หาดทิพย์ แตกไลน์ธุรกิจบุกโลจิสติกส์-อสังหาฯดันรายได้
“หาดทิพย์” โล่งอกยอดขาย-กำไรฟื้น-มาร์เก็ตแชร์เพิ่ม คาดสิ้นปีกว่า 6.5 พันล้าน เดินหน้าลดคอสต์ พร้อมเปิดเกมรุกเพิ่มรายได้ กระโดดลุยธุรกิจ อาหาร-ขนม เตรียมลุยโลจิสติกส์- อสังหาฯเต็มรูปแบบ ลั่นอนาคตบุกตลาดทั่วไทย-อาเซียน
นายพลตรีพัชร รัตตกุล ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม น้ำอัดลมภายใต้เครื่องหมายการค้า โคคา-โคลา, แฟนต้า, สไปรท์ ฯลฯ ในกลุ่ม 14 จังหวัดภาคใต้ ได้กล่าวในงาน Opportunity Day ถึงผลประกอบการไตรมาส 3 และแนวทางการดำเนินธุรกิจในช่วงจากนี้ไปว่า ปัจจุบันหาดทิพย์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยปัจจัยด้านพื้นที่ที่หาดทิพย์จัดจำหน่ายสินค้าหลัก ๆ อยู่ในเมืองท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต กระบี่ เป็นต้น ทำให้ปีนี้ยอดขายรวม 9 เดือน ติดลบ 5% จากปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพของหาดทิพย์ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น 16% ราว 480 ล้านบาท และได้มีส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มน้ำอัดลมในไตรมาส 3 ที่ร้อยละ 26.2 และ 82.2 ตามลำดับ
ปีนี้นอกจากน้ำอัดลมที่หาดทิพย์มีมาร์เก็ตแชร์ในภาคใต้สูงที่สุดแล้ว ในส่วนของน้ำดื่ม “น้ำทิพย์” ยังได้ส่วนแบ่ง การตลาดเพิ่มขึ้น 1% จาก 4% เป็น 5% โดยในตลาดเทรดิชั่นนอลเทรดสามารถเติบโตได้ถึง 16% ผนวกกับการทำการขายแบบไม่มีหน้าร้าน หรือ NSR (nonstore retailing) ที่ส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ สร้างการรับรู้แบรนด์มากยิ่งขึ้นผ่านทางไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และยูทูบ ควบคู่กับการกระจายสินค้าในพื้นที่โดยการตั้งทีมขายมาช่วยเสริม อาทิ เทเลเซลส์ และส่งทีมขายรุกเจาะตลาดเป็นรายพื้นที่ คาดว่าสิ้นปีนี้จะปิดยอดขายได้ที่ 59 ล้านลัง จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 54 ล้านลัง และทำให้สร้างรายได้ประมาณ 6,500 ล้านบาท
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หาดทิพย์ยังระบุด้วยว่า หาดทิพย์ยังให้ความสำคัญกับการลดคอสต์อย่าง ต่อเนื่อง และเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เริ่มจากการปรับสูตร เครื่องดื่มน้ำอัดลมตัวหลักอย่างโค้ก เพื่อลดรายจ่ายภาษีความหวาน พร้อมกับการลดฐานการผลิตจากเดิมที่มี 2 โรงงาน ลดให้เหลือ 1 โรงงาน โดยย้ายฐานการผลิตจากโรงงานใน อ.หาดใหญ่ไปที่ อ.พุนพินแทน เพื่อลดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน และลดงบฯการตลาด 31% เพิ่มงบฯไปที่เครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิมได้ 350 กระป๋อง/นาที เป็น 600 กระป๋อง/นาที
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม น้ำอัดลมได้เริ่มเปลี่ยนดีไซน์ขวดของสไปรท์เป็นขวดใส ง่ายต่อการรีไซเคิลรับกระแสการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมกับเพิ่มไซซ์โค้กขวดแก้วในขนาดมินิ สำหรับอิ่มพอดีมื้อ ตอบโจทย์เพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้าในราคาที่ถูกลงเพียง 8 บาท พร้อมกับออกสินค้าใหม่ ๆ อาทิ น้ำแร่ ชาเขียว (สำหรับการทดลองในตลาดช่วงหนึ่ง) ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาธุรกิจเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของหาดทิพย์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ เริ่มเปิดร้านอาหาร “เขียง” แบรนด์จากเครือ Zen ตั้งเป้าขยาย 70-80 สาขาภายใน 2 ปี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย นอกจากนี้ ยังเพิ่มการจัดจำหน่ายสินค้าประเภทขนม อาทิ มิส มาม่อน ทาโรโตะ ซึ่งเป็นการดำเนินงานโดยบริษัทในเครือ คือ บริษัท หาดทิพย์ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจเจส จำกัด สำหรับบริษัท หาดทิพย์ คอมเมอร์เชียล จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจด้านคอมเมอร์เชียลได้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้ากว่า 7 แบรนด์ 565 เอสเคยู เช่น ทาโร่ จอห์นสัน ลอรีเอะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่มอาหารไม่ได้จำกัดอยู่ที่ภาคใต้เท่านั้น ที่ผ่านมามี อาหาร 1-2 แบรนด์เริ่มเข้ามาเปิดในกรุงเทพฯแล้ว และมีแผนจะเปิดเพิ่มโดย เน้นไปที่ที่มีทราฟฟิกสูง ตั้งเป้าอีก 2 ปี สินค้าประเภทฟู้ดและการกระจายสินค้าจะต้องเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด
นายพลตรีพัชรกล่าวต่อไปว่า ล่าสุดหาดทิพย์เตรียมเปิดไลน์ธุรกิจใหม่ทั้งด้านโลจิสติกส์ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากเทรนด์การสั่งสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นการสร้างรายได้จากทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
”เราต้องการสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยใช้ศักยภาพทั้งหมดที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ และทำให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ในมือไม่ว่าจะเป็นคน เครื่องจักร หรือที่ดิน มาสร้างรายได้ ซึ่งจะทำให้เห็นว่าหาดทิพย์ไม่ได้เอากะลามาครอบตัวเองไว้ที่ภาคใต้เท่านั้น เรามองธุรกิจที่ไปได้ทั่วทั้งในประเทศไทย แม้กระทั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตาม” นาย พลตรีพัชรกล่าวทิ้งท้าย
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