สศช.รับมือเศรษฐกิจรูปตัว เค ธุรกิจหวั่นกระทบแผนฟื้นตัว

16 Apr 2021 609 0

           สศช.ประคองเศรษฐกิจฟื้น รูปตัว“K” อัดมาตรการช่วยเฉพาะกลุ่ม ระยะยาว ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ  ”ทีเอ็มบี” ชี้ 3 ธุรกิจที่รายได้ ฟื้นตัวเกิน 100% ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ยางพารา อิเล็กฯ ภาคธุรกิจจับตาระลอกใหม่กระทบฟื้นตัว  ”ท่องเที่ยว” ชี้เทรนด์ตัว“K” มีทั้งขาขึ้น-ขาลง “กัปตันพุฒิพงศ์” คาดสายการบินฟื้นแบบตัว U

          การฟื้นตัวในรูปแบบตัว “K” หรือ “K-Shaped Recovery” ที่มีทั้งกลุ่มที่ฟื้นตัวกลับได้เร็วและกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวและแย่ลงเรื่อยๆ เหมือนกับตัวอักษร “K” ที่มีทั้งเส้นทแยงขึ้นและลง เป็นความยากในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทำให้ทุกส่วนฟื้นตัวพร้อมกัน หลังจากการเกิดวิกฤติโควิด-19

          นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การฟื้นตัว ของเศรษฐกิจไทยที่อาจเป็นรูปตัว K เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำลังจับตามองอยู่ และเห็นว่า แนวโน้มที่จะเป็นการฟื้นตัว ลักษณะนั้นคือบางธุรกิจ บางกลุ่มอุตสาหกรรมเติบโตดีมาก แต่บางธุรกิจยังยากลำบากไปต่อได้ยาก และต้องการ ได้รับความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ โดยรัฐบาลพยายามออกมาตรการแก้ไขและให้การช่วยเหลือส่วนที่เป็น ขาของตัว K ที่ชี้ลงข้างล่าง เช่น มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่องเพิ่มและช่วยพยุง การจ้างงาน

          ”มาตรการรัฐพยายามทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อไม่ให้เกิดการฟื้นตัวแบบตัว K แต่ยอมรับว่า การช่วยเหลือทำได้ในระดับหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ระยะยาวคงช่วยทุกธุรกิจไม่ได้ ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผล กระทบมากและปรับตัวไม่ได้อาจต้องมองแง่การ จ้างแรงงาน สร้างงาน เราจะดึงบริษัทใหญ่ที่เป็นอนาคตมาและปรับทักษะให้ หรือปรับปรุงอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบช่วงวิกฤติ เช่น ภาคท่องเที่ยวต้องปรับสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง ดึงผู้ที่มีกำลังใช้จ่าย เข้าประเทศมากขึ้น จะเป็นอีกทางที่ช่วยให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วย”

          ทั้งนี้ ระยะต่อไป การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจะช่วยให้การเติบโตของเศรษฐกิจไม่เป็นในลักษณะตัว K คือมีอุตสาหกรรมที่เติบโตได้มากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG) รวมทั้งผลักดันให้ไทย เป็นฐานการผลิตรถ EV ที่เป็นเทรนด์อนาคต ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น

          ส่งออกดี-ท่องเที่ยวเหนื่อย

          สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564  รัฐบาลได้ตั้งเป้าการขยายตัวไว้ที่ 4% ซึ่ง สศช.ได้รายงานในศูนย์บริหารเศรษฐกิจจากสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศบศ.) แล้วว่าการขับเคลื่อน เศรษฐกิจปี 2564 ให้ขยายตัวถึง 4% ตามเป้าหมาย ให้การส่งออกเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย

          ทั้งนี้ ต้องให้น้ำหนักภาคการส่งออกมาก เพราะคิดเป็นสัดส่วน 40% ของจีดีพี ซึ่งปีนี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว จึงเป็นปีที่ภาคการ ส่งออกได้ประโยชน์มาก และเมื่อส่งออกดีขึ้น จะทำให้ภาคเอกชนผลิตสินค้า เพื่อส่งออก มากขึ้นจนการใช้กำลังการผลิตขยายตัวไปอยู่ที่ 70% จะเกิดการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ซึ่งการลงทุนจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น

