คลังกันงบ9.8แสนล.กระตุ้นศก. หวังดัน จีดีพี ปีหน้าขยายตัว4%-จ่อเพิ่มสิทธิคนละครึ่งเฟส2

24 Nov 2020 582 0

          “คลัง” กันงบปี 64 กว่า 9.8 แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลรายได้เกษตร ลงทุนโครงสร้าง ช่วยเหลือสภาพคล่องกลุ่มท่องเที่ยว สายการบิน หวังดันเศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวตามเป้า 4% คาดปี 2565 กลับมาปกติก่อนโควิด พร้อมคลอดคนละครึ่งเฟส 2 ตั้งเป้าขยายสิทธิให้ครอบคลุมมากขึ้น

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ ส่องเศรษฐกิจไทยปี 64 : เราจะรับมืออย่างไร ในงานสัมมนา Wealth Forum ลงทุน อย่างไร..ให้รวย? จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า หากดูเสถียรภาพด้านการคลัง และด้านการเงินในปัจจุบัน ถือว่าไม่มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ

          ในด้านการคลัง เรามีพ.ร.บ.วินัยการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังต้องมีการมอนิเตอร์การใช้จ่าย ซึ่งมี fiscal space หรือพื้นที่ทางการคลังอยู่ราว 30% หรือราว 9.8 แสนล้านบาท ของวงเงินงบประมาณของปี 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นอีกก้อนในงบประมาณปกติ แต่การใช้เงินภายใต้งบดังกล่าวต้องเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยไม่เกินวงเงินที่ 9.8 แสนล้านบาท

          ขณะนี้ ก็มีโครงการต่างๆ ที่แต่ละกระทรวงมีการเสนอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่ายที่มาจากงบประมาณของปีก่อน หรือโครงการในปีนี้เช่น โครงการประกันรายได้ พืชผล ซึ่งอย่างเรื่องข้าว ที่ครม.อนุมัติไป ดังนั้นก็จะมีโครงการที่จองเข้ามา ซึ่งถือว่างบประมาณมีเพียงพอสำหรับปี 2564 แต่หากมีโครงการที่มากขึ้นไปอีก ก็อาจต้องพิจารณางบก้อน อื่นๆว่าจะใช้อย่างไร

          ”ขณะนี้มีเงินอยู่สองก้อน คืองบประมาณปกติ และเงินภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้อนุมัติไปเพียง 1.2-1.3 แสนล้านบาท ดังนั้นยังมีรูม ยังมีช่องในการใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้”

          จี้การเงินออกมาตรการเพิ่ม

          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงบประมาณปี 2565 ซึ่งเท่าที่หารือ นโยบายต่างๆที่จะออกมา ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะผลกระทบโควิด-19 ทำให้มีผลกระทบ มาก ดังนั้นงบประมาณที่ลงมา ยังต้องเป็น การกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ

          สำหรับมาตรการด้านการเงิน อาจต้องดูแลมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะสั้น ซึ่งคลังดูทั้ง สั้น กลาง และระยะยาว มาตรการ ด้านการเงินก็ต้องดู ซึ่งวันนี้หากการเคลื่อนไหวในตลาดหุ้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็มีผลกระทบทำให้เงินบาทแข็งค่า ล่าสุดธปท.มีการออกมาตรการออกมา2-3 เรื่อง เพื่อดูแลค่าเงินบาท และตลาดหุ้น แต่สิ่งที่สะท้อน ความมั่นใจของนักลงทุนจากต่างประเทศ หรือนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างประเทศยังมองว่า เศรษฐกิจไทยนั้นยังไปได้ พื้นฐานเศรษฐกิจยังดี

          คาดเศรษฐกิจปกติปี65

          สำหรับภาพเศรษฐกิจไทย หากดูเดือนต่อเดือน ปัจจุบัน เริ่มดีขึ้น ไม่ว่าดัชนีความเชื่อมั่น การใช้จ่ายต่างๆ ที่ออกมาดี ส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ติดลบที่ 6.4% ซึ่งดีกว่าคาดการณ์ไว้เดิม

          แต่หากดูไตรมาสต่อไตรมาส จาก จีดีพีที่ปรับฤดูกาลแล้ว เป็นบวก 6.5% ซึ่งสิ่งที่สบายใจ คือเศรษฐกิจฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว แต่อาจไม่ก้าวกระโดด อาจช้า เพราะเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวถึง 12% ของจีดีพี

