ตลาดอสังหาฯฟื้นแน่ปี 65 เปิดศึก! ถล่มราคาคอนโด
ไทยพาณิชย์ ส่องตลาดอสังหาฯฟื้นตัวปี 65 ผู้ประกอบการแข่งเดือดรายใหญ่เล่นแรงอัดแคมเปญ หวังตุนเงินสด รายเล็ก-รายกลางเหนื่อยหนักคอนโดมิเนียมต่ำกว่า 3 ล้านบาท จ่อคิวหั่นราคาระบายสต๊อก ส่วนสินเชื่อปล่อยใหม่ 6 เดือนแรกติดลบ 10.84%
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มียอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย.63 อยู่ที่ 4.09 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากมาตรการพักชำระหนี้
ขณะนี้ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 280,000 ล้านบาท ปรับลดลง 10.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ได้ซ้ำเติมตลาดที่อยู่อาศัยที่อ่อนแออยู่แล้วจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและผลของมาตรการ LTV ที่เริ่มในปี 62 หดตัวลงต่อเนื่องในปีนี้โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 62 ยอดขายที่อยู่อาศัยหดตัว -45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงมากรวมถึงการปรับลดลงของยอดขายจากต่างชาติ
”หน่วยขายที่อยู่อาศัยทั้งปีนี้จะหดตัว -29% โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ตลาดยังมีแนวโน้มซบเซาแม้ว่าหลังจากการคลายล็อกดาวน์ ยอดขายกลับมาฟื้นตัวได้บางส่วนจากการแข่งขันออกโปรโมชัน ของผู้ประกอบการ แต่ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวช้าส่งผลให้ยอดขายโดยรวมยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก”
สำหรับ 5 ประเด็นที่ต้องจับตามองสำหรับทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า คือ 1.ภาพการฟื้นตัวของตลาดจากโควิด-19 โดยภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงอย่างมากส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคอสังหาฯ จะเป็นไปอย่างช้าๆ อย่างเร็วที่สุดในปี 65 2.ภาวะอุปทานส่วนเกินและการลดลงของราคาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่ระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่มีหน่วยเหลือขายสะสมค่อนข้างมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังต้องเน้นการระบายสต๊อก และทำให้การแข่งขันด้านราคารุนแรงมากขึ้น
3.ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค มีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับลดราคาลงและเน้นพัฒนาที่อยู่อาศัยในราคาที่ถูกลงเพื่อให้ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น 4.การที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หันมาเน้นเจาะตลาดแนวราบมากขึ้นส่งผลให้ภาวะการแข่งขันในตลาดแนวราบมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในตลาดระดับราคาปานกลาง อย่างเช่น ทาวน์เฮาส์
และ 5.ยอดขายใหม่มีแนวโน้มจะกระจุกตัวในโครงการของผู้ประกอบการขนาดใหญ่มากขึ้นจากการแข่งขันทำโปรโมชันอย่างต่อเนื่อง เพื่อระบายสต๊อกรวมถึงการแข่งขันเปิดตัวโครงการแนวราบประกอบกับชื่อเสียงของแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจตลอดจนความสามารถในการแข่งขันที่ได้เปรียบมากกว่า
Reference: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