ศูนย์สิริกิติ์ยันเปิดบริการก.ย.65 ไมซ์ แห่จองจัดงานเต็มปลายปี
”เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” เผยความคืบหน้าเนรมิต “ศูนย์ฯสิริกิติ์” โฉมใหม่ 60% ยันพร้อมส่งมอบทันกำหนดเปิดให้บริการเดือน ก.ย.65 ชู 5 ไฮไลต์สู่สุดยอด ศูนย์ประชุมของไทย พื้นที่รวม 3 แสนตารางเมตร ใหญ่ขึ้น 5 เท่า ดันจุดขายความยืดหยุ่นสูงรับดีมานด์การจัดอีเวนท์และประชุมทุกรูปแบบ ทั้งออนกราวนด์-ออนไลน์-ไฮบริด ลุยแข่งขันสู้ศึกอุตสาหกรรมไมซ์ฟื้นหลังเปิดประเทศ
”ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” (Queen Sirikit National Convention Center หรือ QSNCC) หนึ่งในพอร์ตธุรกิจของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” กำลังจะเผยโฉมใหม่ ด้วยมูลค่าโครงการ 15,000 ล้านบาท วางฤกษ์เปิดให้บริการเดือน ก.ย.2565 เตรียมเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญ ในการปลุกความคึกคักแก่อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE : การจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็น รางวัล สัมมนา และจัดแสดงสินค้า) หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19
ช่วงจังหวะการปิดปรับปรุงศูนย์ฯ สิริกิติ์ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.2562 ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ เชิงธุรกิจมากนักจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งมีคำสั่งรัฐประกาศปิดศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าเป็นระยะ จะมีผลกระทบบ้างช่วงกลางปีที่ผ่านมา คือการล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้ฉีดวัคซีนแก่คนงานที่ไซต์ก่อสร้างรวม 3,500 คนครบ 100% สร้างความมั่นใจว่าจะสามารถเดินหน้าก่อสร้างศูนย์ฯสิริกิติ์แล้วเสร็จทันกำหนดเปิด
โดยศูนย์ฯ โฉมใหม่ เพิ่มศักยภาพโครงการด้วยการขยายพื้นที่รวมเป็น 300,000 ตารางเมตร ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า หรือเทียบเท่ากับสนามฟุตบอลกว่า 50 สนาม รองรับผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 100,000 คน/วัน เป็นศูนย์ประชุมใจกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และสานต่อตำนานบทใหม่ของศูนย์ฯ สิริกิติ์เดิมที่มีความเป็นมากว่า 3 ทศวรรษ นับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างในปี 2532 ใช้เวลาก่อสร้าง 20 เดือน และเปิดให้บริการใน ปี 2534 หลังได้รับโจทย์ใหญ่ให้เป็นสถานที่จัดงานประชุมของเวิลด์แบงก์ สร้าง ความภาคภูมิใจแก่ประเทศไทย รวมถึงการจัดงานประชุมและอีเวนท์สำคัญอื่นๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติกว่า 20,000 งาน
นายวิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิง พาณิชยกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) หรือ FPT กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจจากบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ให้มาร่วมพัฒนาคอนเซ็ปต์และบริหารงานก่อสร้างโครงการศูนย์ฯสิริกิติ์ โฉมใหม่ ด้วยความเชื่อมั่นในประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของ FPT ในการพัฒนาโครงการอสังหาฯชั้นนำหลายแห่ง ตลอดจนเป็นบริษัทฯภายใต้แบรนด์อสังหาริมทรัพย์ระดับโลกอย่าง “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” จึงการันตีคุณภาพและมาตรฐานความเป็นสากลอย่างเต็มรูปแบบ
”ศูนย์ฯสิริกิติ์โฉมใหม่จะมีความทันสมัย และปลอดภัยสูง รองรับการจัดอีเวนท์ ทุกรูปแบบ ตลอดจนงานประชุมสำคัญ ระดับโลก ด้วยเป้าหมายหมายการเป็นโครงการศูนย์ประชุมระดับเวิลด์คลาส แห่งใหม่ของเอเชีย ด้วยคอนเซ็ปต์ สืบสาน รักษา ต่อยอด ในการออกแบบศูนย์ฯสิริกิติ์ ให้มีความร่วมสมัย”
ก่อสร้างคืบหน้า 60% ทันเปิด ก.ย.65
แม้ว่าจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดมาก และมีความท้าทายในการเสริมศักยภาพโครงการด้วยการเพิ่มชั้นใต้ดินกว่า 45% ของพื้นที่โครงการทั้งหมด สำหรับเป็นพื้นที่รีเทลและอาคารจอดรถ 3,000 คัน นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคจากการล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้างในช่วง เดือน มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมาร่วม 60 วัน แต่บริษัทฯยังคงสามารถรักษาไทม์ไลน์การก่อสร้างได้ตามแผน โดยปัจจุบันมี ความคืบหน้าแล้วกว่า 60%
