต่อมาตรการที่มีคำสั่งให้ปิดบริการเท่านั้น แต่ยังต้องปรับตัวและลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าด้วยการปรับตัวให้เข้ากับตลาดรูปแบบใหม่และความต้องการของผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ค้าปลีก และแน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอดนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  สิ่งที่น่าจับตามองในตลาดนี้ก็คือผู้ค้าปลีกที่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังใหม่ ๆ ของผู้บริโภคนั้นเติบโตได้ด้วยการทำให้ตนเองแตกต่างจากคู่แข่ง

          ”ความจำเป็นที่ต้องปรับตัวมีความสำคัญสำหรับเจ้าของอาคารและผู้ให้บริการพื้นที่ค้าปลีกเช่นกัน หากปราศจากความร่วมมือและความช่วยเหลือจากเจ้าของพื้นที่แล้ว ผู้ค้าปลีกจะไม่สามารถปรับตัวอย่างที่จำเป็นต้องทำได้เลย ความช่วยเหลือดังกล่าวมีตั้งแต่การงดเก็บค่าเช่าและการลดค่าเช่าไปจนถึงความช่วยเหลือในการตั้งแพลตฟอร์มการขายออนไลน์และอำนวยความสะดวกเรื่องพื้นที่สำหรับการจัดส่งอาหาร”

          ทุนต่างชาติดึงอัตราเช่าอุตสาหกรรม

          สำหรับภาคอุตสาหกรรม ตลาดได้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และ FDI หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในภาคการผลิตนั้นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ยอดขายที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม (Serviced Industrial Land Plots-SILP) ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและดาต้าเซ็นเตอร์ ขณะที่ความต้องการพื้นที่สำหรับการผลิตและพื้นที่คลังสินค้ารวมถึงอาคารที่สร้างขึ้นตามความต้องการของลูกค้า (Build-to-Suit) ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่าจะสถานการณ์จะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป

          ”แม้ว่าแนวโน้มในระยะสั้นจะดูเป็นไปในทิศทางบวก และจะมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นในภาคส่วนต่างๆ แต่เราก็ยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากเกิดจากปัจจัยที่จะฉุดการเจริญเติบโตของธุรกิจหรือปัจจัยที่ส่งผลในเชิงลบ  หนี้ส่วนบุคคลและหนี้บริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นนับเป็นข้อกังวลที่เกิดขึ้นในประเทศ ขณะที่ทั่วโลกต่างมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกแนวโน้ม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยในต่างประเทศอีกหลายปัจจัยล้วนเป็นสิ่งที่ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอน”

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button