ปลดล็อกดาวน์เฟอร์นิเจอร์พุ่งระยะสั้น อินเด็กซ์-เอสบีฯ เร่งเพิ่มช่องทางออนไลน์

18 May 2020 727 0

 

          อสังหาริมทรัพย์

          หลังการประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ผลกระทบที่เกิดกับกลุ่มธุรกิจร้านค้าโมเดิร์นเทรดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มห้างสรรพสินค้า ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กันคือ กลุ่มร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุก่อสร้างแบบ โมเดิร์นเทรด ซึ่งต้องหยุดการดาเนินธุรกิจนานกว่า 2 เดือน แน่นอนว่าในด้านยอดขายของกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะลูกค้าไม่สามารถเข้าชมเลือกซื้อสินค้าได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์นั้น เป็นที่ทราบกันดีลูกค้าต้องการสัมผัสและทดลองใช้จริงก่อนตัดสินใจซื้อ

          นางสาวกฤษชนก ปัทมาสัตยาสนธิ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ลีฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ และมีผลให้ห้างสรรพสินค้าต่างๆรวมถึงร้านค้าวัสดุก่อสร้างและร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ให้บริการในรูปแบบโมเดิร์นเทรดต้องหยุดให้บริการชั่วคราว ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าโมเดิร์นเทรด ทุกรายได้รับผลกระทบ ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ขณะที่รายได้จากการขายลดลง ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายมีการปรับตัวรักษากระแสเงินสด และบริหารต้นทุนให้ดีที่สุด

          ซึ่งในส่วนของ อินเด็กซ์ฯ ถือว่าโชคดีเพราะมีการปรับลดต้นทุนมาตั้งแต่ปี 62 ทำให้ช่วงประกาศล็อกดาวน์ไม่ได้แบกต้นทุนสูงเกินควร จึงยังรักษากระแสเงินสดไว้ได้ในระดับที่ดี อย่างไรก็ตาม แม้ก่อนหน้าบริษัทจะมีการลดต้นทุนลง แต่ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทจำต้องลดค่าใช้จ่ายเพิ่ม โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดจากงานกลุ่มเอาต์ซอร์ส เช่น ลดจำนวนพนักงานรักษาความปลอดภัยและแม่บ้าน ซึ่งในส่วนนี้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายไปถึง 50%

          ”แม้ว่าช่วงปกติ อินเด็กซ์ฯ จะมีการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆลง แต่ในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้เห็นได้ว่า บริษัทยังสามารถลดต้นทุนที่เป็นส่วนเกินได้อีกค่อนข้างมาก”

          นอกจากนี้ การปรับตัวที่ค่อนข้างรวดเร็วของบริษัทยังช่วยลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะทันทีที่ทราบข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศ ในช่วงเดือน ม.ค.63 บริษัทได้ปรับแผนหยุดการขยายสาขา เพื่อรักษาสภาพคล่อง ให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียน เพื่อเป็นการรักษาสภาพคล่องของบริษัทในปี 64 บริษัทอาจยังไม่มีแผนขยายสาขาใหม่ แต่จะหันไปสร้างยอดขายแทน ขณะเดียวกันก็มีการ Renovate สาขาเดิมแทนการสร้างสาขาใหม่ ซึ่งใน การรีโนเวตสาขาเดิมนั้น จะควบคุมงบประมาณการปรับปรุงสาขาให้อยู่ในวงเงินไม่เกินหลักแสน จากปกติในการปรับปรุงสาขาแต่ละครั้งจะใช้งบปรับปรุงกว่า 10 ล้านบาท

          โดยก่อนหน้านี้สาขาที่มีการปรับปรุงใหม่ คือ สาขาเอกมัย สาขาบางนา และสาขารังสิต โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบภายในร้าน เช่น การจัดวางสินค้าใหม่เพื่อง่ายต่อการเลือกซื้อ เพิ่มจำนวนสินค้าให้ครบครันมากขึ้น เพื่อรองรับลูกค้าที่จะกลับเข้ามาซื้อสินค้าหลังปลดล็อกดาวน์ นอกจากนี้ ในช่วงล็อกดาวน์บริษัท ยังได้เพิ่มช่องทางการขายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อยอดขายผ่านออนไลน์โดยมียอดขาย เพิ่มขึ้น 7-8 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 โดยในช่วงเดือนมี.ค.ยอดขายออนไลน์เติบโตถึง 3 เท่าตัว เนื่องจากลูกค้าหันมาซื้อออนไลน์มากขึ้น สำหรับการทำตลาดออนไลน์นั้นจะทำผ่านช่องทางที่หลากหลาย เช่น Line, Facebook, เว็บไซต์อินเด็กซ์, Lazada, Shopee  อย่างไรก็ตามในส่วนของยอดขายที่เกิดจากออนไลน์ก็ยังไม่ครอบคลุมยอดขายหน้าร้านที่หายไปทั้งหมด แต่ก็สามารถช่วยให้ยอดขายปรับตัวดีขึ้น

