รัฐตีฆ้อง สายสีแดง-สีทอง ปลุกทำเลเชื่อมห้างกระตุ้นศก.

16 Dec 2020 951 0

          “ประยุทธ์” นำทีมเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่ ปลุกทำเลท่องเที่ยว สายสีทองฝั่งธนบุรีส่งท้ายปี เชื่อม “ไอคอนสยาม” เตรียมขยายเฟส 2 ถึงประชาธิปก รอกลางปีหน้า สายสีแดง “ตลิ่งชัน-รังสิต” เปิดทดลองใช้ พร้อมสถานีกลางบางซื่อ ฮับอาเซียน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่งท้ายปี 2563 รัฐบาลประกาศเปิดรถไฟฟ้าอีก 2 เส้นทาง เชื่อมชานเมืองสู่ใจกลางเมือง วันที่ 16 ธ.ค.นี้ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกดปุ่มเดินรถ

          สีเขียวไร้รอยต่อ

          เริ่มที่สายสีเขียวส่วนต่อขยาย “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” 18.7 กม. ได้เปิดครบ 16 สถานี โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดฟรีถึง 1 ม.ค. 2564 สายนี้ เชื่อม 3 จังหวัด ปทุมธานี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ใช้เวลา 1.30 ชม.

          ”สายสีทอง” จากกรุงธนบุรี-คลองสาน 1.7 กม. มี 3 สถานี ค่าโดยสาร 15 บาท ได้แก่ 1.สถานีกรุงธนบุรี สถานีร่วมบีทีเอส 2.สถานีเจริญนคร หน้าศูนย์การค้าไอคอนสยาม พร้อมทางเชื่อมเข้าห้าง และ 3.สถานีคลองสาน หน้าโรงพยาบาลตากสิน พร้อมสกายวอล์กในอนาคต เพื่อป้อนคนจากบีทีเอสมายังไอคอนสยาม และแหล่งท่องเที่ยวริมเจ้าพระยา

          ปลุกทำเลห้างใหม่

          จากการสำรวจทำเลใกล้สายสีทอง เป็นแหล่งคอนโดฯและโรงแรมหรู โดยมีศูนย์การค้าไอคอนสยามของกลุ่มสยามพิวรรธน์เป็นแม่เหล็ก พร้อมจัดโปรโมชั่น ลดราคากระตุ้นกำลังซื้อช่วงปลายปี

          พร้อมเร่งสร้าง “ไอคอนสยามเฟส 2” ฝั่งตรงข้าม เนื้อที่ 5 ไร่ วงเงิน 4,000 ล้านบาท เป็นมิกซ์ยูส ประกอบด้วย โรงแรมฮิลตัน การ์เดน อินน์ กรุงเทพฯ ในเครือฮิลตัน มี 244 ห้องพัก รูฟท็อป, โคเวิร์กกิ้งสเปซ, ร้านค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต เตรียมเปิดตัวต้นปี 2564

          ส่วนอาคารเก่ารอบห้างได้ติดป้ายขาย-เช่า อาคารพาณิชย์ให้เช่าเดือนละ 120,000 บาท อีกตึกตั้งราคาขาย 45 ล้านบาท

          การเปิดสายสีทองยังมีผลกระทบ ต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพราะการเดินทาง ไปสถานีกรุงธนบุรี หากมอเตอร์ไซค์ อยู่ที่ 30 บาท แต่รถไฟฟ้าสายนี้ราคา อยู่ที่ 15 บาท

          กทม.ขยายสีทอง

          พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า การเปิดรถไฟฟ้าสายสีทองทำให้คนฝั่งธนบุรีมีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะสถานีคลองสาน จะเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ อาทิ โรงพยาบาลตากสิน สำนักการศึกษา สำนักงานเขตคลองสาน และ สน.ปากคลองสาน และเชื่อมการเดินทางระบบล้อ ราง เรือ รองรับผู้โดยสารจากสายสีเขียวที่สถานีกรุงธนบุรี และเชื่อมสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และสายสีแดงในอนาคต คาดมีผู้มาใช้บริการ 42,000 เที่ยวคน/วัน