          ทั้งนี้หากดูช่วงที่เหลือของปีนี้ เศรษฐกิจไทยยังติดลบอยู่ เพราะกำลังซื้อเดียว ยังมาจากภาครัฐ และนโยบายภาครัฐที่เข้ามาช่วย ผ่านโครงการต่างๆ เพื่อดูแลประชาชนทุกกลุ่ม ผ่านพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทั้งคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน ซึ่งหากสถานการณ์ปกติ ไม่มีโควิด-19 คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 3% แต่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะติดลบราว 6%

          ”เศรษฐกิจวันนี้เรามีแก็ป หรือช่องว่าง อยู่ราว 9% กว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าไปสู่ภาวะปกติ ได้ในปี 2565 ซึ่งต้องใช้เวลา 2 ปี หากมองทิศทางเศรษฐกิจระยะข้างหน้า  ปี 2564 คาดเศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 4% แต่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ 100%”

          เร่งช่วยสภาพคล่องท่องเที่ยว

          อย่างไรก็ตาม  ในมุมของเศรษฐกิจไทยจะฟื้นอย่างไร เมื่อยังมีผลกระทบจากด้านท่องเที่ยว ที่ยังต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ดังนั้นยังมีจำเป็นที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งวันนี้เรามีพ.ร.ก.เงินกู้ ที่ให้ธนาคารออมสิน ปล่อยกู้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อปล่อยกู้ต่อ ดอกเบี้ย 2% และอยู่ระหว่างการพิจารณา คือการเข้าไปช่วยเหลือ ธุรกิจสายการบินที่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งเราไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบในการเข้าไปช่วยเหลือ ที่ยังเป็นประเด็นต่อเนื่องไปถึงปี 2564  ”อยากให้กำลังใจ ปีนี้เราลำบากกันหน่อย แต่ปีหน้า ก็น่าจะดีขึ้น จากที่เราดูตัวเลขเศรษฐกิจ กว่าจะฟื้นตัวบางคนบอกว่าอาจฟื้นตัวต้องใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี เพื่อปิดแก็ป 9% ตรงนี้ได้ หากปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัว 4% และปี 65 ขยายตัวอีก  4% เศรษฐกิจก็สามารถเข้าสู่ภาวะปกติได้ ตอนปี 40 เศรษฐกิจเราหัวทิ่มลง แต่มารอบนี้  เราอาจจะหกล้มในทางลาด บางคนอาจเจ็บมีบาดแผล บางคนอาจลุกได้ทันที การปรับตัว ช้าหน่อยแต่ก็มั่นคง”

          เร่งคนละครึ่งเฟส2

          นายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาโครงการคนละครึ่งเฟส 2 ซึ่งจะพิจารณาทั้งวงเงินงบประมาณ และสิทธิ์ผู้ที่จะได้รับ เพื่อตอบสนอง ความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งในเบื้องต้น ผู้ที่ได้รับสิทธิเดิมอาจไม่ต้อง ลงทะเบียนใหม่ เพราะกระทรวงการคลังมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งจะง่ายต่อการใช้สิทธิต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ตาม โครงการคนละครึ่ง ถือเป็น ส่วนหนึ่งของการให้ของขวัญให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ เช่นเดียวกันกับการเพิ่มวงเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากปัจจุบันที่ได้รับวงเงินเพิ่ม 500 บาท ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ขณะเดียวกัน จะมีมาตรการอื่นๆด้วย ซึ่งจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้

          เดินหน้าลงทุนภาครัฐ

          สำหรับการลงทุนในระยะข้างหน้า ที่ภาครัฐและเอกชนต้องลงทุนต่อเนื่อง เช่นโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทำต่อเนื่องจาก 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะคมนาคม ที่ถือเป็นแกนหลักของภาครัฐและลงทุนด้านพลังงาน โดยเฉพาะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น นโยบายที่จะส่งเสริม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถยนต์ยูโร 5 เหล่านี้ คือ แอเรียหนึ่งที่เป็นแนวโน้มของปี 2563-2564 เป็นต้นไป ที่ประเทศต้องให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะนอกจากผลกระทบโควิด-19 ประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหา PM 2.5 ที่จะรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นนโยบายต่างๆต้องจูงใจ ไปสู่โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

          อีกด้านคือ เฮลธ์แคร์ เป็นอีกแอเรียที่รัฐฯควรสนับสนุน รวมไปถึงดิจิทัล ที่จะมีอิทธิพลมากขึ้น และเป็นแอเรียที่มีอนาคต

          สำหรับโครงการภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางโครงการ อาจทำเป็นโครงการ PPP หรือโครงการร่วมภาครัฐและเอกชน ในการทำโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต เพื่อลดภาระภาครัฐ คล้ายกับโครงการในอดีต คือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ที่จะลดภาระรัฐบาลได้ เพื่อดูแลระดับของหนี้สาธารณะของภาครัฐไม่ให้เกิน 60% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 49%

          รวมไปถึงการปฏิรูปโครงสร้างภาษี การให้สิทธิพิเศษ จากการหักลดหย่อนภาษี เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาสู่ระบบ และชำระภาษีได้มากขึ้น และที่อยู่ระหว่างการพิจารณาบางด้านที่ต้องทำมากขึ้น คือให้สิทธิประโยชน์กับธุรกิจเพื่อเอื้อให้ธุรกิจเกิดขึ้น เช่นรถไฟฟ้า ที่อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งจะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้

          รับลูกนายกฯดูแลเศรษฐกิจเพิ่ม

          ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ว่า ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ได้มีการมอบหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เร่งดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง

          โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ที่นายกรัฐมนตรีอยากให้ครอบคลุมประชาชนที่ต้องการสิทธิมากขึ้น ดังนั้นจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการคนละครึ่งเฟส 2 ว่าการขยายสิทธิจะครอบคลุมประชาชนเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน รวมถึงวงเงินการใช้จ่ายว่าอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งได้มีการให้ธนาคาร กรุงไทย เข้าไปดูยอดลงทะเบียนคนละครึ่งที่ผ่านมา เพื่อให้ทราบถึงจำนวนคนที่เข้ามาในระบบ เพื่อใช้ประเมินสิทธิที่จะให้ในเฟส 2เพิ่มเติม

          จ่อเพิ่มคนละครึ่ง

          อย่างไรก็ตาม หากในเฟส 2 มีการเพิ่มวงเงินการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น มากกว่าเฟสแรก ส่วนนี้รัฐบาลก็จะมีการเพิ่มวงเงิน หรือท็อปอัพให้คนที่ได้คนละครึ่งเฟสแรกอัตโนมัติ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันด้วย อีกทั้งต้องพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้จ่ายให้ยาวมากขึ้น ซึ่งอาจยาวไปถึงเทศกาลตรุษจีนปีหน้าด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปและเสนอคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19(ศบศ.) ได้ภายใต้ต้นธ.ค.นี้ ก่อนเสนอ เข้าที่ประคุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

          ”ตอนนี้เราอยู่ระหว่างการไปศึกษาว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปจะมี อะไรบ้าง โดยเฉพาะคนละครึ่ง ที่นายกฯอยากให้ได้สิทธิครอบคลุมไปถึงคนที่อยากได้ด้วย เช่น อาจจะเพิ่มเป็น 14-15 ล้านคนก็ได้ ซึ่งสิทธิที่จะขยายเราได้ให้กรุงไทยไปเซอเวย์แล้ว ว่าคนเข้ามาลงทะเบียนที่ผ่านมามีมากน้อยแค่ไหน เพื่อใช้ประเมินสิทธิที่จะเพิ่มได้ รวมไปถึงวงเงินที่จะใช้ และวงเงินจากโครงการด้วยว่ามากน้อยแค่ไหนเหล่านี้เราอยู่ระหว่างการเร่งสรุป”

          นอกจากนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ในการเข้าไปช่วยเหลือด้านค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐเพิ่มเติมด้วย จากปัจจุบันที่กลุ่มนี้ได้เพิ่ม เดือนละ 500 บาท ซึ่งเหล่านี้ก็ต้องพิจารณาร่วมกันด้วย

          ส่วนงบประมาณที่ใช้ในโครงการเหล่านี้ เชื่อว่ามีเพียงพอ ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆของภาครัฐ จากงบพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่เป็นงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท ส่วนนี้ กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะสามารถนำมา ใช้ในโครงการเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน

          นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังได้สั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เร่งจัดทำของขวัญปีใหม่ให้กับลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าที่ผ่อนชำระดีเพิ่มขึ้นด้วย คล้ายกับที่ผ่านมาที่ กองทุนให้กู้ยืมเพื่อ การศึกษา(กยศ.) มีการลดเงินต้นให้กับนักเรียน นักศึกษาที่ชำระหนี้ดี เป็นต้น

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button