          นอกจากนี้ ปัจจัยการส่งออกต้องดูทิศทางเศรษฐกิจโลกที่แม้แนวโน้มดีขึ้น แต่การระบาดระลอกใหม่ในยุโรปทำให้มีการล็อกดาวน์  ส่วนค่าเงินบาทในระดับ 31-32 บาท อยู่ในเกณฑ์ ส่งเสริมการส่งออก ซึ่งการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน ต้องให้เป็นไปตามกลไก แต่สิ่งที่บริหารจัดการได้ เช่นการส่งเสริมการลงทุนของเอกชนไทยในต่างประเทศ การจ่ายหนี้ต่างประเทศด้วย สกุลเงินดอลลาร์ การนำเข้าเครื่องจักร โดยเครื่องมือบางอย่างจากต่างประเทศจะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนมากขึ้นแบบไม่ต้องไปแทรกแซง

          สำหรับภาคการท่องเที่ยวต้องดูว่า การฟื้นตัว ปี 2564 หลังมีแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวไตรมาสที่ 3-4 จะมีนักท่องเที่ยวมาเท่าใด ซึ่งคาดอยู่ที่ 1-2 แสนคน แต่ต้องประเมินอีกว่าจะเที่ยวไทยนานแค่ไหน และใช้จ่ายเงินแค่ไหนถึงจะประเมินได้ว่าภาคการท่องเที่ยวได้เงินจากการเปิดประเทศปลายปีนี้เท่าไหร่

          ”นักท่องเที่ยวที่จะมาปลายปีต้องดูดีมานด์จริง เพราะหลายประเทศแถบนี้มีแผนเปิดประเทศเช่นกัน ทั้ง มัลดัฟส์ เวียดนาม สิงคโปร์ ที่เป็นคู่แข่ง ในช่วงแรกที่เริ่มเปิดประเทศ”

          ”ทีเอ็มบี”คาดรายได้ธุรกิจโต2.1%

          นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวว่า แนวโน้มการ ฟื้นตัวของธุรกิจไทยปี 2564 คาดการณ์ว่า รายได้ ธุรกิจรวมปี 2564 อยู่ที่ 47.8 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.1% ฟื้นตัวเล็กน้อย หากเทียบรายได้ รวมธุรกิจปี 2563 ที่รายได้อยู่ที่ 46.8 ล้านล้านบาท  ซึ่งลดลง 16.3% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

          ดังนั้นการฟื้นตัวของรายได้ที่ขยายตัวขึ้น เพียงเล็กน้อย 2.1% ถือว่ายังมีความเสี่ยงและเปราะบาง ที่อาจต่ำกว่าเป้าหมายได้จากการ แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ระลอก 3 ที่ระบาดแพร่กระจายมากขึ้น

          ทั้งนี้หากดูไส้ในของรายได้ภาคธุรกิจโดยรวมปีนี้ ที่ฟื้นตัวได้ดีปีนี้ ระดับ 2.8% เชื่อว่าหลักๆ มาจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ที่รายได้ปัจจุบันกลับมาได้ดีกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 106% เพราะได้อานิสงส์จากความต้องการอาหารสัตว์ ค่อนข้างมาก และไม่มีโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การเลี้ยงสัตว์เติบโตได้ดี

          บรรจุภัณฑ์-เครื่องดื่มกำลังฟื้น

          กลุ่มที่ 2 ธุรกิจที่รายได้กำลังกลับมาฟื้นตัว  คือกลุ่มบรรจุภัณฑ์ เครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ สู่ระดับ 90% หากเทียบช่วงที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 รวมถึง เคมีภัณฑ์ บริการธุรกิจ ที่รายได้เริ่มกลับมา 90% ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค กลับมาฟื้นตัวได้ 86% ยานยนต์ ชิ้นส่วน เครื่องจักรและโลหะ 84% ผลิตภัณฑ์เกษตร พลังงาน 82%

          แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ยังเปราะบาง และยังไม่ฟื้นตัว หรืออยู่ในขาลง ที่คาดว่า โดยรวมรายได้ปีนี้จะลดลงต่อเนื่องอีก 1.2% หลักๆ คือผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ที่มีรายได้อยู่เพียง 78% เทียบกับก่อนเกิดโควิด อสังหา 76% เฟอร์นิเจอร์ 71% บริการส่วนบุคคล 70%

          นอกจากนี้ ธุรกิจที่ฟื้นตัวช้ามาก โดยการฟื้นตัวของรายได้อยู่เพียง 59-69% เท่านั้น ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากโควิด-19 และโอกาสเห็นการฟื้นตัวในระยะอันใกล้ทำได้ยาก เช่น ขนส่งทางอากาศ สินค้าแฟชั่น รายได้อยู่เพียง 69% และธุรกิจท่องเที่ยว ที่มีรายเพียง 59% เท่านั้น

          โควิดกระทบแผน”ฟื้นตัว”