          ขณะเดียวกัน อินเด็กซ์ฯ มีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามดูสถานการณ์ และผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งในเบื้องต้นบริษัทประเมินว่าวิกฤตที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันเป็นแค่จุดเริ่มต้นและยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์วิกฤตในครั้งนี้ว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากแค่ไหน

          น.ส.กฤษชนกกล่าวว่าสำหรับมาตรการที่อินเด็กซ์ใช้ในช่วงล็อกดาวน์ และจะยังคงใช้ต่อเนื่อง หลังมีการปลดล็อกดาวน์และเปิดให้บริการร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ คือ การให้พนักงานสวมหน้ากากอนามัย การจัดโต๊ะ ลงทะเบียนสำหรับลูกค้าก่อนเข้าใช้บริการ การตีเส้นเว้นช่องว่าง เมื่อลูกค้าชำระเงิน การกั้น Partition ที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ การนำระบบ QR Code มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงิน การทำความสะอาดอุปกรณ์ และพื้นที่ ตามช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของลูกค้าสูงอายุได้ด้วย

          * ปลดล็อกดาวน์ ดันยอดขายระยะสั้น

          อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่รัฐบาลมีการปลดล็อกดาวน์ ในวันที่ 17 พ.ค.นี้ จะส่งผลดีต่อธุรกิจ และร้านค้าในรูปแบบโมเดิร์นเทรดทั้งหมด โดยในส่วนของเฟอร์นิเจอร์นั้นจะได้รับผลดีทางด้านยอดขายที่เพิ่มขึ้น แต่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นนั้นจะดีในช่วงระยะสั้น ซึ่งเป็น ผลมาจากการสะสมของดีมานด์มาในช่วงล็อกดาวน์ ดังนั้นคาดว่าในช่วงต้นเดือน มิ.ย.ถึงกลางเดือน ก.ค.62 ยอดขายเฟอร์นิเจอร์จะดีมาก แต่ในช่วงไตรมาส 3 กำลังซื้อจะเริ่มลดลงจากผลกระทบ จากการลดการ จ้างงาน และรายได้ที่ลดลงของบุคลากรของธุรกิจต่างๆ ซึ่งจะทำให้ตลาดเฟอร์นิเจอร์กลับมาชะลอตัวอีกครั้ง เพราะแม้ว่าเฟอร์นิเจอร์จะเป็นสินค้าจำเป็น แต่ลูกค้ายังสามารถชะลอเวลาในการซื้อได้ ขณะที่กลุ่มสินค้าอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งนี้ อินเด็กซ์ฯประมาณการว่าในไตรมาส ที่ 3-4 ยอดขายเฟอร์นิเจอร์ และสินค้าตกแต่งบ้านจะหดตัวลง 15-20% เมื่อประเมินตลาดรวมในปีนี้ คาดว่าตลาดรวมจะติดลบประมาณ 10%

          ”ในภาวะเช่นนี้ การปรับตัวของผู้ประกอบการ ที่ดีที่สุด คือการรักษาสภาพคล่อง ขณะที่กลุ่มธุรกิจทั่วไปที่สายป่านไม่ยาวพอ ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ คงต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อพยายามรักษาธุรกิจไว้ให้ได้”

          สำหรับแนวทางในการปรับตัวของอินเด็กซ์ฯ นั้นแม้ว่ารัฐจะปลดล็อกดาวน์ให้กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ใน ร้านค้าโมเดิร์นเทรด กลับมาเปิดให้บริการได้ แต่บริษัท ก็จะไม่ทิ้งช่องทางออนไลน์ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมกันนี้ก็ต้องพัฒนาช่องทางออนไลน์ให้ดีขึ้น  ขณะเดียวกันเพื่อรองรับกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าหลักที่ลดลง อินเด็กซ์ฯ จะมีการเพิ่มรายการผลิตสินค้าระดับกลางราคาประหยัดออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนกลุ่มสินค้า พรีเมียมจะไม่มีการออกรายการสินค้าเพิ่ม หรือลดรายการสินค้าใหม่ลงประมาณ 50% และลดค่าใช้จ่าย เช่น การลดเวลาทำโอทีของพนักงาน รปภ. แม่บ้าน ซึ่งเป็นการลดลงในระยะยาว