”การบริหารงานเชิงรุกและวางแผนอย่างรอบคอบ การร่วมมือกันระหว่าง ทีมงานมืออาชีพ ทำให้เอาชนะกับทุกความท้าทายได้ มั่นใจว่าจะส่งมอบโครงการให้ทันกับกำหนดการเปิดให้บริการเดือน ก.ย.2565 โดยจะทยอยส่งมอบพื้นที่ตั้งแต่เดือน มี.ค.2565 จากนั้นจะเริ่มทดสอบและ อบรมการเข้าใช้พื้นที่ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.2565 ก่อนเปิดให้บริการ”
เพิ่ม 5 ไฮไลต์ก้าวสู่สุดยอดศูนย์ประชุม
ทั้งนี้บริษัทฯได้เพิ่มไฮไลต์ 5 อย่างเพื่อสร้างความแตกต่างและความเป็นสุดยอดศูนย์ประชุมที่ดีที่สุดในประเทศไทยมาใช้ในการพัฒนาโครงการ สอดคล้องกับเป้าหมายของศูนย์ฯสิริกิติ์สู่การเป็น “The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All”
ไฮไลต์แรกคือ Accessibility การเข้าถึงอย่างสะดวกสบาย เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมืองบนถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อแยกพระราม 4-รัชดา สามารถเข้าออกได้จาก 4 ถนนสำคัญของกรุงเทพฯ ได้แก่ ถ.พระราม 4 ถ.สุขุมวิท ถ.รัชดาภิเษก และ ถ.ดวงพิทักษ์
นอกจากนี้ ยังเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โดยตรงถึงภายในศูนย์ฯ ตามด้วย Safety ระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดตามมาตรฐานการดำเนินงานระดับสากล ความปลอดภัยด้าน Life Safety เพื่อรองรับการจัดงานระดับโลกทุกรูปแบบ
Technology วางระบบโครงสร้าง พื้นฐานรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงที่สุดในประเทศไทยรองรับได้ถึงอนาคต (6G) มั่นใจว่าจะสามารถสนับสนุนการจัดอีเวนท์รูปแบบออนไลน์และไฮบริดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้แก่ผู้จัดงานและผู้เข้าชมแบบไร้ขีดจำกัด
นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบเข้าใช้งานพื้นที่แบบไร้สัมผัส (Touchless Access) และใช้ระบบบริหารอาคารอัจฉริยะในการควบคุมการให้บริการพื้นที่
ชูความยืดหยุ่นสูงเจาะอีเวนท์ทุกรูปแบบ
Flexibility มีความยืดหยุ่นสูงในการรองรับความต้องการด้านอีเวนท์ และงานประชุมทุกรูปแบบ ด้วยพื้นที่ รองรับการจัดงานมากถึง 78,500 ตารางเมตร มีฮอลล์ขนาดใหญ่ 2 ฮอลล์ ห้องจัด ประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ 2 ห้อง และห้องประชุมกว่า 50 ห้องที่สามารถรองรับการจัดงานบนพื้นที่ตั้งแต่ขนาด 30-1,000 ตารางเมตร
โดยได้ลงทุนด้านนวัตกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการจัดงานรูปแบบไฮบริดและออนไลน์หลายร้อยล้านบาท ตอบโจทย์การเป็น “อีเวนท์ แพลตฟอร์ม ฟอร์ ออล” (Event Platform for All) นอกจากนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการด้วยพื้นที่รีเทลขนาด 10,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นแหล่งรวมแอคทีฟไลฟ์สไตล์ใหม่ของกรุงเทพฯ
และไฮไลต์ที่ 5 Sustainability การสร้างความยั่งยืน โดยเป็นศูนย์ประชุมแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่ผ่านมาตรฐานอาคารเขียว LEED ระดับ Silver ที่มีการวางแผนการพัฒนาตั้งแต่ต้นจนแล้วเสร็จ เน้นการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 25% และวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มากกว่า 75% ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยรอบโครงการ และใช้อุปกรณ์อัตโนมัติเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ
นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ประชุมแห่งเดียว ที่ห้อมล้อมด้วยสวนป่าเบญจกิติ พื้นที่สีเขียว ผืนใหม่ล่าสุดของกรุงเทพฯ
ยันไม่สร้างโรงแรมในโครงการฯ
นายวิทวัส กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จะไม่มีแผนสร้างโรงแรมใหม่ในโครงการ ศูนย์ฯสิริกิติ์ เพราะได้ขยายเต็มพื้นที่แล้ว ประกอบกับมีโรงแรมต่างๆ ตั้งอยู่บริเวณโดยรอบจำนวนมาก รองรับความต้องการเข้าพักของผู้มาร่วมงานไมซ์ได้เพียงพอ
สำหรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ เชื่อว่าการจัดงานประชุมแบบออนกราวนด์แบบเจอหน้ากันจะฟื้นตัวกลับมาแน่นอน ทาง NCC เองก็มั่นใจเช่นนั้น โดยหลังจากรัฐบาลดำเนินการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.2564 รับทราบมาว่าศูนย์ฯสิริกิติ์มียอด การจองพื้นที่จัดงานไมซ์ตั้งแต่เดือน ก.ย.ธ.ค.2565 แล้ว
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