สศช.ห่วง 5 ปัจจัยเสี่ยงฉุดจีดีพี วัคซีน ชี้ชะตาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว

18 Feb 2021 499 0

          เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2563 ท่ามกลาง วิกฤต “โควิด-19” ตัวเลขสุดท้ายออกมาหดตัวที่ -6.1% ต่อปี เมื่อเทียบ กับปีก่อน ถือว่า “ต่ำสุดในรอบ 22 ปี” นับจากวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ที่หดตัว -7.6%

          ส่วนแนวโน้มการขยายตัวของจีดีพี ปี 2564 นั้น “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า น่าจะเติบโตได้ในช่วง 2.5-3.5% หรือเฉลี่ย 3% ต่อปี ต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนที่เคยคาดว่าจีดีพีจะโตได้ 3.5-4.5%

          ”สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยระลอกใหม่ แม้ว่าขณะนี้จะสามารถควบคุมได้ แต่ไตรมาส 1 ปี 2564 ยังมีข้อจำกัดอยู่ โดยเราได้ปรับสมมุติฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากเดิมที่คาดไว้ว่าปีนี้จะอยู่ที่ 5 ล้านคน ซึ่งหากดูจากการกระจายวัคซีน และสถานการณ์ในประเทศไทยช่วงไตรมาส 1 นี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3.2 ล้านคน โดยจะเข้ามาได้ในช่วงไตรมาส 4”

          นอกจากนี้ ในปีนี้ สศช.คาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐจะเบิกจ่ายได้ 93.5% ต่ำกว่าเดิมที่คาดว่าจะเบิกได้ 94.4% หลังจากไตรมาส 4 ของปี 2563 ซึ่ง เป็นช่วงเริ่มต้นของปีงบประมาณ 2564 มีผลการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าเป้าหมาย

          ”การประเมินเศรษฐกิจในปี 2564 ขยายตัวที่ 3% ยังไม่ได้กลับเข้าสู่ในระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่ เพราะเรายังมีความเสี่ยงอยู่ค่อนข้าง มาก ซึ่งการเติบโตในช่วงที่ประมาณการ ยังมีความเสี่ยงในด้านการระบาดของ โควิด-19 อยู่ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น ในไตรมาส 1 ปีนี้ด้วย”

          ทั้ง สศช.เห็นว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมี “ข้อจำกัดและความเสี่ยง” เพราะยังคงอาศัยเศรษฐกิจในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยปัจจัยเสี่ยงมี 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 และความล่าช้าของการกระจายวัคซีนของประเทศต่าง ๆ ซึ่งต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด 2.ความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว 3.สถานการณ์ภัยแล้ง จากสถานการณ์น้ำในพื้นที่ กักเก็บส่วนต่าง ๆ น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 4.เงื่อนไขด้านหนี้ครัวเรือน ภาคธุรกิจและแรงงานที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีข้อจำกัดในแง่ของการฟื้นตัวจากเรื่องสภาพคล่อง

          และ 5.ความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจและการเงินโลก จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายระหว่างประเทศของประเทศเศรษฐกิจหลัก ที่ต้องจับตาทั้งทิศทางการเปลี่ยนแปลงนโยบายระหว่างประเทศ ของสหรัฐ ภายใต้การดำเนินงานของประธานาธิบดีคนใหม่, ความผันผวนของเงินลงทุนระหว่างประเทศ, การดำเนิน นโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศ สำคัญในระยะถัดไป, ความเสี่ยงจากปัญหา เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีโครงสร้างและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และยังคงเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดที่รุนแรง และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเสถียรภาพทางด้านการเมือง

          ”ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คาดว่าในปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ แต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยได้รับผล กระทบจากสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงต้นปี แต่คาดว่าผล กระทบโดยรวมจะน้อยกว่าการแพร่ระบาดในระลอกแรก เนื่องจากมาตรการเข้มงวด น้อยกว่าและบังคับใช้เฉพาะพื้นที่

          อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการซ้ำเติมบางภาคเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่น ทำให้การฟื้นตัวมีความแตกต่าง ผลกระทบต่อ บางกลุ่มธุรกิจและแรงงานจึงควรได้รับ การดูแลอย่างเหมาะสม

          ”ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนอีกมาก ทั้งการ กลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ดังนั้น โดยรวมเศรษฐกิจไทยจึงยังต้องการมาตรการที่ตรงจุด เพียงพอ และต่อเนื่องเพื่อประคองการฟื้นตัว ทั้งนี้ ธปท.จะมีการประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน มี.ค. 2564”

          ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า หากไม่มี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงในประเทศอีกระลอก ในขณะที่แผนการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว ต่างชาติสามารถดำเนินการได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี ก็ยังมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ที่ 2.6% (กรอบประมาณการที่ 0.0-4.5%) โดยปัจจัยเรื่องวัคซีนเป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งยังมีประเด็นความไม่แน่นอนจากการจัดหา การกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ รวมถึงประสิทธิผลของวัคซีนที่ยังต้องติดตาม

          ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ว่า ประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนที่ไทยได้รับอาจจะไม่พอที่จะทำให้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยว ต่างชาติในปี 2564 ได้ในจำนวนที่ประมาณการไว้ที่ 2.0-4.5 ล้านคน ซึ่งก็จะทำให้ตัวเลขจีดีพีมีแนวโน้มลงไปที่กรอบล่าง โดยภายใต้สถานการณ์ ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังภาระของรัฐบาลที่มากขึ้นในการช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

          สรุปแล้ว วัคซีน จะเป็นตัวแปรสำคัญ ในการฟื้นเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงเป็นเครื่องชี้ความสามารถของรัฐบาลในการจัดการเรื่องนี้ด้วย

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button