          สำหรับรายได้ของอินเด็กซ์ ในช่วงล็อกดาวน์ 2 เดือนที่ผ่านมาลดลงไปกว่า 50% ขณะที่ตลาดรวม หดตัว10% แต่โชคดีที่ในต่างจังหวัดมียอดขายที่ดี ประกอบกับมีงานโครงการจัดสรรและคอนโดมิเนียม ที่เซ็นสัญญาไว้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมากว่า 800 ล้านบาท ทำให้ในไตรมาส 2 นี้มีรายได้เกินกว่าเป้าที่วางไว้ นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 โครงการจัดสรรและคอนโดฯมีการจัดแคมเปญแถมบิวท์อินเพื่อเร่งปิด การขายโครงการทำให้มียอดขายใหม่เข้ามาเพิ่มเติมทำให้ยอดขายของอินเด็กซ์ยังไปได้ดี

          ”อย่างไรก็ตามการดีลกับโครงการจัดสรรใน ช่วงนี้ อินเด็กซ์ต้องมีการตรวจสอบเครดิตของโครงการมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มโครงการใหม่ๆ ของผู้พัฒนารายย่อยมากขึ้น เนื่องจากต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาจากการผิดสัญญาของโครงการจัดสรรที่ขาดสภาพคล่องด้วย”

          ”เมื่อเกิดภาวะที่กระทบต่อลูกค้าและการดำเนินธุรกิจ ในช่วงที่ล็อกดาวน์ เอสบี มีการปรับระบบบริหารจัดการ ด้านการขาย สิ่งที่เราให้ความสำคัญและลงมือทำทันที คือ 1. การสร้างความมั่นใจ ทั้งต่อลูกค้าและพนักงาน ในเรื่องความปลอดภัยและมาตรการป้องกันต่างๆ เริ่มต้นจากการจัดการภายใน ไม่ว่าจะเป็น การตรวจวัดอุณหภูมิพนักงานทุกคนเป็นประจำทุกวัน แจกหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล การกำหนด ให้พนักงานใส่หน้ากากทำงานขณะปฏิบัติหน้าที่ การจัดหาน้ำยาฆ่าเชื้อประจำรถ เพื่อฉีดพ่นทำความสะอาดสินค้า และจุดสัมผัสต่างๆ ที่บ้านของลูกค้า” ด้าน นางธัญญรักข์ ชวาลดิฐ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท เอสบี เฟอร์นิเจอร์ กล่าว

          2. ให้ความช่วยเหลือลูกค้า ทั้งเรื่องการยืดหยุ่นเงื่อนไขต่างๆ เช่น ขยายเวลา Cash Reward ของลูกค้าที่กำลังจะหมดอายุไปถึงสิ้นปี จัดพนักงานคอยทำหน้าที่ผู้ช่วยส่วนตัวในการซื้อสินค้าแบบออนไลน์ โดยมีพนักงานช่วยตอบคำถาม ส่งรูปสินค้า หรือวิดีโอสินค้าที่ลูกค้าเพื่อช่วยในการตัดสินใจ และจัดให้มีแคมเปญโปรโมชันพิเศษ กับลูกค้าที่ซื้อออนไลน์ เช่น ผ่อน 0% ได้ จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้  จัดให้มี Interior Designer ทำแบบให้ลูกค้า และให้คำปรึกษาแบบ Real Time ผ่าน Line Call และมีหน่วยงานพร้อมออกวัดพื้นที่ให้ลูกค้าหากลูกค้าต้องการด่วน จัดคิวส่งสินค้าเร่งด่วนพิเศษ ภายใน 48 ชม. เพื่อลูกค้าที่ต้องการใช้สินค้าเร่งด่วน

          สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ที่มีผลให้ต้องปิดบริการร้านค้าโมเดิร์นเทรดชั่วคราวที่เกิดขึ้น SB Design Square ก็ต้องปิดโชว์รูมทุกแห่ง แต่การซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ยังเปิดบริการ ตามปกติ ซึ่งการดำเนินธุรกิจจะเทมาทางออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ sbdesignsquare.com และ koncept furniture.com ซึ่งจากการทำตลาดผ่านออนไลน์มากขึ้นนี้ เอสบีฯ พบว่า ลูกค้าที่มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมคือกลุ่มสินค้าที่สร้างความผ่อนคลาย เช่น โซฟา, เก้าอี้พักผ่อน นอกจากนี้ การทำงานแบบ Work from Home ที่เพิ่มขึ้นยังทำให้โต๊ะทำงานและเก้าอี้เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่ขายดีมาก

          อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ล็อกดาวน์ เอสบีฯ มีการปรับแผนการตลาด โดยเน้นการสื่อสารผ่านออนไลน์ โดยเฉพาะ LINE @sbdesignsquare และ FACEBOOK SB Home / SB Design Square โดยมีการเปิดบริการใหม่ We shop for You คือให้ลูกค้ามีผู้ช่วยส่วนตัว “ช้อปแทนคุณ” ซึ่งลูกค้าสามารถชอปได้ง่ายๆ ใน 4 ขั้นตอน ผ่านทาง LINE : @sbdesignsquare หรือ Inbox ไปที่ FACEBOOK SB Home / SB Design Square โดย 1. ทักแชตสอบถามสินค้า 2. เอสบี จะส่งภาพหรือวิดีโอ และข้อมูลสินค้าไปให้คุณ 3. สั่งซื้อและชำระเงินได้ทันที 4. จัดส่งและติดตั้งฟรีในเขต กทม.-ปริมณฑล

          ”ในแง่ของยอดขาย สำหรับช่องทางออนไลน์ พบว่ามียอดขายเฉลี่ยต่อเดือนโตขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ในส่วนของโชว์รูม คงต้องรอให้ทุกสาขาเปิดการขายอย่างเต็มรูปแบบอีกสักระยะ จึงจะประเมินสถานการณ์ได้”

          ขณะเดียวกัน เอสบีฯ ได้ออกมาตรการเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า อีกทั้งยังเป็นการดูแลเพื่อความปลอดภัยของพนักงาน โดยเริ่มจากในส่วนของพนักงานจัดส่งและติดตั้ง ซึ่งต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของ ช่างและพนักงานก่อนเข้าพื้นที่ปฏิบัติงาน ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ก่อนแพกสินค้า พนักงานล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลเพื่อฆ่าเชื้อโรค มีฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ภายในรถขนส่งสินค้า มีการเว้นระยะห่าง 2 เมตร จากลูกค้า ขณะปฏิบัติงาน เมื่อติดตั้งเสร็จพนักงานจะ ฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อที่เฟอร์นิเจอร์ และเช็ดทำความสะอาดบริเวณมือจับและลูกบิดประตูบ้านของลูกค้าอีกด้วย

          นางธัญญรักข์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจหลังคลายล็อกดาวน์นั้น ในส่วนของโชว์รูม เอสบีฯ มีมาตรการในแง่ของ Physical Distancing เพื่อให้ความมั่นใจและความปลอดภัยขั้นสูงสุดแก่ลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการ ได้แก่ 1) ตรวจวัดอุณหภูมิลูกค้าทุกท่าน ก่อนเข้าร้าน 2) ลูกค้าสแกน QR CODE ก่อนเข้าพื้นที่ 3) ลูกค้าและพนักงานต้องสวมหน้ากาก ตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่ 4) พนักงานเว้นระยะห่างจากลูกค้า 1-2 เมตร 5) ลูกค้าเข้า-ออก ตามจุดที่กำหนดไว้ 6) มีการจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่าง บริเวณ Customer Lobby 7) มีจุดบริการสบู่และเจลล้างมือ  8) ใช้ E-Payment ในการชำระเงิน เพื่อลดการสัมผัส

          ส่วนด้านการตลาดได้เตรียมโปรโมชัน ชอปวันนี้ ลดเพิ่มทันที 10% ไม่มีขั้นต่ำ หรือลดเพิ่ม 15% เมื่อชอปครบ 50,000 บาทขึ้นไป  และสำหรับลูกค้าที่มีบัตรกำนัลส่วนลด (SB Cash Reward) ซึ่งจะหมดอายุลงในเดือนมีนาคม 2563

          ทาง เอสบี ดีไซน์สแควร์ ก็ยินดีขยายเวลาในการใช้สิทธิ์ Cash Reward ได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.63

          ทั้งนี้ เอสบีฯ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนแปลง หลังจากในช่วงที่ผ่านมาลูกค้ามีประสบการณ์ในการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกค้าที่ต้องการดูแบบหรือเซ็ตแบบเอสบีฯ ได้จัดให้มีการให้บริการแบบพบหน้าพูดคุยกันเพื่อรับ Requirement ของลูกค้าได้โดยละเอียด ซึ่งเอสบีฯก็มีบริการส่งอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ให้บริการถึงบ้าน 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button