ลูกหนี้เฮ! ออมสิน-ธอส. อุ้มต่อหั่น ค่างวด ลดภาระอีกปีประคองฝ่าวิกฤต

15 Feb 2021 474 0

          ลูกหนี้ 2 แบงก์รัฐเฮ ! “ออมสิน-ธอส.” เตรียมมาตรการเชิงรุกดูแลลูกหนี้ต่อหลังพักหนี้จบกลางปีนี้ “ออมสิน” อุ้มต่ออีก 1 ปี หั่นเงินงวดจ่ายน้อยลง “บรรเทาภาระ” ฟาก “ธอส.” ลดเงินงวดเหลือต่ำสุด 25% ถึงสิ้นปี‘64 พร้อมรับลูกนายกฯ สางหนี้ข้าราชการ

          นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน การดำเนินงานในปี 2564 จะเน้นดูแลเรื่องการแก้ไขหนี้ลูกค้าอย่างครบวงจร ทั้งการแก้หนี้ให้กับลูกค้ารายย่อยทั่วไป เอสเอ็มอี และข้าราชการ เพื่อรองรับมาตรการการพักหนี้ที่จะสิ้นสุดในช่วงกลางปีนี้

          โดยแบงก์มองว่าช่วง 2 ปีแรก ลูกค้าอาจจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้น้อยกว่าช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติ ดังนั้น ในช่วง 1 ปีจากนี้ แบงก์จะพิจารณาปรับลดงวดผ่อนชำระลงให้ลูกค้าได้บรรเทาภาระ

          ทั้งนี้ ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณลูกหนี้ กลับมาชำระได้ปกติ แต่มีบางส่วนประมาณ 15-20% ที่ชำระไม่ได้ตามงวดเดิม ซึ่งออมสินจะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้ โดยรวมถึงการแก้ไขหนี้ข้าราชการ ทั้งครู ทหาร และตำรวจ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งพอร์ตหนี้ข้าราชการของออมสินมีอยู่กว่า 4.5 แสนล้านบาท

          ”เรื่องหนี้ เป็นสิ่งที่ยังต้องแก้ไข ต่อไป เพราะหากไม่แก้ ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอีก็จะเป็นหนี้เสีย ก็ต้องเร่ง ดูแล โดยที่ผ่านมาอยู่ระหว่างการ พักชำระหนี้ ซึ่งเริ่มครบกำหนดแล้ว ลูกค้าบางส่วนเริ่มกลับมาชำระหนี้ แต่บางรายอาจจะกลับมาชำระหนี้ได้ในยอดการชำระที่ลดลง ตามสภาพเศรษฐกิจที่สามารถทำได้ ดังนั้นปีนี้เราก็จะช่วยส่วนนี้ และรวมไปถึงการแก้หนี้ให้กับข้าราชการด้วย” นายวิทัยกล่าว

          นายวิทัยกล่าวอีกว่า ธนาคารยัง เดินหน้าเติมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวด้วย ซึ่ง เร็ว ๆ นี้จะมีสินเชื่อใหม่ออกมาช่วยเหลือ ลูกค้ากลุ่มนี้ ขณะที่ในส่วนของสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ที่ออกมาเพื่อดูแลกลุ่มอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19 ขณะนี้ยอดขอสินเชื่อเต็มวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทแล้ว โดยธนาคารอนุมัติไปมากกว่า 4.5 แสนราย อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการพิจารณาขยายวงเงิน ซึ่งขึ้นกับนโยบายรัฐบาล

          ”นอกจากนี้ ในปี 2564 นี้ ออมสินจะเข้าไปดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ที่ตกงานแล้วไม่มีอาชีพ ให้กลับมามีอาชีพได้ ผ่านมาตรการการช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรม การให้สินเชื่อเพื่อทำแฟรนไชส์ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการซึ่งจะทยอยออกมาเร็ว ๆ นี้” นายวิทัยกล่าว

          นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ได้เตรียมแนวทางดูแลหนี้ให้กับลูกค้าหลังจากมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระลูกค้าจากผลกระทบ โควิด-19 สิ้นสุดในเดือน ก.ย. 2564 ด้วยการลดเงินงวดผ่อนชำระในแต่ละงวด โดยหากธนาคารพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแล้ว เห็นว่ากลับมาชำระหนี้ปกติ 100% ไม่ได้ ก็จะลดเงินงวดการชำระลงมา เหลืออยู่ที่ 25-50% ตามความสามารถของลูกค้า ซึ่งจะพิจารณาช่วยเหลือเป็น รายบุคคล ไม่ได้ช่วยทั้งหมด ซึ่งจะ ดำเนินการไปถึงสิ้นปี 2564 นี้ ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

          ส่วนความคืบหน้าการดูแลให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากปัญหาโควิด-19 ผ่านโครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี‘64 ด้วย 4 มาตรการ ล่าสุด ณ วันที่ 10 ก.พ. 2564 มาตรการสำหรับลูกค้าที่เคยเข้าร่วม หรืออยู่ระหว่างการใช้มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  มาก่อน มีจำนวนผู้เข้าร่วม 105,469 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้น คงเหลือ 98,210 ล้านบาท

          มาตรการสำหรับลูกค้าที่มีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และลูกค้าที่มีสถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ มีผู้เข้าร่วม 4,218 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 4,120 ล้านบาท

          มาตรการสำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของ ธอส.มาก่อน มีผู้เข้าร่วมมาตรการ 10,233 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 12,318 ล้านบาท และ มาตรการที่ 12 สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต มีผู้เข้าร่วมมาตรการ 125 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 631 ล้านบาท

          นายฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า ปีนี้ ธอส.ก็ยังเดินหน้าแก้ไขหนี้ข้าราชการ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยล่าสุดทางตำรวจส่งข้อมูลมาติดต่อขอปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 12 ราย ซึ่งจะเร่งพิจารณาว่าสามารถทำได้ตามที่เสนอมาหรือไม่ โดยคาดว่าจะดำเนินการ แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ของปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญให้กับตำรวจช่วงสงกรานต์ จากนั้นจะเดินหน้าดูแลหนี้ทหารต่อไป โดยธนาคารมีลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจกว่า 60% ของพอร์ตหนี้ทั้งหมด

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button