          ”หลังเปิด 6 เดือนจะประเมินปริมาณผู้โดยสาร เพื่อสร้างส่วนต่อขยายอีก 1 สถานี คือ สถานีประชาธิปก ระยะทาง 950 เมตร ใช้เงินก่อสร้าง 1,333 ล้านบาท”

          ต่อสีเขียวชะลอยาว

          แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า สายสีทองส่วนต่อขยายอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ PPP เนื่องจากไอคอนสยามสนับสนุนเงินลงทุนเฉพาะเฟสแรกเท่านั้น ยังกำหนดไม่ได้จะได้สร้างปีหน้าหรือไม่ เช่นเดียวกับสายสีเขียวส่วน ต่อขยาย 2 เส้นทาง วงเงิน 25,333 ล้านบาท ช่วงคูคต-ลำลูกกา 7 กม. วงเงิน 11,989 ล้านบาท และสมุทรปราการบางปู 7 กม. วงเงิน 13,344 ล้านบาท ต้องรอประเมินปริมาณผู้โดยสาร หลังเปิดหมอชิต-คูคต ตั้งเป้า 330,000 เที่ยวคน/วัน และแบริ่ง-สมุทรปราการ 160,000 เที่ยวคน/วัน

          นับถอยหลังเปิดสีแดง

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากพลเอก ประยุทธ์จะเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ได้นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงพื้นที่ดูความ คืบหน้าการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ และนั่งทดสอบรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ก่อนจะเปิดทดลองใช้เดือน ก.ค. และบริการเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 2564

          โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ใช้เงินก่อสร้างสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต 1 แสนล้านบาท โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบราง หากเปิดปี 2564 จะเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดของไทยและอาเซียน มีพื้นที่ 274,192 ตร.ม. เป็นชุมทางรถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง รถไฟทางไกลและรถไฟความเร็วสูง

          พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบคมนาคมขนส่งทางราง” เป็นรูปแบบการเดินทางขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงทุกภูมิภาคทั่วประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อเชื่อมภูมิภาคในไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

          ”สถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางราง ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง โดยเฉพาะย่านบางซื่อของการรถไฟฯได้มีแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ควบคู่ไปกับสถานีกลางบางซื่อ”

          บางซื่อฮับอาเซียน

          นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีแดงมี 13 สถานี รวมสถานีกลางบางซื่อ คงเหลืองานระบบและจัดเตรียมอบรมบุคลากรในการบริหารและซ่อมบำรุงมีความก้าวหน้า 89.10% คาดว่าจะทดสอบเดินรถเสมือนจริงเดือน มี.ค. จากนั้นเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการเดือน ก.ค. และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 2564 คาดว่ามีผู้ใช้บริการ 86,000 เที่ยวคน/วัน

          โดยให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกเป็นผู้เดินรถ ส่วนการบริหารสถานีกลางบางซื่อ ในระยะแรกทาง ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้บริหาร

          จ่อขยายสายสีแดง

          แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.ชะลอการเปิดประมูลรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.เมื่อปี 2562 เนื่องจากมีนโยบาย จากกระทรวงคมนาคมจะนำงานก่อสร้างของส่วนต่อขยายไปรวมกับหนี้ของสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อรังสิต และให้เอกชนรับสัมปทานเดินรถและพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ และสถานีในแนวเส้นทางของสายสีแดงทั้งโครงการ ในรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 30-50 ปี วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท จะศึกษาเสร็จใน ก.ค. เสนอ ครม.อนุมัติเดือน ส.ค.-พ.ย. และคัดเลือกเอกชนในเดือน ธ.ค. 2564-ม.ค. 2565 ได้เอกชนในเดือน ธ.ค. 2565

          สำหรับส่วนต่อขยายที่รอประมูล วงเงินรวม 67,575.37 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม.วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท และสาย Missing Link ช่วงบางซื่อ-พญาไทมักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท

          ทำเลใหม่สายสีแดงจะมีอานิสงส์แก่คอนโดมิเนียมบิ๊กแบรนด์จำนวนมาก ที่ขึ้นโครงการไว้แล้วทั้งสองข้างทาง รวมถึงห้างเกตเวย์ ย่านเตาปูนของตระกูล “สิริวัฒนภักดี”

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button