          นายวิชิต ประกอบโกศล ในฐานะประธานกลุ่มบริษัท ซี.ซี.ที.กรุ๊ป หนึ่งในผู้ประกอบการทัวร์รายใหญ่ตลาดจีนเที่ยวไทย กล่าวว่า ประเมินการฟื้นตัวของบริษัท หากเป็นกราฟตัว K น่าจะอยู่ใน K ขาขึ้น เพราะปัจจุบันสถานการณ์ธุรกิจนำเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิดหนัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กหายจากตลาดทำให้การแข่งขันน้อยลง ทั้งคู่ค้าและลูกค้าต้องการ ผู้ประกอบการที่แข็งแรง มีชื่อเสียง มีเครดิตและความน่าเชื่อถือ ทำให้ในช่วงแรกที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มเดินทางเข้าไทยปลายปีนี้ คู่ค้าอาจเลือกส่งกรุ๊ปทัวร์ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่

          ทั้งนี้ ขึ้นกับมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย เร็วแค่ไหนด้วย โดยคาดว่าจะเป็นไปตามไทม์ไลน์ เปิดประเทศรับผู้ฉีดวัคซีนแล้วแบบไม่กักตัว นำร่องที่ภูเก็ตเริ่มวันที่ 1 ก.ค.2564 และเตรียมนำร่อง 5 พื้นที่ ได้แก่ กระบี่ พังงา เกาะสมุย ชลบุรี(พัทยา) และเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยหวังว่ารัฐจะคุมการระบาดได้เร็วเพื่อ เปิดประเทศเป็นไปตามแผน

          สายการบินในไทยฟื้นแบบตัว U

          นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในฐานะนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย ว่า แนวโน้มการฟื้นตัว ของธุรกิจสายการบินในไทย จะกลับมาปกติ ปี 2567 ลักษณะ U-Shape โดยหลังเจอโควิด-19  ปีก่อนมองไม่เห็นอะไรเลย แต่ปีนี้เริ่มเห็น สัญญาณบวกทางรอด แต่ต้องจับตาความไม่แน่นอน การระบาดรอบ 3 ในไทยที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันไม่ให้การท่องเที่ยวสะดุดอีก

          ”สายการบินในไทยพยายามประคองตัว เพื่อความอยู่รอดขึ้นกับฝีมือและสายป่าน ไม่อยากเห็นภาพสายการบินในไทยลดลง หรือปิดตัวเพราะโควิด”

          ทั้งนี้ แต่ละสายการบินถนัดทำตลาดและ เส้นทางบินต่างกัน โดยวิธีเอาตัวรอดก็แตกต่างกัน  มีวิธีการบริหารต้นทุน วิธีการเข้าตลาดและกลยุทธ์การตั้งราคาขายตั๋วไม่เหมือนกัน เนื่องจากแต่ละสายได้เครื่องบินมาต่างกัน ต้นทุนเครื่องบิน จึงต่างกัน

          ปัจจุบันสมาชิกสมาคมฯ 7 สายการบิน มีพนักงาน 1.6 หมื่นคน รอซอฟต์โลน โดยขอสนับสนุน 1.5 หมื่นล้านบาท ลดจากที่เคยขอ 2.4 หมื่นล้านบาท สมาคมฯ หวังว่ารัฐจะดูแลสายการบิน

          ค้าปลีก-อสังหาฯฟื้น”วี-ไนกี้เชฟ”

          นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเซ็นทรัล รีเทล ปรับตัวแบบ “V-shape” ตั้งแต่ไตรมาส 3 เทียบไตรมาส 4 ปี 2563 แต่ต้องจับตาดู การระบาดใกล้ชิด

          นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาฯ อยู่ในรูป “Nike Shape” จาก 2 สมมติฐาน คือ 1.ไทยดูแลสาธารณสุขและการควบคุมโรคดี 2.การกระจายวัคซีน

          “3-4 เดือนจากนี้ต้องระวังเพราะเป็น ช่วงเปราะบางว่าธุรกิจผงกหัวขึ้นหรือลง ทำให้เริ่มมีความกังวลอีกเพราะหากติดเชื้อมากแล้วยังไม่ฉีดวัคซีน แต่เมียนมาและลาวฉีดมากกว่าไทยจะทำให้ประเทศที่พึ่งท่องเที่ยวอย่างไทยยากจะผงกหัว”

          ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้  เพราะต่อให้ไทยบอกว่า “เราดีแล้ว” แต่หากต่างประเทศมองว่ายังไม่ดีก็ไม่มาเที่ยว ดังนั้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาจใช้เวลาฟื้น 2-3 ปี และหากสถานการณ์เป็นขาลงของไนกี้ ระยะเวลา ฟื้นตัวจะช้าลงอีกหรือจะเป็นการฟื้นตัวในแบบ U-Shape

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button